โบรกเกอร์คาด ‘สำรองแบงก์’ ยังทรงตัวสูง รองรับความผันผวน - หนี้เสียจ่อเพิ่ม

โบรกเกอร์คาด ‘สำรองแบงก์’ ยังทรงตัวสูง รองรับความผันผวน - หนี้เสียจ่อเพิ่ม

บล.ทรีนีตี้ คาดแบงก์ตั้งสำรองไตรมาส 3/66 สูงต่อเนื่องใกล้เคียงไตรมาส 2/66 ที่เหตุ ดอกเบี้ยขาขึ้น - หมดมาตรการช่วยเหลือ ส่งผลลูกหนี้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม จ่ายหนี้ไม่ไหวกลายเป็น“เอ็นพีแอล” ด้าน “กรุงไทย” ชี้เทรนด์สำรองข้างหน้ายังใกล้เคียงเดิม

      นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า  ภาพรวมการตั้งสำรองหนี้สูญของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์)ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาถือว่ายังอยู่ระดับสูงต่อเนื่องหากเทียบกับภาวะปกติ

       สะท้อนถึงความระมัดระวังของแบงก์ ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน มีความผันผวนมากขึ้น และอยู่ในช่วงการประคองลูกหนี้ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง 

       ส่วนด้านคุณภาพลูกหนี้ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารติดตามอยู่แล้ว จากสถานการณ์ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ทั้งจากมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่จะหมดอายุลง รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ควบคู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

       ดังนั้นเหล่านี้ถือว่าเป็นไปตามทิศทางที่ธนาคารประเมินไว้อยู่แล้ว ส่วนทิศทางการตั้งสำรองในไตรมาส 3 ธนาคารกรุงไทย เชื่อว่าน่าจะยังอยู่ในทิศทางเดิมกับที่ผ่านมา

     “การตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงปกติภายใต้หลักการระมัดระวังของธนาคารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประเด็นที่เราติดตามอยู่แล้ว ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดอกเบี้ยขาขึ้น และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของมาตรการที่กำลังจะหมด”

       ส่วนมาตรการแก้หนี้เรื้อรังของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อระบบธนาคารพาณิชย์น้อย เนื่องจากสัดส่วนลูกหนี้เรื้อรังที่อยู่กับแบงก์คิดเป็นสัดส่วนน้อยมาก หลักๆ อยู่ที่นอนแบงก์ ดังนั้นผลกระทบจะไม่มาก
 

         นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า แนวโน้มการตั้งสำรองของกลุ่มแบงก์ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 น่าจะสูงอยู่ ซึ่งคาดว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ทยอยหมดลง ทำให้ลูกหนี้มีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น

      ดังนั้นอาจส่งผลให้ชำระหนี้ไม่ไหวจนกลายเป็น NPL โดยกลุ่มลูกหนี้ที่มีความน่ากังวล คือ กลุ่มเอสเอ็มอีบางกลุ่ม

      เช่น กลุ่มsSME ฯลฯ และส่วนตัวมองว่าในไตรมาส 4 ปีนี้เชื่อว่ากลุ่มแบงก์จะยังคงมีการตั้งสำรองทรงตัวในระดับสูง ทำให้ครึ่งปีหลัง 2566 กลุ่มแบงก์จะมีการตั้งสำรองใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก
 

       นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มการตั้งสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบแบงก์ไทย 17 แห่ง) ในไตรมาส 3 คาดว่า อาจชะลอลงเล็กน้อยหากเทียบกับไตรมาส 2

     ซึ่งธนาคารหลายแห่งมีการตั้งสำรองอยู่ในระดับสูงเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า โดยจากข้อมูลงบการเงินรวมของ 10 ธนาคารที่เพิ่งประกาศออกมา สะท้อนว่า ภาพรวมการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ช่วงไตรมาส 2 อยู่ที่ 5.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นหากเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา ที่ตั้งสำรองอยู่ที่ 5.18 หมื่นล้านบาท  

     นอกจากนี้ หากดูข้อมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในไตรมาส 2 ก็จะพบว่า ยอดคงค้างเอ็นพีแอลโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่มีการดูแลอย่างใกล้ชิด

     โดยอยู่ที่ 5.07 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นราว 2.95% ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งชะลอตัวลง หากเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา ที่หนี้เสียอยู่ที่ 2.98% ต่อสินเชื่อรวม

     ดังนั้น คาดว่า แม้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวม หรือ Credit cost ของระบบแบงก์ไทยในไตรมาส 3 จะยังคงอยู่สูงกว่าช่วงปกติ แต่ก็อาจจะชะลอลงมาอยู่ที่กรอบ 1.22-1.28% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ 1.34% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 
      นายธนเดช รังษีธนานนท์ Director of Research บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมการตั้งสำรองหนี้ของระบบแบงก์ คาดว่าจะอยู่ที่ 5.1-5.2 หมื่นล้านบาท จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีการตั้งสำรองสูงไปแล้วที่ 5.6 หมื่นล้านบาท

     ซึ่งมีหลายธนาคารที่ตั้งสำรองส่วนเกินไปแล้วค่อนข้างมาก เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์   ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ

   ดังนั้นโอกาสเห็นไตรมาส 3 สูงขึ้นคงมีน้อย แต่คาด สำรองสูงขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่สำรองโดยรวมอยู่เพียง 4.7 หมื่นล้านบาท

    ทั้งนี้คาดแนวโน้มผลประกอบไตรมาส 3 คาดมีโอกาสเติบโต หรือลดลงราว 5% จากไตรมาสที่ผ่านมาที่ทำได้ 6.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเชื่อว่าแบงก์ยังได้รับผลบวกจากดอกเบี้ยขาขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์