ต่างชาติเทขายฉุดเงินบาทอ่อนยวบ เดือนนี้จ่อหนักสุดในรอบ 4 ปี

ต่างชาติเทขายฉุดเงินบาทอ่อนยวบ เดือนนี้จ่อหนักสุดในรอบ 4 ปี

เงินบาทไทยอ่อนค่าอย่างหนักในเดือน ม.ค. ร่วงแล้วเกือบ 4% จ่อขึ้นแท่นเป็นเดือนที่แย่ที่สุดในรอบ 4 ปี หลังนักลงทุนยังเทขายต่อเนื่อง คาดเดือนหน้าทะลุ 36 บาท/ดอลลาร์

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เดือน ม.ค. 2567 คาดว่าจะเป็นเดือนที่ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าหนักที่สุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 หลังจากที่อ่อนค่าลงไปแล้วเกือบ 4% ท่ามกลางสัญญาณทุนไหลออกอย่างหนักที่อาจฉุดค่าเงินบาทให้ร่วงลงอีก

รายงานระบุว่า จากเดิมที่เงินบาทเป็นกลุ่มค่าเงินที่มีผลประกอบการเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เมื่อไตรมาส 4 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันกำลังเป็นค่าเงินที่ร่วงหนักที่สุดของตลาดในปีนี้ หลังจากที่กองทุนต่างชาติยังเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทย ท่ามกลางการถกเถียงระหว่างรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

ปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วถึง 808 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ (กว่า 2.8 หมื่นล้านบาท) และฉุดให้ดัชนี SET ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ท่ามกลางความกังวลเรื่องระดับการเติบโตของจีดีพี ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ก็ไม่เป็นที่น่าดึงดูเช่นกันโดยสะท้อนจากทุนไหลออก หลังจากที่เกิดกระแสการผิดนัดชำระหนี้หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา และปัญหาการคำนวณบัญชีผิดพลาดในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน

อัลวิน ตัน หัวหน้าฝ่ายกลุทธ์ค่าเงินเอเชียของบริษัทอาร์บีซี แคปิทัล มาร์เก็ตส์ ในสิงคโปร์ กล่าวว่า เงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่าต่อเนื่องจากปัจจัยลบทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 36.0-36.50 บาท/ดอลลาร์ ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากที่ปิดตลาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ 35.63 บาท/ดอลลาร์
 

บรรดานักค้าต่างจับสัญญาณการเปิดเผยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ธ.ค. ที่จะมีการแถลงในวันที่ 31 ม.ค. นี้ว่าจะกลับมาเป็นบวกได้หรือไม่ หลังจากที่ขาดดุลไป 1,240 ล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ย. โดยทางการไทยได้เริ่มเปิดฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว 

ด้านนิโคลัส เจีย นักกลยุทธ์มหภาคของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กล่าวว่า การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวเป็นบวกต่อค่าเงินบาท แต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวและจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในปี 2566 ยังน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ปัจจัยลบเรื่องเศรษฐกิจจีนและการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาด ยังเป็นอีกปัจจัยกดดันค่าเงินบาท เนื่องจากตลาดจะยังคงปรับราคาตามคาดการณ์ของเดือน มี.ค. และทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น