อัปเดต 'ภาษีมูลค่าเพิ่ม' ปรับใหม่เป็นเท่าไหร่ ใครได้ใครเสีย

อัปเดต 'ภาษีมูลค่าเพิ่ม' ปรับใหม่เป็นเท่าไหร่ ใครได้ใครเสีย

ทำความเข้าใจ "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" อัตราการเก็บอัปเดตล่าสุด ลดภาษีเหลือ 6.3% จริงหรือไม่ สรุปธุรกิจ ห้างร้าน ผู้ประกอบการ ต้องจัดการภาษี VAT อย่างไร?

​จากประกาศกฎหมายล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2567 ​

และจากประกาศกฎหมายลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" จะจัดเก็บอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 7 หรือ 7% อย่างที่เราท่านเข้าใจหรือไม่ หรือบางข้อมูลบอกว่าเมื่อก่อนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 10% เลยทีเดียว

ดังนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ทุกคนต้องเสียจากการซื้อสินค้าและบริการอยู่แล้ว ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าไหร่กันแน่ ได้จากบทความต่อไปนี้ ​

  • สืบประวัติ "ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)"

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือภาษีที่เก็บจากมูลค่าการซื้อขายและการให้บริการภายในประเทศ รวมถึงสินค้านำเข้า โดยมีกรมสรรพากรเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกฎหมายได้มีการบังคับให้ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่มียกเว้นว่าผู้มีรายได้นั้นจะอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล

รวมถึงสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ขายผ่านตัวแทนที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย ตัวแทนนั้นๆ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยจะต้องยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท พร้อมกับนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป

ทั้งนี้ หากผู้มีรายได้มีทั้งรายได้จากงานประจำ คือได้รับเป็นเงินเดือนที่ทำอยู่ และมีรายได้จากการทำธุรกิจส่วนตัวเป็นของตนเอง ให้นำแค่รายได้จากการประกอบธุรกิจนอกเหนือจากเงินเดือนมาคิดเท่านั้น

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับลดเหลือ 6.3% จริงหรือไม่

​เดิมทีเราคุ้นเคยกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT อยู่ที่ 7% มาโดยตลอด และเมื่อเห็นประกาศล่าสุดที่ให้คงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เท่าเดิมที่ร้อยละ 6.3 หรือ 6.3% นั้น หลายคนอาจสงสัยว่า 6.3% จริงหรือไม่ แล้วทำไมเรายังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% อยู่

โดยกรมสรรพากรได้อธิบายไว้ครั้งที่ประกาศคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 6.3 เมื่อปีพ.ศ.2535 ว่า...

"เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร จากอัตราร้อยละ 10.0 เป็นอัตราร้อยละ 6.3 ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดสรรรายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2534 ประกอบกับพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2534 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2535 เป็นต้นไป มอบให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนราชการส่วนท้องถิ่น ในอัตรา 1 ใน 9  ของอัตราภาษีที่จัดเก็บ ดังนั้น กรมสรรพากรจึงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 6.3 บวกกับภาษีที่ต้องจัดสรรให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นอีกในอัตรา 1 ใน 9 ของอัตราภาษีที่จัดเก็บ รวมเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้นร้อยละ 7.0"

กล่าวคือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่สมัยก่อน กฎหมายกำหนดอยู่ที่ร้อยละ 10 หรือ 10% แต่เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน จึงได้มีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือร้อยละ 6.3 หรือ 6.3% แต่เรายังต้องเสียภาษีในส่วนของภาษีท้องถิ่นในอัตรา 1 ใน 9 ของอัตราภาษีที่จัดเก็บ จึงรวมเป็น 7% นั่นเอง

  • หลักการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

ในกรณีที่ผู้มีรายได้ยจากการประกอบกิจการเกิน 1.8 ล้านบาท และได้ทำการยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่เพิ่มเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นกิจการจะมีภาระหน้าที่ในการบวก 7% จากราคาสินค้าที่ขายหรือราคาของบริการ โดยมีวิธีคำนวณ VAT 7% ดังนี้

ฝั่งซื้อ หากกิจการซื้อสินค้ามูลค่า 100 บาท กิจการจะมีภาษีซื้อ 7 บาท จำนวนเงินที่จะต้องเสียให้กับผู้ขายเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการจด VAT กิจการจะต้องจ่ายเงินทั้งหมด 107 บาท

ฝั่งขาย หากกิจการขายสินค้าและบริการให้กับลูกค้า 200 บาท จะมีภาษีขาย 14 บาท ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินทั้งหมดให้กิจการ 214 บาท ซึ่ง 14 บาท คือภาษีขายที่กิจการเก็บมาจากลูกค้าเพิ่มแทนกรมสรรพากร และ 7 บาทของภาษีซื้อ คือภาษีที่กิจการจ่ายให้กับกรมสรรพากรล่วงหน้า

ดังนั้น ในแต่ละเดือนกิจการจะต้องนำภาษีขายและภาษีซื้อมาเช็กว่าแบบไหนมีมากกว่ากัน ถ้าภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อดังตัวอย่าง กิจการต้องจ่ายเพิ่มให้กับกรมสรรพากรอีก 7 บาท ณ วันที่ 15 ของเดือนถัดไป

แต่ในกรณีที่กิจการมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย อย่างเช่นเดือนนั้นซื้อสินค้ามาเยอะ แต่ขายได้น้อย กิจการสามารถนำภาษีซื้อดังกล่าวขอคืนจากกรมสรรพากรได้ หรือที่นิยมกันคือให้ยกเครดิตภาษีซื้อไปใช้ในเดือนถัดไป

นอกจากนี้ในทุกๆ เดือนกิจการจะต้องให้ผู้จัดทำบัญชีจัดทำรายงานภาษีซื้อภาษีขาย และนำส่งกรมสรรพากรด้วย

สรุป...ยังคงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7%

ดังนั้น สรุปได้ว่าผู้บริโภคอุปโภคทั้งหลาย และผู้ประกอบการบางส่วนที่รับภาระในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เอง ยังคงอัตราไว้ที่ 7% เช่นเดิมจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และสนับสนุนการอุปโภคบริโภคในประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจด้วยนั่นเอง

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting