“โอนเงินผิด” ไม่ต้องสืบประวัติ แค่แจ้งธนาคาร-แจ้งความ เช็กขั้นตอนที่นี่!

“โอนเงินผิด”  ไม่ต้องสืบประวัติ แค่แจ้งธนาคาร-แจ้งความ เช็กขั้นตอนที่นี่!

การทำธุรกรรมออนไลน์ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมไร้เงินสดอย่างปัจจุบัน และการ “โอนเงินผิด” ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่หลังจากโอนผิดแล้วควรทำอย่างไร แค่แจ้งธนาคารพอไหมหรือต้องแจ้งความ

ในยุคนี้หลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” แล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่ 100% ก็ตาม แต่การทำธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ผู้คนสมัยนี้มักใช้จ่ายผ่านแอปฯ ในมือถือเป็นหลักเช่น ซื้อสินค้าออนไลน์ ชำระบิล จ่ายค่าโดยสาร ไปจนถึงซื้อกับข้าวตามตลาดนัด เรียกได้ว่าผู้คนสมัยนี้เน้นการใช้จ่ายในรูปแบบของออนไลน์เป็นหลักแทบจะทุกวัน

พอใช้งานบ่อยๆ ก็อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ และเชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอปัญหา “โอนเงินผิด”  ซึ่งหากคุณรู้จักกับผู้รับโอนอยู่แล้ว การติดต่อให้ปลายทางโอนเงินกลับคืนมาให้ คงไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าในกรณีที่ไม่รู้จักกันเลย อาจเป็นเรื่องยากหากต้องการเงินคืน บางคนถึงกับต้องไปสืบค้นประวัติของผู้รับเงิน แต่ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

เมื่อมีการโอนเงินผิดเกิดขึ้น หลายคนอาจมีข้อสงสัยตามมาว่าจะต้องแจ้งความก่อนหรือไม่ หรือสามารถติดต่อธนาคารโดยตรงได้ทันที ? และประเด็นนี้ก็ทำเอาชาวเน็ตต่างปวดหัวไปตามๆ กัน เพราะบางคนก็อ้างว่าไม่ต้องแจ้งความก็ได้เงินคืน บ้างก็อ้างว่าพอไม่แจ้งความ ธนาคารก็ไม่ทำเรื่องขอคืนเงินให้ เพราะกลัวว่าจะเป็นมิจฉาชีพ ก่อนจะสับสนไปมากกว่านี้ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ได้สรุปขั้นตอนและข้อปฏิบัติมาให้แล้วว่า หากคุณ “โอนเงินผิด” เบื้องต้นควรทำอย่างไรบ้าง ?

  • เช็กข้อปฏิบัติและขั้นตอนต้องทำ หากพบว่า “โอนเงินผิด”

1. เตรียมเอกสารสำคัญที่จำเป็น ได้แก่ สลิปการโอนเงิน (ในกรณีโอนผ่านมือถือสามารถใช้ภาพที่บันทึกไว้ได้) และ บัตรประชาชน

2. แจ้งความกับตำรวจ เพื่อขอให้แจ้งความ (ใบแจ้งความ) หรือเพื่อขอลงบันทึกประจำวัน (ใบบันทึกประจำวัน)

3. นำเอกสารไปแจ้งกับธนาคาร โดยเป็นธนาคารที่เราเผลอโอนเงินผิดไปให้คนอื่น

  • รายละเอียดเอกสารสำหรับติดต่อธนาคาร

​​1. ชื่อธนาคารที่ทำรายการ ทั้งฝั่งต้นทางและปลายทาง

2. วันที่และเวลาที่ทำรายการ

3. จำนวนเงินที่โอน

4. ช่องทางการโอนเงิน เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ATM / CDM / VTM), Mobile Banking, Internet Banking

5. ชื่อบัญชี และ เลขที่บัญชี ของผู้ทำรายการโอน (บัญชีต้นทาง)

6. ชื่อบัญชี และ เลขที่บัญชี ของผู้ที่ได้รับ “โอนเงินผิด” (บัญชีปลายทางที่โอนผิด)

7. ชื่อบัญชี และ เลขที่บัญชี / หมายเลขพร้อมเพย์ ของปลายทางที่ต้องการโอนที่ถูกต้อง

หลังจากนั้นธนาคารจะดำเนินการคืนเงินให้กับเจ้าของบัญชี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30 - 45 วัน จะได้เงินคืน ซึ่งสิ่งสำคัญที่ธนาคารต้องการนอกจากเอกสารส่วนตัวและรายละเอียดการทำธุรกรรมแล้วก็คือ “ใบแจ้งความ” หรือ “ใบบันทึกประจำวัน” ว่าเกิดการโอนเงินผิดพลาดจริง ไม่ใช่มิจฉาชีพ เพราะฉะนั้นหากแจ้งที่ธนาคารเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถทำเรื่องขอเงินคืนได้

นอกจากนี้หากธนาคารไม่สามารถติดต่อผู้รับโอนเงินปลายทางได้ ผู้โอนจำเป็นต้องไปแจ้งความเพื่อ “ขอออกเอกสารตราครุฑ” ที่เรียกว่า “หมายเรียกพยานเอกสาร/พยานวัตถุ” เพื่อออกคำสั่งทางกฎหมายให้ธนาคารของผู้รับโอนเงินดำเนินการอายัดบัญชี หรือให้เปิดเผยข้อมูลบัญชีปลายทางให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

  • การสืบค้นข้อมูลผู้รับโอนเงิน เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ?

เมื่อเกิดการ “โอนเงินผิด” เกิดขึ้น บางคนอาจตกใจจนทำอะไรไม่ถูกและอาจจะเลือกที่จะสืบค้นข้อมูลส่วนตัวของผู้รับเงินปลายทาง(แม้จะไม่รู้จักกัน) โดยการนำเบอร์โทรศัพท์หรือชื่อ- นามสกุล ไปค้นหาในอินเตอร์เน็ตว่าเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร พักอาศัยอยู่ที่ไหน หรืออาจให้คนรู้จักช่วยหาข้อมูลบุคคลดังกล่าวและส่งมาให้เรา เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการหาวิธีที่จะได้เงินคืน แต่ความจริงแล้วการกระทำเช่นนี้อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (Personal Data Protection Act) หรือ “กฎหมาย PDPA”

เนื่องจากหลักเกณฑ์หลักของ กฎหมาย PDPA คือต้องขอความยินยอมจาก "เจ้าของข้อมูล" ก่อนการเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลเสมอ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะสืบค้นข้อมูลของอีกฝ่ายมาและไม่ได้เผยแพร่ต่อแบบสาธารณะ แต่มีการส่งต่อให้กับผู้อื่นก็ถือว่าละเมิดความเป็นส่วนตัวอีกฝ่ายทันที

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ถือว่าเป็น “ส่วนบุคคล” ตามข้อกำหนดของ PDPA หมายถึง ข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลที่ทำให้ระบุตัวบุคคลได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น

- เลขประจำตัวประชาชน ชื่อ-นามสกุล

- ที่อยู่

- เบอร์โทรศัพท์

- อีเมล

- ข้อมูลทางการเงิน

- เชื้อชาติ

- ศาสนาหรือปรัชญา

- พฤติกรรมทางเพศ

- ประวัติอาชญากรรม

- ข้อมูลสุขภาพ

และในส่วนของ ข้อมูลคนตาย ข้อมูลนิติบุคคล ไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายนี้

โดยเจ้าของข้อมูล หากพบข้อมูลของตนถูกเผยแพร่โดยไม่ได้รับการอนุญาต มีสิทธิขอให้ทำลายข้อมูลเหล่านั้นและเรียกร้องค่าสินไหมเป็นจำนวนเงินได้ตามความเหมาะสม 

โดยสรุปคือ หากพบว่าตนเองเผลอ “โอนเงินผิด” ออกไปแล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกก็คือ รวมรวบเอกสารหลักฐานที่จำเป็น เพื่อนำไปแจ้งความ ลำดับต่อมาคือการติดต่อธนาคาร พร้อมส่งเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นแก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้ทำเรื่องขอเงินคืนต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องสืบหาข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม เพราะนอกจากอาจจะไม่ได้เงินคืนหรือได้คืนช้าแล้ว อาจจะต้องเสียค่าสินไหมให้อีกฝ่ายเนื่องจากกระทำผิดกฎหมาย PDPA เพิ่มอีกด้วย

อ้างอิงข้อมูล : SCB