ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วง ‘ตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ’ทุบจีดีพีโตเหลือ 2%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วง ‘ตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ’ทุบจีดีพีโตเหลือ 2%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วงการเมืองฉุดจีดีพีไทยเหลือ 2.0-2.5% หวั่นตั้งรัฐบาลยืดเยื้อมีความรุนแรง ส่งผลลงทุนเอกชนเหลือ 2% ชี้โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรัง ห่วงเอลนีโญรุนแรงกระทบเกษตรไทย 4.8 หมื่นล้าน

         การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.2566 ซึ่งสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันมีความผันผวนมากขึ้นหลังจากท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 90% จะงดออกเสียงในการโหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

.       ซึ่งทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะสลับขึ้นมาเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี โดยจะทำให้การตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความล่าช้าออกไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566

        นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังคงประมาณการ การขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่ระดับเดิม 3.7% โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่คาดปีนี้ นักท่องเที่ยวจะเข้ามาราว 28.5 ล้านคน ทั้งนี้ประมาณการเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ขยายตัวที่ 4.3% จากครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 3.0%

.       ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายสำคัญหลายด้านในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองจากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากจัดตั้งได้ล่าช้าเกินกว่าไทม์ไลน์ที่กำหนดเดิมในเดือนส.ค.2566 อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ และกรณีเลวร้ายสุดที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว และมีความยืดเยื้อทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล อาจกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจให้เติบโตได้เพียงระดับ 2.0-2.5% เหมือนที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ก่อนหน้านี้

ห่วงการเมืองฉุดความเชื่อมั่น

      “การตั้งรัฐบาลมีทั้ง 2 มุม หากตั้งได้ตามคาด เชื่อว่าความเชื่อมั่นจะกลับมา เศรษฐกิจไทยอาจมีมุมมองบวกขึ้น แต่หากตั้งรัฐบาลล่าช้า ยืดเยื้อออกไปอาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ซึ่งวันนี้เรามองว่ามีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทั้งการโหวตในการเลือกนายกฯ หรือตัวแปรจากพรรคร่วม 8 พรรค ดังนั้นกรณีเลวร้ายสุดหากตั้งรัฐบาลยืดเยื้อมาก อาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ และอาจเห็นจีดีพีไทยขยายตัวเพียง 2.0-2.5% ศูนย์วิจัยกสิกรจึงปรับการลงทุนเอกชนปีนี้ลดเหลือ 2% จาก 2.8%”

        นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า นอกจากประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องจับตาแล้ว สิ่งที่ตลาดเงินตลาดทุนกำลังจับตาคือ นโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำ การเสริมความเชื่อมั่นในตลาดทุน

       รวมถึงแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่นักลงทุนรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ ดังนั้นนโยบายเร่งด่วนจะต้องเรียกความเชื่อมั่นที่สะท้อนการมีเสถียรภาพของรัฐบาลในระยะข้างหน้า

     รวมทั้งโจทย์ท้าทายถัดมาคือ เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณการชะลอตัวชัดเจน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านการส่งออกที่แม้ล่าสุดศูนย์วิจัยไม่ปรับประมาณการการส่งออก แต่หากสถานการณ์จีนแย่กว่าที่คาดจะมีโอกาสเห็นส่งออกติดลบถึง 2%

หนี้ครัวเรือน”โจทย์รัฐบาลใหม่

     นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า โจทย์ท้าทายถัดมาของเศรษฐกิจไทย คือ หนี้ครัวเรือนไทย โดยล่าสุด ธปท.ปรับข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยทำให้ไตรมาส 1 หนี้ครัวเรือนมาอยู่ที่ระดับ 90.6% และคาดปลายปี 2566 หนี้ครัวเรือนจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 88.5-91.0% แม้สัดส่วนหนี้ลดลงแต่ลดลงมาจากเชิงเทคนิค จากการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวขึ้น แต่ตัวเลขหนี้ยังไม่ได้ลดลง และคาดหนี้ครัวเรือนจะโตต่อราว 3-4% ในปีนี้

       ทั้งนี้เชื่อว่าอาจไม่เห็นหนี้ครัวเรือนไทยลงมาอยู่ระดับความยั่งยืน ซึ่งจะมีระดับไม่เกิน 80% ได้ภายใน 5 ปี เพราะปัจจุบันหนี้ยังเติบโตต่อเนื่องมากกว่าขยายตัวของเศรษฐกิจ

      รวมทั้งหากจะให้หนี้ครัวเรือนลงมาสู่ระดับความยั่งยืนได้ อัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนไทยต้องไม่เกินปีละ 3% แต่อดีตที่ผ่านมา พบว่าการเติบโตของหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 4-5% รวมทั้งหากจะให้หนี้ครัวเรือนไม่เติบโต อัตราการขยายตัวของจีดีพี หรือ Nominal Rate ต้องเติบโตปีละ 5.5% ดังนั้นการแก้หนี้ครัวเรือนไทยเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งแก้ไข

มาตรการแก้หนี้ฉุดกำไรแบงก์2%

      สำหรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะมาตรการแก้หนี้เรื้อรังที่ ธปท.จะออกเร็วๆ นี้ โดยการให้แบงก์ลดดอกเบี้ยลง 12% จากเพดานเดิมของสินเชื่อบุคคล สินเชื่อหมุนเวียนที่ระดับ 25% เพื่อให้ลูกหนี้สามารถปิดหนี้เรื้อรังได้ภายใน 4 ปี ส่วนนี้มองว่า จะมีผลกระทบต่อแบงก์ ราว 2% หรือราว 4.3-4.7 พันล้านบาทและกระทบต่อ อัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) แบงก์ ให้ลดลงราว 0.02-0.03%

      สำหรับผลกระทบดังกล่าวอยู่ภายใต้การประเมินกลุ่มหนี้เรื้อรัง หรือ Severe Persistent Debt (Severe PD ) ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 0.19-0.23% ของสินเชื่อรวม

      นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่เข้าสู่มาตรการแก้หนี้เรื้อรังอาจต้องเตรียมรับมือภาระผ่อนต่อเดือนเพิ่มขึ้น โดยคาดทุก 10% ของดอกเบี้ยที่ลดลงตามสัญญา และอาจทำให้ยอดผ่อนเพิ่มขึ้นราว 24.6% เมื่อเทียบกับยอดผ่อนเดิม 

       “สิ่งที่ลูกหนี้ควรตระหนักคือ เมื่อแบงก์ยอมลดดอกเบี้ยให้เพื่อให้จบหนี้เร็ว แต่ฝั่งลูกหนี้ต้องมีภาระผ่อนต่อเดือนมากขึ้น ดังนั้นตรงนี้จะกลับไปเป็นโจทย์ของลูกหนี้ที่ต้องรับทราบยอดผ่อนต่อเดือนเพิ่มขึ้น เช่น วงเงินหนี้เดิม 69,000 บาท เดิมมีภาระหนี้ต่อเดือน 1,438 บาท แต่เมื่อเข้าสู่การแก้หนี้เรื้อรังจะต้องจ่ายเพิ่มอีก 351 บาทคือ ส่วนเงินต้นที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นส่วนนี้ลูกหนี้อาจต้องเตรียมรับมือ”

       นอกจากนี้ มีหนี้น่าห่วง และเป็นหนี้ที่แก้ยากคือ หนี้เกษตรกร หนี้ครู และข้าราชการ ที่คิดเป็นราว 10-11% ของหนี้ครัวเรือนไทย และคิดเป็น 9.5% ของจีดีพี โดยหนี้ครูอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้ข้าราชการตำรวจอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้อาจไม่จบที่ฝั่งผู้กำกับนโยบาย แต่อาจต้องเกี่ยวเนื่องกับทุกองค์กรทั้งสหกรณ์ ธปท.กระทรวงศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ต้องผลักดันเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้แก้ไขเป็นระบบ

       ทั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วงอีกด้านคือ หนี้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่ปัจจุบันหนี้ภายใต้บริหารของ AMC ขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน หนี้ภายใต้บริหารของ AMC ขยายตัวขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท มาอยู่ที่เกือบ 4 แสนล้านบาท จากกว่า 3 แสนล้านบาท โดยหากมีการขยายตัวของหนี้ที่อยู่ภายใต้ AMC ถือว่าน่าห่วงเพราะมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้อาจมีจำกัด และหากแก้ไขไม่ได้ อาจจบที่กรมบังคับคดีหรือถูกฟ้องล้มละลาย

เอลนีโญรุนแรงกระทบเกษตร

       นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า โจทย์สุดท้ายที่อาจกระทบเศรษฐกิจไทยคือ ภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าคาด โดยจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดลากยาวถึงปี 2567 และสถานการณ์รุนแรงขึ้นต่อเนื่องจะเป็นประเด็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย และกระทบหลายธุรกิจ ซึ่งคาดว่าเอลนีโญจะชัดเจนสุดในไตรมาสสุดท้ายที่เริ่มฤดูเพาะปลูกแล้ว เช่น ข้าวนาปี ดังนั้น มีความเสี่ยงตอนเก็บเกี่ยวผลผลิตอาจมีน้ำไม่เพียงพอ

        ดังนั้นประเมินว่าเอลนีโญครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อภาคเกษตรราว 48,000 ล้านบาท หรือ 0.2% ของจีดีพี รวมทั้งไม่เฉพาะภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังกระทบต่อธุรกิจอื่นที่ใช้น้ำในกระบวนการผลิตค่อนข้างมาก เช่น อโลหะ แก้ว กระเบื้อง ปูน อาหาร สิ่งทอ รวมถึงภาคบริการ โรงแรม พยาบาล และถ้ามีผลกระทบจากเอลนีโญมากขึ้นจะทำให้ภาคธุรกิจเหล่านี้ลดกำลังการผลิตลด รวมทั้งอาจเผชิญต้นทุนการขนส่งน้ำที่แพงขึ้น

      ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบจากเอลนีโญจะมีมากขึ้นในปี 2567 และอาจเป็นปีที่ไทยมีผลกระทบมากที่สุดใกล้เคียงปี 2559 ที่เศรษฐกิจไทยเผชิญภาวะเอลนีโญครั้งใหญ่ที่สุด

       “วันนี้ประเมินผลกระทบเฉพาะภาคเกษตร 48,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ประเมินผลกระทบจากภาคอื่น เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ซึ่งหากได้รับผลกระทบมากก็คิดเป็นความเสียหายราว 10,000 ล้านบาทที่อาจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น เอลนีโญเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับมือ แม้ปีนี้อาจไม่ได้รุนแรงมาก แต่ปีหน้ามองว่าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นเท่าปี 2558-2559 ยิ่งเราเผชิญภาวะโลกรวนด้วยยิ่งทำให้ผลกระทบรุนแรงมากกว่าอดีต”
 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์