‘สศช.’ เปิดข้อมูล ‘เครดิตบูโร’ พบ ‘หนี้ NPL’ ในกลุ่มผู้สูงอายุพุ่งเกือบ 70%

‘สศช.’ เปิดข้อมูล ‘เครดิตบูโร’  พบ ‘หนี้ NPL’ ในกลุ่มผู้สูงอายุพุ่งเกือบ 70%

สศช.เปิดข้อมูลหนี้ NPL ไทยยังน่าห่วงพบหนี้เสีย 4.3 ล้านบัญชี 44.4 % ในฐานข้อมูล NPL ของเครดิตบูโร ผงะหนี้เสียเพิ่มในกลุ่มผุ้สูงอายุมาก กลุ่มเกษียณอายุเพิ่มเป็น 67.6%  ผลมาจากความสามารถในการชำระหนี้ลดลงช่วงโควิด แบกรายจ่าย ช่วยเหลือ – ค้ำประกัน หรือกู้ยืมหนี้ให้ลูกหลาน

ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจหดตัวลงทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) พุ่งขึ้นไปสูงสุดถึง 90.8% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ก่อนจะเริ่มปรับตัวลดลงจนมาอยู่ที่ระดับ 88.2% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน หรือคิดเป็นวงเงินรวมกว่า 14.8 ล้านล้านบาท

โดยในส่วนของหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นมีหนี้บางส่วนที่ถูกจัดลำดับเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ “NPL” เนื่องจากมีการค้างชำระหนี้มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยตัวเลขมูลค่า และการขยายตัวของหนี้ NPL ในฐานข้อมูลเครดิตบูโรโดยใช้ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2565  

พบว่ามีจำนวน NPL ทั้งสิ้น 1.11 ล้านล้านบาท โดยลูกหนี้ที่เป็น NPL จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมายังเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนที่เป็นหนี้เสีย 4.3  ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วน 44.4% ของบัญชีลูกหนี้ NPL ทั้งหมดในฐานข้อมูลเครดิตบูโร คิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้น 59.1% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนมูลค่าของ NPL เพิ่มขึ้น 79.5%  

ทั้งนี้จำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มลูกหนี้ที่มีหนี้เพิ่มมากขึ้นคือกลุ่มลูกหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 41ปีขึ้นไปจนถึงกลุ่มลูกหนี้อายุ 60 ปีขึ้นไปหรืออยู่ในวัยเกษียณแล้วแต่ยังมีหนี้สินที่ต้องจ่าย แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จนถูกจัดเป็น กลุ่ม NPL เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้

1.ลูกหนี้กลุ่มอายุ 41 – 50 ปี มีหนี้เสียรวม 3.37 แสนล้านบาท ขยายตัว 15.1%

2.ลูกหนี้กลุ่มอายุ 51 – 59 ปี มีหนี้เสียรวม 2.35 แสนล้านบาท ขยายตัว 32.9%   

3.ลูกหนี้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้เสียรวม 1.54 แสนล้านบาท ขยายตัว 67.6%

 

‘สศช.’ เปิดข้อมูล ‘เครดิตบูโร’  พบ ‘หนี้ NPL’ ในกลุ่มผู้สูงอายุพุ่งเกือบ 70%

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสศช. กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ NPL ในกลุ่มผู้ที่มีอายุเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงปัญหาทางด้านการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้สูงอายุที่มีรายได้ลดลงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

รวมทั้งอาจมีภาระมากขึ้นในการช่วยเหลือบุตรหลานทางด้านการเงินในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงส่งผลให้ตัวเลข NPL ในกลุ่มเหล่านี้เพิ่มขึ้น

ซึ่งมาตรการการช่วยเหลือประชาชนต้องคำนึงถึงข้อมูลส่วนนี้ด้วย เพราะแม้สถานการณ์โควิด-19 ได้ปรับตัวดีขึ้นแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และส่งผลต่อกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุที่มีรายได้ลดลง