แบงก์ชาติ ห่วง ลบประวัติลูกหนี้ พ้นเครดิตบูโร ฉุดความเชื่อมั่นระบบการเงิน

แบงก์ชาติ ห่วง ลบประวัติลูกหนี้ พ้นเครดิตบูโร ฉุดความเชื่อมั่นระบบการเงิน

‘แบงก์ชาติ’ ห่วงนโยบาย ‘ล้างประวัติ’ ลูกหนี้พ้นเครดิตบูโร อาจซ้ำเติมระบบสถาบันการเงินลามจนเกิดวิกฤติได้ หวั่นผู้กู้ - ผู้ฝากขาดความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน กระทบเรตติ้งสถาบันการเงินวูบ

      ช่วงหลายสัปดาห์มานี้มีประเด็นที่ถกเถียงอย่างเข้มข้นในโลกออนไลน์ หลังจากพรรคการเมืองบางแห่งเสนอให้ ‘ยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร รื้อระบบสินเชื่อใหม่เพื่อสนับสนุนให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

     เปรียบเหมือนการ ‘ล้างข้อมูลเครดิตทั้งหมดของลูกหนี้ จึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงทางสังคม ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

      นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่มีการเสนอ ให้ล้างประวัติเครดิตบูโร ยกเลิกแบล็กลิสต์บูโรนั้น เป็นสิ่งที่ ธปท. ไม่เห็นด้วย

      เนื่องจากข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ เปรียบเสมือน “สมุดพก” ที่สะท้อนพฤติกรรมของลูกหนี้อย่างตรงไปตรงมา และถูกต้องที่สุด อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้

ดังนั้น การเสนอให้ล้างประวัติลูกหนี้ในเครดิตบูโร หรือยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร จึงเปรียบเสมือนการล้างประวัติเครดิตทางการเงิน พฤติกรรมลูกหนี้ทั้งหมดในระบบ ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้อาจกระทบต่อความเชื่อมั่น ความเชื่อถือต่อระบบการเงินในอนาคตได้ ไม่เฉพาะในด้านการปล่อยสินเชื่อเท่านั้น ที่อาจทำให้ผู้กู้เข้าถึงสินเชื่อได้ยากมากขึ้น เพราะข้อมูลบางส่วนหายไป แต่จะกระทบถึงผู้ฝากเงินให้ขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินด้วย 
 

      นอกจากนี้ ยังกระทบต่อเครดิตเรตติ้งของภาคสถาบันการเงินได้ เพราะข้อมูล มีความไม่ถูกต้อง จากการลบประวัติความเสี่ยงต่างๆ ออกไป ซึ่งลามกระทบต่อมุมมองของสถาบันการเงินไทยให้ลดลงได้ ดังนั้น นโยบายดังกล่าว เชื่อว่า อาจเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับลูกหนี้บางกลุ่ม แต่จะมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ของระบบการเงิน

      “การล้างข้อมูลลูกหนี้ในเครดิตบูโร ไม่ว่าจะลบระยะสั้นหรือลบทั้งหมด ไม่ส่งผลดีทั้งนั้น เพราะประวัติเครดิตในเครดิตบูโร เปรียบเสมือนสมุดพก ที่สะท้อนความน่าเชื่อถือ ให้คนเชื่อใจกัน ระบบน่าเชื่อถือที่ตรงไปตรงมาที่สุด ดังนั้นหากลบประวัติบางส่วนออก คนจะสงสัยทั้งระบบ อาจกระทบทั้งระบบ ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว อาจกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อได้ ดังนั้นเหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงสูงมาก และไม่มีประเทศไหนในโลกที่ทำนโยบายดังกล่าว

        นายธาริฑธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ทางเลือกที่ดีกว่า ในการช่วยเหลือลูกหนี้ หรือช่วยเหลือประชาชน ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน คือ การเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ หรือมาตรการต่างๆ ซึ่งหากลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือ ท้ายที่สุดแล้ว ลูกหนี้อาจถูกปรับให้เป็นลูกหนี้ปกติได้ในท้ายที่สุด

        เช่นเดียวกัน ลูกหนี้รหัส 21 ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ในช่วงโควิด-19 ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือผ่านการหารือกับสถาบันการเงิน เพราะอีกด้าน การที่สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ จะเป็นหนทางในการช่วยลดหนี้เสียในระบบได้

      “เราอยากให้คนที่ติดภาระหนี้ เข้าหาแบงก์ เพราะแบงก์ให้ความช่วยเหลือสูงมาก คนที่ติดหนี้เสียส่วนใหญ่แบงก์จะหาตัวไม่เจอ นึกว่าได้เงินฟรีบ้าง ก็เลยไม่ติดต่อแบงก์ ดังนั้นการเครดิตของลูกหนี้ ทางเดียวคือ การเจรจากับแบงก์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ซึ่งเชื่อว่าแบงก์พร้อมช่วยเหลือ เหล่านี้ถือเป็นทางเลือกที่ถูกต้องที่สุดแล้ว ดีกว่าการลบประวัติเครดิตออก ที่อาจกระทบต่อระบบจนเกินวิกฤติของระบบสถาบันการเงินได้ คนได้ประโยชน์นิดเดียว แต่คนเสียเยอะมาก ดังนั้นเสียมากกว่าได้”

      ด้าน นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)กล่าวว่า กรณีมีการเสนอให้ลบข้อมูลเครดิตลูกหนี้บางส่วนออกไป เชื่ออาจกระทบต่อประวัติลูกหนี้ ให้ขาดความสมบูรณ์ ดังนั้นในแง่สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ อาจกังวลได้จากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน

      ดังนั้นเหล่านี้ อาจสร้างความเสียหายให้กับระบบการเงินในอนาคต จากข้อมูลทางการเงินที่ไม่ครบถ้วน ที่อาจสร้างความเสียหาย เหมือนที่เกิดวิกฤติ ในปี 2540 ได้

      อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน แม้ระบบสินเชื่อยันไม่สามารถตอบโจทย์ สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก แต่เชื่อว่า การใช้ข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ต่างๆ ข้อมูลขายสินค้า จะเป็นข้อมูลทางเลือก ให้กับผู้กู้ ในการช่วยสมานแผลเป็น จากประวัติชำระหนี้ค้างได้ และทำให้สถาบันการเงินสามารถรู้จัก และเห็นข้อมูลลูกค้าได้มากขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์