ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง. ทยอยขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จากแรงกดดันบาทอ่อนสุดรอบ 16 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง. ทยอยขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จากแรงกดดันบาทอ่อนสุดรอบ 16 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง. ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1% ท่ามกลางแรงกดดันบาทอ่อนค่าสุดรอบ 16 ปี ที่ 37.97 บาทต่อดอลลาร์  และมีแนวโน้มทยอยถอนคันเร่งทางเศรษฐกิจค่อยเป็นค่อยไป เหตุเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง ไม่ฟื้นตัวเต็มที่ มองเงินบาทวันนี้ 37.75 - 38.00 บาทต่อดอลลาร์ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  รายงานว่า เงินบาทช่วงเช้าวันนี้ กลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 37.92 บาทต่อดอลลาร์ (เวลา 09.40 น.) หลังอ่อนค่าไปที่ 37.97 บาทต่อดอลลาร์  (ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปีครั้งใหม่) เมื่อคืนที่ผ่านมา

โดยแม้เงินบาทจะฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อย และตลาดอาจกลับมารอติดตามมติการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และท่าทีที่มีต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทของ กนง.ในวันพรุ่งนี้

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า กรอบการฟื้นตัวของเงินบาทยังน่าจะจำกัด และอาจเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าในระหว่างวันตามกระแสของค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ ยังมีแรงประคองจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐ และสถานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ 37.75 - 38.00 บาทต่อดอลลาร์ 

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่  กระแสเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์เงินเยน เงินหยวน และภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ข้อมูลยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. ของสหรัฐ และตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ของจีน

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.)  พรุ่งนี้ (28ก.ย.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง.  ยังเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์  ซึ่งนับเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี

โดยจากผลการประชุม FOMC ของเฟด ในสัปดาห์ก่อนหน้า เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ มีทิศทางแข็งค่า และกดดันค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

 

ในขณะที่เงินเฟ้อไทยยังคงเร่งตัวสูงขึ้นแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลงมาได้บ้าง เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และในวงกว้างขึ้น ซึ่งการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะยิ่งไปเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นผ่านทางต้นทุนสินค้านำเข้า ดังนั้น กนง. จึงเผชิญแรงกดดันอย่างมากให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายท่ามกลางเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมาก

อย่างไรก็ดี กนง. คงจะยังทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว และยังคงเปราะบางจากหนี้ในภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยหาก กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็ว และแรงก็อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดได้ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้

ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นคงเพิ่มภาระทางการเงินของภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบางอยู่แต่เดิมจากปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น กนง. จึงเผชิญกับสถานการณ์ทางเลือกที่จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพด้านการเงินผ่านอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ดี คาดว่า กนง. จะยังคงทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ และคงมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ในการประชุม กนง. ในวันที่ 28 ก.ย. ที่จะถึงนี้ แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมาก

โดย กนง. คงหลีกเลี่ยงที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแรงเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ กนง. คงมีมุมมองว่าการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้คงจะช่วยพยุงให้ค่าเงินพลิกกลับมาแข็งค่าได้บ้าง อีกทั้ง กนง. คงมีมุมมองว่าเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยนคงเป็นประเด็นระยะสั้น และยังพอมีเวลาที่จะติดตามสถานการณ์ และเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินได้ในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ผลการประชุม กนง. ในครั้งนี้อาจมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งคงจะเป็นอีกจุดสำคัญที่ต้องติดตามในการประชุมครั้งนี้ ทั้งหมดทั้งมวล กนง. คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบต่างๆ ที่ตามมาของการตัดสินใจนั้นๆ


ทั้งนี้ หากในการประชุมที่จะถึงนี้ กนง. มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 ตามคาด คงมีแรงกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และค่าเงินดอลลาร์ รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่จะส่งผลต่อแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ หาก กนง. มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 ในการประชุม กนง. ที่จะถึงนี้ คงส่งผลให้ค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันให้อยู่ในทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากในระยะข้างหน้า เฟดไม่ได้มีการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรงกว่าที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว ขณะที่หากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยเป็นไปตามคาดอาจส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาเกินดุลได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งก็อาจเป็นปัจจัยหนุนต่อทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม หากทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐ ยังคงไม่ลดลงอย่างชัดเจน และเฟดยังคงต้องเร่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ค่าเงินบาทคงเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ และการพลิกภาพกลับมาแข็งค่าของค่าเงินบาทคงล่าช้าออกไปกว่าเดิม 
อย่างไรก็ดี แม้ว่าค่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าลง แต่ก็เป็นการอ่อนค่าสอดคล้องกับค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่านั้นมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์ แข็งค่าอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งมีที่มาจากปัญหาเรื้อรังของเศรษฐกิจภายใน

นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยแม้ว่าเงินทุนสำรองของไทยจะปรับลดลงถึง 14.0% นับตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 2.38 แสนล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ย. 2565) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูล ณ ไตรมาส 1/2565) ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันไทยยังคงห่างไกลจากการเกิดวิกฤติดังเช่นวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540


ทั้งนี้ ในการประชุม กนง. ครั้งนี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กนง. คงไม่มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในปีนี้จากเดิมเท่าใดนัก อย่างไรก็ดี จุดสนใจคงอยู่ที่การปรับประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในปีหน้า ท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงแรงกว่าที่เคยคาด 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์