‘เงินบาท’ อ่อนค่าแตะ 36.14 ดอลลาร์ กังวลรัฐเน้นโตสั้น แลกเสถียรภาพระยะยาว

‘เงินบาท’ อ่อนค่าแตะ 36.14 ดอลลาร์  กังวลรัฐเน้นโตสั้น แลกเสถียรภาพระยะยาว

“เงินบาท” ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ล่าสุดแตะ 36.14 ต่อดอลลาร์ นักวิเคราะห์ยอมรับผิดไปจากคาดมาก เชื่อผลจากปัจจัยในประเทศ ขณะผู้ลงทุนเริ่มไม่มั่นใจปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาล พร้อมกังวลนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แลกเสถียรภาพระยะยาว

สถานการณ์ค่าเงินบาทไทยยังดูไม่สู้ดีนัก โดยช่วงเช้าของวันนี้ (20 ก.ย.66) ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องและทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือนครั้งใหม่ ซึ่งล่าสุด ณ เวลา 8.40 น. เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 36.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยในรอบหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงมาแล้วประมาณ 1.4% 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทอ่อนค่าสุดในภูมิภาควานนี้ (19 ก.ย.66) ท่ามกลางแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งพุ่งขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน หรือขึ้นราว 30% ซึ่งอาจบั่นทอนสถานะดุลการค้าของไทย

‘เงินบาท’ อ่อนค่าแตะ 36.14 ดอลลาร์  กังวลรัฐเน้นโตสั้น แลกเสถียรภาพระยะยาว

นอกจากนี้ ตลาดกังวลว่ารัฐบาลอาจจะยอมแลกการเติบโตระยะสั้น กับเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว โดย ธปท.ให้ความเห็นหลายหนว่าปัจจุบันไทยไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเรื่องการบริโภคแต่ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนและภาพระยะยาวมากกว่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยกระชากขึ้น จากความวิตกเรื่องหนี้ภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นตามนโยบายประชานิยม

แนวโน้ม ระยะสั้นอาจอ่อนค่าต่อได้ โดยปฎิกิริยาของค่าเงินบาทวันนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนการตัดขาดทุน (stop loss) ของผู้ที่เล่นตามเทคนิค และอีกส่วนจากเรื่องข้อขัดแย้งระหว่างผู้ทำนโยบายการเงินกับผู้ทำนโยบายการคลัง อนึ่ง ในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์นี้ เฟดจะกลับมาเป็นปัจจัยชี้นำตลาดอัตราแลกเปลี่บนอีกครั้ง

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายไปค่อนข้างมาก โดยเงินบาทอ่อนค่าหนักกว่าสกุลเงินอื่นในเอเชียแบบเห็นได้ชัด สะท้อนว่าการอ่อนค่าของเงินบาทอาจมาจากปัจจัยในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบอนด์ หลังนักลงทุนต่างชาติต่างไม่มั่นใจต่อแนวโน้มปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาล 

นอกจากนี้ แรงขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออกได้ชะลอลงไปมาก เนื่องจากผู้ส่งออกส่วนใหญ่อาจทยอยขายเงินดอลลาร์ไปพอสมควรแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้การอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.85 บาทต่อดอลลาร์ เปิดทางให้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก

พูน กล่าวยอมรับว่า การอ่อนค่าของเงินบาทที่มากกว่าคาดนั้น ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน ซึ่งต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนบอนด์ หลังบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น 

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้น ผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ (21 ก.ย.66) โดยประเมินว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง หาก Dot Plot ใหม่ ชี้ว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งในปีนี้ และเฟดอาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงเกินกว่า -1% ในปีหน้า ตามที่เคยประเมินไว้ใน Dot Plot เดือนมิ.ย. ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้เงินบาททยอยอ่อนค่าทดสอบโซน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ 

ทั้งนี้ หาก Dot Plot ใหม่ ไม่ได้ชี้ว่า เฟดพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว -1% (หรือมากกว่านั้น) ในปีหน้า ก็คาดว่า เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงบ้าง หนุนให้เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าหลุดระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า  เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 36.10 ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือนที่ 36.14 ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.09-36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.15 น.) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่  35.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเนื่องจากวานนี้ แต่ยังคงเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก่อนการประชุมเฟด เนื่องจากตลาดกัลมาทยอยให้น้ำหนักกับความเป็นไปได้ที่เฟดจะส่งสัญญาณคุมเข้มต่อเนื่องหลังการประชุมรอบ 19-20 ก.ย. นี้ และอาจยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 35.95-36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรไทยท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในปีงบประมาณหน้า สถานการณ์ค่าเงินหยวน (หลังจากที่ PBOC คงอัตราดอกเบี้ย LPR ไว้ที่ระดับเดิมตามที่ตลาดคาด) รวมถึงไฮไลท์สำคัญในคืนนี้จากผลการประชุมและ dot plot ของเฟด