กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานในประเทศไทย

กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานในประเทศไทย

ในประเทศไทย การฝึกงานเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่มีการนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในหลายมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปใช้ในการทดลองการทำงาน

อย่างไรก็ตามยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิของนักศึกษาฝึกงานทั้งในส่วนของสิทธิในการได้รับค่าตอบแทน หน้าที่ในการทำงาน และการได้รับการปกป้องคุ้มครองในการทำงาน

ทั้งนี้เป็นหลักเกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนของสถานะในทางกฎหมายในการทำงานของนักศึกษาฝึกงานจนนำไปสู่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อนักศึกษาฝึกงานในหลายประเด็น

ปัญหานี้ผู้เขียนได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทสหรัฐอเมริกาเพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกฎหมายของไทยพบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม (FLSA)

ซึ่งใช้บังคับกับธุรกิจที่มีเงินได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 5 แสนดอลลาร์และหน่วยงานไม่แสวงหากำไรที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมเชิงพาณิชย์รวมถึงมีกฎหมายเฉพาะของแต่ละมลรัฐที่มีการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะเพิ่มเติม สำหรับการคุ้มครองนักศึกษาฝึกงาน

ทั้งนี้ สาระสำคัญหลักของการออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานในประเด็นเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทน คือ การกำหนดเงื่อนไขว่านักศึกษาฝึกงานในลักษณะใดบ้างที่จะได้รับค่าตอบแทน

โดยพิจารณาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการฝึกงาน เปรียบเทียบระหว่างนักศึกษากับนายจ้างหรือบุคคลที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงาน  หากเป็นลักษณะงานที่นายจ้างหรือบุคคลที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงานได้รับประโยชน์มากกว่า นักศึกษาฝึกงานก็ชอบที่จะได้รับค่าตอบแทน

แต่หากเป็นกรณีที่นักศึกษาฝึกงานได้ประโยชน์มากกว่าจากการฝึกงานเพื่อหาประสบการณ์ นักศึกษาก็จะไม่มีสิทธิในการได้รับค่าตอบแทน ซึ่งค่าตอบแทนดังกล่าวจะต้องได้รับไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและอาจได้รับค่าล่วงเวลาขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละมลรัฐ

หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะได้รับโทษปรับที่ค่อนข้างสูงขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละมลมลรัฐนอกจากนี้ในบางกรณีหากการฝึกงานเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมทางการศึกษา การจ่ายค่าตอบแทนอาจจะต้องเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาในการที่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับนักศึกษา

นอกจากนี้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงานของนักศึกษาฝึกงาน

ซึ่งนายจ้างจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในที่ทำงานของรัฐเพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาฝึกงานมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการฝึกงาน

ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาจะต้องมีหน้าที่ในการทำความตกลงครับนายจ้างหรือหน่วยงานที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงานเกี่ยวกับหน้าที่ของนายจ้างหรือหน่วยงานที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงานให้นักศึกษามีสิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัย

หากสถานศึกษาไม่ปฏิบัติตามทั้งๆที่ทราบดีอยู่แล้วว่าสถานที่นั้นอาจไม่มีความปลอดภัยและยังคงส่งนักศึกษาไปฝึกงาน สถานศึกษานั้นจะต้องมีความรับผิดตามกฎหมาย

กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกายังได้มีการกำหนดหน้าที่ให้สถานศึกษาจะต้องดำเนินการ หากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดหรือการเลือกปฏิบัติในการฝึกงานในทันที

เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาและมีหน้าที่ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับนักศึกษาฝึกงาน หากมีค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นการกำหนดหน้าที่ให้กับสถาบันการศึกษาในการปกป้องนักศึกษาจากการถูกละเมิดจากสถานที่ฝึกงานโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ในการฝึกงานของนายจ้างบางครั้งได้มีการกำหนดให้นักศึกษาฝึกงานจะต้องลงนามในข้อตกลงก่อนการฝึกงาน ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามข้อตกลงอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการรักษาความลับหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันการค้าขายแข่ง หรือข้อตกลงอื่นที่เกี่ยวข้องหรืออาจส่งผลกระทบต่อทางธุรกิจของนายจ้าง

หากมีการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจะต้องมีการชี้แจงข้อตกลงให้ชัดเจนในระหว่างการปฐมนิเทศ และจะต้องมีการควบคุมตรวจสอบให้เกิดความแน่ใจว่าข้อตกลงได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อการฝึกงานและข้อตกลงดังกล่าวจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในการพิจารณาในชั้นศาลหากเกิดข้อพิพาท

 เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการกำหนดสถานะของนักศึกษาฝึกงานไว้อย่างชัดเจน

เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายไทยและได้มีการกำหนดหน้าที่ทั้งในส่วนของสถาบันการศึกษาและหน้าที่ของหน่วยงานที่รับฝึกงาน แต่กฎหมายไทยยังมีมุมมองที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนักศึกษาฝึกงาน

และยังมีความเชื่อในการคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานว่าไม่ใช่ลูกจ้างหรือพนักงานของหน่วยงาน ทำให้การจ่ายค่าตอบแทนหรือการคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานยังไม่ดีเท่าที่ควร

ในหลายกรณียังพบการกำหนดภาระหน้าที่ในการทำงานของนักศึกษาฝึกงานที่ไม่เหมาะสมหรือในการฝึกงานของหลายหน่วยงานนักศึกษาฝึกงานถูกล่วงละเมิดในหลากหลายรูปแบบโดยปราศจากการป้องกันหรือการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม

ไม่ว่าจะประเด็นเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนหรือประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของนักศึกษาฝึกงานในประเทศไทยยังไม่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงหรือการออกกฎหมายมาใช้บังคับให้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่ารัฐควรมีกฎหมายกำหนดบทบาทของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงาน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐหรือภาคเอกชนให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการคุ้มครองดูแลนักศึกษาฝึกงาน

และจะต้องมีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบมาตรฐานในการดูแลนักศึกษาฝึกงานให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยให้มากที่สุด

ส่วนในประเด็นเกี่ยวกับค่าตอบแทนในการฝึกงาน อาจนำการพิจารณาเรื่องผลประโยชน์ที่พึงได้รับของนักศึกษา เปรียบเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับของนายจ้างมาใช้ในการพิจารณาเกี่ยวกับเกณฑ์ในการจ่ายค่าตอบแทนและรวมไปถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในที่ทำงานให้กับนักศึกษาฝึกงานด้วย.