เครดิตบูโร ชี้ ‘หนี้รอระเบิด’ 6 แสนล้าน ห่วงหนี้รถ-บ้าน จ่อเสียทะลัก

เครดิตบูโร ชี้ ‘หนี้รอระเบิด’ 6 แสนล้าน ห่วงหนี้รถ-บ้าน จ่อเสียทะลัก

ธปท.เปิดตัวเลขลูกหนี้เริ่มค้างชำระ แต่ไม่เกิน90วันพุ่ง 6.6 แสนล้าน เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ สกัดลามเป็นหนี้เสีย “เครดิตบูโร”ชี้ หนี้จ่อระเบิด6 แสนล้าน หนักสุดเจนวาย หนี้จ่อเสียพุ่ง 2.9แสนล้าน ขณะที่เจนเอ็กซ์ 2.1 แสนล้าน หนี้บ้าน-รถ น่าห่วงสุด

     แม้ล่าสุดข้อมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1ปี 2566 จะออกมาปรับตัวดีขึ้น  โดยลดลงมาอยู่ที่  2.68% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือ ข้อมูลหนี้เสียของระบบการเงินของข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) ที่ล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 7.2% หรือ 9.5 แสนล้านบาท จากสิ้นปี2565หนี้เสียอยู่ที่ 7.4% หรือ 9.8แสนล้านบาท

       แต่หากดูข้อมูล “หนี้ที่กำลังจะเสีย” หรือสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่เริ่มมีการค้างชำระ แต่ไม่เกิน 90 วัน พบว่ากลุ่มนี้น่าห่วงมากขึ้น โดยธปท.ระบุว่า หนี้ SM ที่มาจากหนี้ครัวเรือนทั้งระบบการเงิน มีสูงถึง 6.6 แสนล้านบาท

       สุวรรณี เจษฎาศักดิ์  ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมหนี้เสียของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ล่าสุดปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการหนี้เสีย การตัดขายหนี้ การขายหนี้เสียออกจากระบบแบงก์ ทำให้หนี้เสียมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

      แต่หากดูหนี้ SM หนี้ที่กำลังจะเสีย ทั้งระบบอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท แม้จะเป็นตัวเลขที่สูง แต่ช่วงโควิด-19 ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่านี้ และเชื่อว่าหากแบงก์แก้ได้ทัน ผ่านการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ลูกหนี้เหล่านี้ก็จะไม่ไหลไปเป็น “หนี้เสีย” 

      ดังนั้นถามว่า ตัวเลขหนี้ที่กำลังจะเสีย ที่มีในระบบจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ธปท.ตกใจหรือไม่  ซึ่งธปท.ไม่ตกใจ แต่เป็นสิ่งที่ธปท.ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด และให้เร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการทางการเงินที่มีอยู่ เช่นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ที่จะมีส่วนในการช่วยเหลือลูกหนี้ ไม่ให้ไหลไปเป็นหนี้เสียได้

        ทั้งนี้ เชื่อว่า แนวโน้มหนี้เสียได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว และนโยบายธปท.ก็พยายามทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างราบรื่น และพยายามดูแลลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อน ที่อาจได้รับผลกระทบชั่วคราว ดังนั้นธปท.จึงขอให้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่ามาตรการที่ธปท.ออกมาจะมีส่วนช่วยไม่ให้หนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้นมากนัก

      สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่น่าห่วง คือ หนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดมาอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาส 4 ปีก่อนที่ 5.2 แสนล้านบาท หรือ3.9%

        ผลจากหมดมาตรการพักหนี้ เมื่อลูกหนี้กลับมาจ่ายปกติก็เริ่มมีปัญหามากขึ้น ทำให้วันนี้ หนี้หลายตัวมีปัญหา 

        และหากดูไส้ในหนี้ก้อนที่กำลังจะเสีย 6 แสนล้านบาท เป็นหนี้มาจากกลุ่มเจนวาย 48% หรือ 2.9 แสนล้านบาท และหนี้จากกลุ่มเจนเอ็กซ์  35% หรือ 2.1 แสนล้านบาท และเบบี้บูมเมอร์ 8.4 แสนล้านบาท และหนี้ส่วนหนี้ เป็นหนี้จากแบงก์พาณิชย์ ที่ 2.6 แสนล้านบาท หนี้แบงก์รัฐ 2.5 แสนล้านบาท และหนี้จากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้ออีก 7.8 หมื่นล้านบาท 

      นอกจากนี้ หากเจาะไปดูรายละเอียดพบว่า หนี้ที่กำลังมีปัญหาส่วนใหญ่ มาจาก3 ส่วนหลัก คือ  สินเชื่อบ้าน  1.6 แสนล้านบาท,  สินเชื่อเช่าซื้อ 1.9 แสนล้านบาท, หนี้พีโลน 1.6 แสนล้านบาท  ซึ่งหนี้ที่กำลังจะเสียในกลุ่มเช่าซื้อนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพักหนี้ไว้ ค่างวดไม่ต้องจ่าย พอหมดมาตรการก็ต้องกลับไปชำระเหมือนเดิม แต่ลูกหนี้ยังผ่อนไม่ไหว ก็ต้องค้างชำระมากขึ้น

     “ที่ห่วงคือ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน  ไม่จ่ายสินเชื่ออื่นๆได้ แต่สินเชื่อบ้านหากไม่รีบดำเนินการอาจมีปัญหาตามมา ซึ่งก็สะท้อนว่า หากเขาเริ่มมีปัญหาที่สินเชื่อบ้าน แปลว่าเขาหมดหนทางในการแก้หนี้แล้ว  จึงน่ากังวล เพราะแม้หนี้เสียในระบบวันนี้ลดลงมาอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท จาก 1 ล้านล้านบาท แต่หนี้เก่าก็ค้าง หนี้ใหม่ก็กำลังจะมาเติม 6 แสนล้าน”

       ซึ่งหากดูลูกหนี้ ที่กำลังจะเสีย  6 แสนล้านบาท ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะตกชั้นสูง และมีโอกาสไหลไปเป็นหนี้เสียได้สูงถึง 50% หรือ 3 แสนล้านบาท หากเทียบกับระดับปกติที่ หนี้ค้างชำระเหล่านี้จะกลายเป็นหนี้เสียราว 20-30%หากภาวะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติ

      แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว อีกทั้งกลุ่มเปราะบางยังอยู่ระดับสูง ดังนั้นโอกาสเห็นลูกหนี้ตกชั้นกว่าระดับปกติจึงมีมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้อาจซ้ำเติมหนี้เสียในระบบให้ปรับขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่หนี้เสียอยู่ในระบบแล้ว 9.5 แสนล้านบาท