เปิด 5 อันดับ ‘กองทุนSSF’ ผลตอบแทนโดดเด่น

เปิด 5 อันดับ ‘กองทุนSSF’ ผลตอบแทนโดดเด่น

ใกล้สิ้นปี ”กองทุนประหยัดภาษี” อย่าง SSF ใกล้หมดอายุลงแล้ว แต่ยังให้ผลตอบแทนโดดเด่น นำโดย KKP TECH-H-SSF ที่31.68% ขณะที่ล่าสุด สมาคม บลจ.ผนึก FETCO เล็งส่งกองประหยัดภาษีชุดใหม่ทดแทน ชงรัฐบาล-คลังชุดใหม่พิจารณาเร็วที่สุด เน้นออมเงินผ่านตลาดทุนไทยเป็นหลัก

Key points:

  • เปิด 5 อันดับกองทุน SSF ผลตอบแทนสูงสุด (YTD) นำโดย KKP TECH-H-SSF ที่31.68% 
  • กองทุน SSF ให้ผลตอบแทนสุดสุด 5 อันดับแรก มีประเภทการลงทุนใน Global Technology  และ Global Equity
  • สมาคมบลจ.ผนึก FETCO อยู่ระหว่างการจัดทำกองทุนประหยัดภาษีชุดใหม่ ทดแทนกองทุนSSFที่จะหมดอายุในปี67  เตรียมเสนอรัฐบาล-คลังชุดใหม่พิจารณาให้เร็วที่สุด 

 

 

ใกล้ถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้กันแล้ว ลองมาเช็คความเคลื่อนไหวของ ตลาดกองทุนประหยัดภาษี ทางด้านผลตอบแทนเป็นอย่างไร ภายใต้สถานการณ์การลงทุนผันผวน และการเปลี่ยนแปลง รูปแบบกองทุนประหยัดภาษีชุดใหม่ที่จะมีแทนกองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) มุ่งเน้นออมเงินผ่านตลาดทุนไทยเป็นหลัก มั่นใจ ช่วยให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาตึกคักได้อีกคัก  

ข้อมูลจาก ‘มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)’ ณ 17 ส.ค.2566 พบว่า ‘กองทุน SSF’ที่มีผลตอบแทนสูงสุด5 อันดับแรก ดังนี้ 

1. กองทุนเปิดเคเคพี EXPANDED TECH - HEDGED ชนิดเพื่อการออม (KKP TECH-H-SSF) ประเภทการลงทุนGlobal Technology มีผลตอบแทน 31.68%

2. กองทุนเปิดธนชาต อีสท์สปริง Global Technology เพื่อการออม (T-ES-GTech-SSF) ประเภทการลงทุน Global Technology มีผลตอบแทน 25.41%

3.กองทุนเปิดวรรณ อัลติเมทโกลบอล โกรว์ธ หน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออม แบบไม่จ่ายเงินปันผล (ONE-UGG-ASSF) ประเภทการลงทุน Global Equity มีผลตอบแทน 16.85% 

4.กองทุนเปิดธนชาต อีสท์สปริง Global Capital Growth เพื่อการออม  (T-ES-GCG-SSF)  ประเภทการลงทุนGlobal Equity มีผลตอบแทน 15.96 %

5. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินโนเวชั่น ฟันด์ ชนิดเพื่อการออม (UNI-SSF)  ประเภทการลงทุน Global Equity มีผลตอบแทน 15.24% 

จะเห็นได้ว่า นาทีนี้ การลงทุน "หุ้นเทคโนโลยี” ยังสามารถเป็นหุ้นผู้ชนะในระยะยาวและทำผลตอบแทนได้เหนือหุ้นกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่หุ้นทุกตัวที่จะเป็นผู้ชนะ ดังนั้นการกระจายการลงทุนหรือลงทุนในกองทุนรวมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

5 อันดับ กองทุนSSF ผลตอบแทนสูงสุด  (YTD) ณ 17 ส.ค.2566

แต่อย่างไรก็ตาม กองทุน SSF ที่ผ่านมายังไม่ได้กระแสนิยมเท่ากองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF

ดังนั้น กองทุนSSF ที่จะหมดอายุภายในปี 2567 นี้ ทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน  (AIMC) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) อยู่ระหว่างจัดทำกองทุนประหยัดภาษีรูปแบบใหม่ เพื่อทดแทน นำมาแทนกองทุน SSF ดังกล่าว

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (AIMC) เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) อยู่ระหว่างจัดทำกองทุนประหยัดภาษีรูปแบบใหม่ เพื่อทดแทนกองทุนเพื่อการออมระยะยาว ( SSF) ที่จะหมดอายุภายในปี 2567 นี้ กองทุนประหยัดภาษีรูปแบบใหม่ที่จะนำมาแทนSSF นั้น จะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ตลาดหุ้นไทยเป็นหลัก ส่วนระยะเวลาการลงทุนพยายามให้อยู่ในกรอบระหว่าง8-10ปี เป็นหลัก แต่ยังคงพยายามผลักดันให้อยู่ในกรอบระยะสั้น ต่ำกว่า8ปีด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อย่างเป็นทางการแล้ว ทางสมาคมฯและFETCOพร้อมที่จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาเห็นชอบทันที โดยพยายามส่งเรื่องให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื้อให้ทันกับกรอบกองทุน SSFที่จะหมดอายุลง เนื่องจากการพิจารณากองทุนประหยัดภาษีตัวใหม่นี้อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพอสมควร  เพื่อให้ตลาดทุนไทยกลับมามีบทบาทมากขึ้น 

ที่ผ่านมา ยอมรับว่ากองทุนSSF ได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับกองทุนLTF และกองทุนRMF หลายเท่าตัวมาก ดังนั้น กองทุนประหยัดภาษีที่นำเสนอใหม่นี้จะผสมผสานเพื่อให้กระตุ้นนักลงทุนเพื่อการออมและกระตุ้นตลาดหุ้นไทยไปด้วยเช่นเดียวกัน เชื่อว่ากองประหยัดภาษีตัวใหม่นี้จะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยคึกคักและมีสีสันมากขึ้น   ทั้งนี้ ยังคงคาดหวังว่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลชุดใหม่ เพราะกองLTFในอดีตเริ่มต้นมาจากรัฐบาลชุดเพื่อไทย

"หุ้นไทยที่ปรับตัวลด ส่วนหนึ่งLTFครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งมีทุกปี กองใหม่ที่นำเสนอพยายามให้เกิดความหลากหลายและกระตุ้นการออมเงินและตลาดให้ได้มากที่สุด รับว่า อายุกองทุนที่ยาวเกินไปทำให้ลดความน่าสนในในการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มคนรุ่นใหม่" 

นางชวินดา กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยใน 7 เดือนที่ผ่านมา มีความผันผวนและให้ผลตอบแทนที่ติดลบและต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนดัชนีตลาดหุ้นสำคัญๆ ทั่วโลก เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น รวมถึงการประมาณการเศรษฐกิจไทยที่เติบโตน้อยกว่าคาด อันเป็นผลจากภาคการผลิตและภาคส่งออกของไทยถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยโลกที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้ หากพิจารณาปัจจัยต่างประเทศจะเห็นว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุด ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงยังมีโอกาสค่อนข้างน้อย ขณะที่ปัจจัยเชิงบวกภายในประเทศไทยจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมคาดว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ High season ในไตรมาส 4  รวมถึงภาพการเมืองที่ชัดเจนขึ้นจะทำให้แนวโน้มตลาดไทยผันผวนลดลง  โดยเฉพาะเมื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งนี้ คาดว่าจะการชุมนุมประท้วงจะไม่รุนแรงเท่าในอดีตที่ผ่านมา และเมื่อมีแนวทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนโดยรวมได้ 

แต่ตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงบ้างจากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ผ่านมา ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนและภาระดอกเบี้ยให้ภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มของการเกิดภัยแล้งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและการบริโภคได้ด้วย

 

โดยบลจ. กรุงไทย คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรประมาณ 10-12% มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล(Dividend Yield) ที่ระดับ 3.2-3.4% เป็นระดับที่ Valuation ไม่แพงนัก ซึ่งปัจจุบัน P/E อยู่ที่ประมาณ 15-16 เท่า โดยประเมิน SET Target ที่ 1,640 จุด ณ สิ้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยได้สะท้อนความกลัวและความกังวลของนักลงทุนในประเด็นความเสี่ยงจากการเมือง และการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไปพอประมาณแล้วขณะที่สัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับต่ำจากการขายออกมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินบาทที่น่าจะกลับมาแข็งค่าจากปัจจัยเศรษฐกิจที่น่าจะดีขึ้น