เปิด 2 เส้นทาง ‘ฟรีเทรดโซน' สินค้าจีนทะลักเข้าไทย

เปิด 2 เส้นทาง ‘ฟรีเทรดโซน' สินค้าจีนทะลักเข้าไทย

ภาคเอกชน กังวลสินค้าใน Free Trade Zone หลุดทะลักเข้าไทย เปิด 2 เส้นทาง ตั้งราคาไม่เกิน 1,500 บาท เลี่ยง VAT อีกเส้นทางสำแดงเท็จ-ลักลอบสินค้าออกเขตปลอดอากร ชี้ต้นเหตุสินค้าจีนเข้ามาแข่งกับผู้ผลิตไทย

Key Points

  • ภาคเอกชนกังวลปัญหาสินค้าราคาถูกทุ่มตลาดในไทยจากสินค้าออนไลน์และการเข้ามาใช้ประโยชน์ Free Trade Zone
  • สินค้าที่นำเข้าผ่าน Free Trade Zone ราคาไม่เกิน 1,500 บาท จะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงได้เปรียบผู้ผลิตไทย
  • ที่ผ่านมาพบปัญหาการลักลอบนำสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

ภาคเอกชนเรียกร้องกระทรวงการคลังให้กำกับดูแลด่านศุลกากรและป้องกันการลักลอบนำสินค้าออกจาก Free Trade Zone

ภาครัฐได้กำหนดเขตปลอดอากร (Free Trade Zone) เพื่อกำหนดเขตพื้นที่สำหรับประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ โดยผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมศุลกากร

ทั้งนี้ได้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ในเขตปลอดอากรได้รับยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศเพื่อเข้าไปในเขตปลอดอากร เช่น ของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ

รวมทั้งได้รับยกเว้นอากรขาออกสำหรับสินค้าในเขตปลอดอากรที่จะส่งออก เช่น การนำเข้าวัตถุดิบมาประกอบหรือบรรจุหีบห่อใหม่เพื่อนำไปส่งออก จะทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าหรือภาษีส่งออก ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการที่ตั้งสถานประกอบการในเขตปลอดอากร

การประกอบธุรกิจใน Free Trade Zone กำลังถูกตั้งคำถามครั้งใหญ่ถึงการปล่อยให้สินค้าที่อยู่ในเขตปลอดอากรหลุดเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นสินค้าที่ไม่เสียภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และทำให้ได้เปรียบสินค้าที่ผลิตในประเทศโดยเฉพาะสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทยจากสินค้าออนไลน์และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone

แหล่งข่าวจากผู้นำเข้า กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า วิธีการที่นำเข้าสินค้าจีนที่ไม่ต้องเสียภาษี โดยอาจจะเป็นในลักษณะนำเข้ามาเป็นล็อตใหญ่แล้วไปพักไว้ในเขตปลอดอากร และเมื่อมีคำสั่งซื้ออาจจะมีการนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากร 2 ช่องทาง ดังนี้ 

1.การนำสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท จากเขตปลอดอากรเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร โดยสินค้าที่มีคำสั่งซื้อจากแพลตฟอร์มออนไลน์จะมีการกำหนดราคาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.การลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี หรืออาจนำเข้าโดยไม่สำแดงซึ่งทำให้สินค้ากลุ่มนี้ไม่ต้องเสียภาษีที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สินค้าที่นำออกจากเขตปลอดอากรจะต้องเสียภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีนำเข้าอาจได้รับการยกเว้นตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน

นอกจากนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุญาตจากกรมศุลกากรดำเนินการเขตปลอดอากร ข้อมูลเดือน ก.ย.2566 รวม 169 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทราและชลบุรี ครอบคลุมเขตปลอดอากร 8 ประเภท ประกอบด้วย

1.พาณิชยกรรม

2.อุตสาหกรรม

3.อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม

4.ครัวการบิน

5.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

6.อู่ซ่อมสร้างอากาศยานหรือเรือ

7.ปิโตรเลียม

8.กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2567 ได้แสดงความกังวลต่อสินค้าจีนที่เข้ามาทำตลาดในไทยจำนวนมาก โดยหนึ่งในสาเหตุที่ กกร.แสดงความกังวล คือ การใช้ประโยชน์จากเขตปลอดอากร

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส ส.อ.ท.กล่าวว่า กกร.กังวลปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยและตลาดอาเซียน ทั้งจากสินค้าออนไลน์ (E-commerce) และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ รวมถึงการลักลอบนำเข้าสินค้า ผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี 

“ประเด็นเหล่านี้ทำให้สินค้าราคาถูกรวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานทะลักเข้าตลาดภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า สินค้าที่เข้าไปใน Free trade Zone จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร และค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ปัจจุบันเขตประกอบการเสรีที่มีสำนักงานศุลกากรตั้งอยู่มี 12 แห่ง 

ทั้งนี้ จะได้รับสิทธิประโยชนด้านภาษีอากร คือ ยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษี สรรพสามิตสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องใช้

สำหรับสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งช่องทางการนำเข้าปกติ รวมถึงการนำเข้าผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ โดยในปี 2566 ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าร่วมกัน 104,964 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปจีน 34,164 ล้านดอลลาร์และไทยนำเข้าจากจีน 70,800 ล้านดอลลาร์ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นมลูค่าการ ขาดดุลการค้าที่สูงที่สุด 

"การที่สินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้นสร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการไทย ว่า สินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยและในตลาดอาเซียนจะกระทบต่อการส่งออกไทย"

รวมทั้งจากข้อมูลการส่งออกไปตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ปี 2566 มีมูลค่า 66,847 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปีก่อนหน้าติดลบ 7.1% เป็นการกลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับจากปี 2563 ปีที่เริ่มมีวิกฤติโควิด-19 ไทยส่งออกไปอาเซียนติดลบ 11.75% และส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันต้นทุนได้ 

รวมทั้งกังวลเรื่องคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (สมอ.) โดยสินค้าจีนที่เข้ามายังไทยเข้ามาในรูปแบบจากสินค้าออนไลน์ (E-commerce) และการเข้าใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ