“ธนาคารเสมือนจริง” ภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงินไทย

“ธนาคารเสมือนจริง” ภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงินไทย

“ธนาคารดิจิทัล” (Digital Banking) นับเป็นกระแสการเปลี่ยนของโลกการเงิน ที่รูปแบบการใช้บริการธนาคารในการทำธุรกรรมกับธนาคาร โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องมาธนาคาร

โดยให้บริการธนาคารในรูปแบบการทำธุรกรรมทางออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น ประกอบกับในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการใช้บริการ Digital Banking ทั่วโลกรวมถึงในไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญ

ล่าสุดรายงานการศึกษาการฉบับใหม่เรื่อง “การเติบโตของธนาคารดิจิทัลทั่วโลกครั้งที่ 5” ของ “ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง” ที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำ ได้ทำการศึกษาด้าน “ธนาคารดิจิทัลระดับโลกใหญ่ที่สุด” โดยประเทศไทยได้รับการประเมินร่วมกับประเทศชั้นนํากว่า 40 ประเทศ เช่น สหรัฐ จีน อินเดีย และสหราชอาณาจักร เป็นต้น

สำหรับ การศึกษาครั้งนี้ ได้วิเคราะห์ข้อมูลผ่านช่องทางเว็บไซต์และช่องทางมือถือของธนาคารรายย่อยในประเทศไทย ครอบคลุมกว่า 1,200 ชุดข้อมูลและเส้นทางการเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) โดยพิจารณาจากการประเมิน 3 หลักคราวๆ ดังนี้ 1.ฟังก์ชันการทํางานดิจิทัล 2.ความต้องการของลูกค้า และ3.การประเมินประสบการณ์ผู้ใช้

“ธนาคารเสมือนจริง” ภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงินไทย

ฟังก์ชั่นบนดิจิแบงก์กิ้งไทย

ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า “ธนาคารดิจิทัลของไทย” อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40% แต่ยังตามหลังผู้นำดิจิทัล 1.5 เท่า ถึงแม้ธนาคารดิจิทัลของไทยจะได้อันดับสูงสุดเรื่องกลยุทธ์การรักษาลูกค้าด้านฟังก์ชันการเริ่มต้นใช้งานลูกค้า 46% เทียบกับ 41% โดยเฉลี่ยทั่วโลก แต่ฟังก์ชันการทำงานดิจิทัลบนมือถือธนาคารดิจิทัลของไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ 43% เทียบกับ 63% ประเทศผู้นำดิจิทัล

“เมธินี จงสฤษดิ์หวัง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า ธนาคารดิจิทัลของประเทศไทย (ดิจิทัลแบงก์กิง-โมบายแบงก์กิง) ในปัจจุบันเข้ามาตอบโจทย์การทำธุรกรรมทางการเงินของคนไทยในช่วงเริ่มต้นได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ

 แต่ในแง่ของฟังก์ชันบริการบนดิจิทัลแบงก์กิงหรือโมบายแบงก์กิง  ยังถือว่ามีบริการไม่ครบวงจรเทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินปกติ เช่น การรับฝาก ถอนเงินและให้สินเชื่อ อีกทั้งยังไม่เกิดการใช้เป็นวงกว้าง 

ฟังก์ชันในตปท. เข้าถึงไลฟ์สไตล์-ลดความเหลื่อมล้ำ 

ขณะที่ ประเทศอื่นๆ พัฒนารูปแบบบริการเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของผู้ใช้  เช่น ในยุโรป มีบริการด้านเฮลท์แคร์กับผู้สูงอายุที่ซื้อยาเป็นประจำ ชำระเงินและให้วงเงินกู้อัตโนมัติ พร้อมส่งยาถึงบ้าน หรือสิงคโปร์มีบริการด้านท่องเที่ยว กับกลุ่มลูกค้าที่พักโรงแรมพันธมิตรปีละ 2 ครั้ง จะให้วงเงินกู้มาใช้เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง  

หรือรูปแบบการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ในยุโรปหากธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก มีการแชร์ข้อมูลในวงกว้าง ธนาคารสามารถเข้ามใช้ข้อมูลได้ ภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี , กลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ที่มีวินัยทางการเงิน ฝากถอนโอนจ่ายกับธนาคารเป็นประจำ ธนาคารสามารถให้เงินกู้ดิจิทัล สมัครและใช้เวลาอนุมัติวงเงินภายใน 15 วัน เร็วกว่าประเทศไทยใช้เวลาอนุมัตินานเป็นเดือน 

และการให้สินเชื่อกับพนักงาน เป็นสวัสดิการ เช่น ทุนการศึกษาบุตรหรือออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ  จะสนับสนุนการเก็บออมดังกล่าวบนดิจิทัลแพลตฟอร์มดิจิทัล  ซึ่งธนาคารดิจิทัลของประเทศไทย เริ่มให้บริการแล้วแต่ยังไม่มีการใช้บริการเป็นวงกว้าง

จับตา "ธนาคารเสมือนจริง" ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย

“เมธินี” กล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถของธนาคารไทยที่อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับความคิดเห็นต่อแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมและการเข้าถึงบริการทางการเงินของ ธนาคารเสมือนจริง (virtual banks) คาดว่า การออกใบอนุญาตใหม่ virtual banks  ให้กับผู้ประกอบการใหม่ ทั้งธนาคารและที่ไม่ใช่ธนาคารน่าจะเริ่มใช้จริง ก.พ. 66

ทำให้เกิดการพัฒนา “ธุรกรรมทางการเงิน” ไม่ว่าเป็นเรื่องง่ายหรือเรื่องยาก จะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ และช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับ “นโยบายของธปท.และรัฐบาล” ที่กำลังส่งเสริมทางด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งเพื่อลดความเลื่อมล้ำของประเทศ

  “เมื่อธนาคารไทยมองไปในอนาคตสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ "ช่วงเวลาที่สําคัญ" ของลูกค้า และลงทุนสร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่มีความราบรื่นให้แก่ลูกค้า ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากของธนาคารดิจิทัลและธนาคารเสมือนจริงทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นชัดเจนปีหน้า”