ผ่างบการเงิน 3 กระดานเทรดไทย ผลดำเนินงานปี 65 ‘ทรุดหนัก’

ผ่างบการเงิน 3 กระดานเทรดไทย ผลดำเนินงานปี 65 ‘ทรุดหนัก’

ในปี 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นตลาดขาลงของ “คริปโทเคอร์เรนซี่” อย่างหนักหน่วง มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในตลาดคริปโทประเทศไทยและตลาดคริปโททั่วโลก ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่าราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาด รวมทั้งปริมาณการซื้อขายที่ลดลงตามไปด้วย

การที่ปริมาณการซื้อขายลดลง สะท้อนถึงนักลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่เคลื่อนไหวน้อยลง และแน่นอนว่าผลกำไรและรายได้ของบริษัทผู้ประกอบศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเอ็กซ์เชนจ์ จะสะท้อนความแตกต่างระหว่างตลาดคริปโท “ขาขึ้น” และ “ขาลง” ได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าบริษัทผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย จะไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ทุกบริษัทจะต้องเปิดเผยงบการเงินของบริษัทต่อสาธารณชน

วันนี้ทาง 'กรุงเทพธุรกิจ'  จึงรวบรวมผลประกอบการของเอ็กซ์เชนจ์ทั้ง 3 แห่ง จากทั้งหมด 8 แห่งที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุกิจจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และเริ่มประกอบธุรกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่

1.บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ บิทคับ 

2.บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ สตางค์ โปร

3.บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด หรือ ทีดีเอกซ์

ผ่างบการเงิน 3 กระดานเทรดไทย ผลดำเนินงานปี 65 ‘ทรุดหนัก’

  • บิทคับ (Bitkub) 

เอ็กซ์เชนจ์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศไทยได้เปิดเผยงบการเงินปี 2565 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2566 บนเว็บไซต์ พบว่า บริษัท บิทคับ มีรายได้ ทั้งหมด 2.8 พันล้านบาท ลดลง 49% จากปี 2564 ที่มีรายได้ 5.5 พันล้านบาท และมีกำไร 341 ล้านบาท ลดลง 86.6% จากปี 2564 ที่มีกำไร 2.5 พันล้านบาท ซึ่งบิทคับมี 3 แหล่งรายได้หลักมาจาก รายได้ค่าธรรมเนียม รายได้จากการให้บริการ และรายได้อื่นๆ เช่น กำไรขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นต้น

โดยมีเงินฝากและสินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า 3.04 หมื่นล้านบาท ลดลง 65.1% จากปี 2564 ที่มีปริมาณ 8.72 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่สะท้อนถึงภาพรวมมูลค่าการซื้อขายและธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในบิทคับเอ็กซ์เชนจ์

ทั้งนี้ยังมีแหล่งรายได้ที่รอการรับรู้อีก 81.61 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากปี  2564 และ2565 จากค่าธรรมเนียมของการจัดกิจกรรมแลกเครดิตค่าธรรมเนียมของทรัพย์สินดิจิทัล KUB โดยมีระยะเวลา 2 ปีนับจากวันที่ทำธุรกรรมสำเร็จ ทำให้บริษัทมีรายได้ค่าธรรมเนียมคงเหลือ 39.67 ล้านบาทในปี 2565 และ 41.94 ล้านบาท ในปี2564

  • สตางค์ โปร (Stang Pro) 

เปิดเผยงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 บน เว็บไซต์ พบว่า บริษัท สตางค์ โปร มีรายได้ ทั้งหมด 62 ล้านบาทลดลง 82.1% จากปี 2564 ที่มีรายได้ 119 ล้านบาท และปีนี้บริษัทขาดทุน 73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,360% จากปี 2564 ที่ขาดทุนเพียง 5 ล้านบาท 

สำหรับ สตางค์ โปร มีแหล่งรายได้หลักมาจาก 3 ส่วน คือ รายได้ค่าธรรมเนียม รายได้จากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล และรายได้จากการบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและซอร์ฟแวร์

โดยในปีที่แล้ว เอ็กซ์เชนจ์มีเงินฝากและสินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้าในปี 2565 ทั้งหมด 1.06 พันล้านบาท ลดลง 79.6% จากปี 2564 ที่มีปริมาณ 5.2 พันล้านบาท

  • ทีดีเอกซ์ (TDX) 

เป็นบริษัทในกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายสำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange)  เปิดเผยงบแสดงฐานะการเงินบนเว็บไซต์  ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 พบว่า บริษัทTDXมีรายได้ ทั้งหมด 2.2 แสนบาท เพิ่มขึ้น 57.1% จากปี 2564 ที่มีรายได้ 1.4 แสนบาท และบริษัทขาดทุน 21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91,204% จากปี 2564 ที่มีกำไร 23,000 บาท

 

ทั้งนี้บิทคับถือเป็นเอ็กซ์เชนจ์ที่สามารถทำรายได้และกำไรได้มากที่สุดในตลาด โดย กลต.เผยว่าในปีที่แล้ว มีจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เคลื่อนไหวในปี 2565 ทุกประเภทผู้ลงทุน ทั้งผู้ลงทุนบุคคลธรรมดา (ในประเทศ), ผู้ลงทุนบุคคลธรรมดา (ต่างประเทศ),  ผู้ลงทุนนิติบุคคล (ในประเทศ), ผู้ลงทุนนิติบุคคล (ต่างประเทศ) รวมทั้งสิ้น 6,694,336 บัญชี ซึ่งนับจากบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวและมีการเทรดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปี 2565

 

สำหรับอีก 7 เอ็กซ์เชนจ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต.ยังไม่ได้มีการเปิดเผย งบการเงินปี 2565 โดยบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด หรือ อินโนเวสท์ เอกซ์ ได้แสดงฐานะการเงิน แต่ไม่มีการแบ่งสัดส่วนของธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจน สำหรับบริษัทที่ไม่ยื่นงบการเงินหรือยื่นล่าช้าเกินกำหนดเวลามีโทษปรับที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์กำหนด