ไม่อยากจ่ายภาษีค่าเช่า สรรพากรจะรู้ไหม ?

ไม่อยากจ่ายภาษีค่าเช่า สรรพากรจะรู้ไหม ?

รายได้จากการนำบ้าน ที่อยู่อาศัยของตนเองมาให้คนอื่นเช่า ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องนำรายได้ส่วนนี้ยื่นภาษีด้วย อย่าชะล่าใจ เพราะสรรพากรรู้รายได้ของคุณได้มากกว่าที่คิด!

ใครเป็นนักสะสมที่ดิน อาคาร ที่อยู่อาศัย มักจะนำสินทรัพย์เหล่านี้มาปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับตนเอง และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องของภาษีค่าเช่าที่ต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อยื่นเสียภาษีสรรพากร เนื่องจากไม่แน่ใจว่ารายได้ส่วนนี้ต้องเสียภาษีหรือไม่ หรือหลายๆ รายก็เข้าใจว่าไม่ต้องถือเป็นรายได้ในการยื่นภาษี จึงมีผู้ให้เช่าบ้าน อาคารที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ไม่ได้ยื่นภาษีในส่วนของรายได้จากค่าเช่า

แต่ความจริงแล้ว รายได้จากการนำบ้าน ที่อยู่อาศัยของตนเองมาให้คนอื่นเช่า ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องนำรายได้ส่วนนี้ยื่นภาษีด้วย ซึ่งกรมสรรพากรสามารถรับรู้รายได้ค่าเช่าของแต่ละคนได้จากหลายช่องทาง

ดังนั้น หากใครมองว่ารายได้จากค่าเช่า เป็นรายได้เพียงน้อยนิดที่สรรพากรไม่สามารถรู้ได้ ลองอ่านบทความจากบรรทัดต่อจากนี้ก่อน แล้วคุณอาจเปลี่ยนใจ เพราะสรรพากรรู้รายได้ของคุณได้มากกว่าที่คิด!

สัญญาเช่า

การนำบ้าน อาคาร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น มาให้เช่า หากผู้เช่าได้เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือผู้เช่าได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล และได้เช่าเพื่อประกอบธุรกิจโดยนำไปใช้ในการขอจดเป็นบริษัท แน่นอนว่าทางผู้เช่าจะมีการทำสัญญาเช่าขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจของตนเอง และจะต้องทำการติดอากรแสตมป์ ภายใน 15 วัน นับจากวันทำสัญญา เพื่อใช้เป็นหลักฐานด้วย จึงไม่ใช่เรื่องยากที่สรรพากรจะทราบรายได้ค่าเช่านี้

แต่ในกรณีที่ผู้เช่าเป็นบุคคลธรรมดาไม่ได้เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สรรพากรก็จะไม่ทราบรายได้ในส่วนนี้ ซึ่งก็จะทำให้ตรวจสอบได้ยาก  

รายได้ค่าเช่าโอนผ่านระบบ E-PAYMENT

หากผู้เช่าโอนค่าเช่าผ่านระบบ E-PAYMENT ซึ่งเป็นการโอนเงินผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายผ่านทางโทรศัพท์ ตัดบัตรเครดิต หรือแม้แต่การฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชี ยอดเงินเข้าเหล่านี้ ทางสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร เช่น ธนาคารของภาครัฐและเอกชน Payment Gateway e-Wallet เป็นต้น
โดยสถาบันการเงินจะต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากร หากเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดข้อใดข้อหนึ่งใน 2 ข้อ คือ

1.มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้ง/ปี โดยไม่ดูจำนวนเงินว่ามีมูลค่าเท่าไร

2.กรณีมีเงินเข้าบัญชีรวมกันเกิน 2 ล้านบาท/ปี และมีเงินเข้าตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี โดยต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 กรณี จะถูกส่งข้อมูลไปให้กับสรรพากร

ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

ในกรณีที่ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล เมื่อทำการเช่าอาคารสถานที่หรือที่อยู่อาศัย จะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายผู้ให้เช่าในอัตรา 5% และนำส่งเงินที่หักไว้ให้กับสรรพากร นั่นหมายความว่าสรรพากรจะต้องมีข้อมูลรายได้จากค่าเช่าของผู้ให้เช่าจากยการส่งข้อมูลหัก ณ ที่จ่ายอย่างแน่นอน

ในทางกลับกัน หากผู้เช่าเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ รายได้ในส่วนนี้จึงค่อนข้างยากที่สรรพากรจะตรวจสอบพบได้

โชว์รายได้ผ่านช่องทางโซเชียล

มีหลายช่องทางโซเชียลที่เปิดพื้นที่ให้กับผู้คนได้ใช้พื้นที่เหล่านี้ในการโพสต์ข้อความ เรื่องราว ข้อมูลต่างๆ หรือระบายความในใจของตนเองได้อย่างสะดวกสบาย และก็มีหลายคนที่มักโพสต์รายได้ สลิปโอนเงินลงบนโซเชียล เช่น Facebook , IG

​ดังนั้น หากมีการโพสต์รายได้ค่าเช่าบนโซเชียลต่างๆ ก็มีโอกาสที่สรรพากรจะสุ่มตรวจเจอ และหากพบว่ามีรายได้ค่าเช่าที่ไม่ได้ยื่นภาษี หรือมีภาษีที่ต้องเสียแล้วหลีกเลี่ยง ก็มีโอกาสเสียภาษีย้อนหลังได้

ลงพื้นที่สุ่มตรวจ

การลงพื้นที่สุ่มตรวจนั้น มักเกิดขึ้นในกรณีที่สรรพากรลงพื้นที่ตามร้านขายของ และผู้เช่าเปิดร้านขายของอาจให้ข้อมูลโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นบ้านที่เช่ามาเพื่อทำการขายของก็ได้ จากนั้นสรรพากรจะตรวจสอบเพิ่มเติมจนอาจพบว่ารายได้ค่าเช่าส่วนนี้ผู้ให้เช่าไม่ได้นำมายื่นภาษีและเสียภาษี (ถ้ามี) ก็ได้
 
สรุป…รู้แล้วมาเตรียมความพร้อมเสียภาษีค่าเช่ากัน

หลังจากทราบแล้วว่าค่าเช่าของคุณมีโอกาสที่สรรพากรจะทราบได้จากหลายช่องทาง

ดังนั้น มายื่นภาษี และเสียภาษีให้ถูกต้องกันดีกว่า โดยสามารถแบ่งภาษีค่าเช่าออกเป็น 2 กรณี ได้ดังนี้

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

บุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากค่าเช่า ถือเป็นเงินได้มาตรา 40(5) โดยผู้ให้เช่าสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ตามประเภทการให้เช่า เช่น อาคาร ตึก บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือเลือกหักตามจริง แต่ต้องเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายไว้ให้ครบด้วย

ทั้งนี้ หากผู้ใช้เช่าในนามบุคคลธรรมดามีรายได้อื่นๆ ด้วย ก็ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ภาษีกลางปี (ภ.ง.ด.94) ยื่นชำระภายในเดือนกันยายน และภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ยื่นชำระภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้เช่า มีหน้าที่ต้องเสียภาษีสูงสุด 20% โดยต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 รอบ เช่นกัน ซึ่งประกอบด้วย ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี และภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting