‘ขโมยลม’ ปัญหาที่ยุโรปเจอ เมื่อลมมีจำกัด เกิดสงครามแย่งกันเอง

‘ขโมยลม’ ปัญหาที่ยุโรปเจอ เมื่อลมมีจำกัด เกิดสงครามแย่งกันเอง

สงครามขโมยลม ปัญหาใหญ่ที่ยุโรปเจอ เมื่อลมมีจำกัด ฟาร์มกังหันลมต้องแย่งกันเอง ขัดขวางการมุ่งสู่พลังงานสะอาด

KEY

POINTS

  • “Wake Effect” เกิดขึ้นเมื่ออากาศเดินทางมากระทบกับกังหันลมของฟาร์มกังหันลม ลมบางส่วนถูกขัดขวาง จนทำให้ลมที่พัดผ่านจากกังหันลมที่ตั้งอยู่ด้านล่างมีกำลังน้อยลง หรือเรียกว่า “การขโมยลม” (Wind theft) 
  • ผลกระทบจากการขโมยลมรุนแรงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจทำให้ฟาร์มกังหันลมในระยะ 60 กิโลเมตรได้รับลมน้อยลง
  • เบลเยียมถูกกล่าวหาว่าขโมยลมจากเนเธอร์แลนด์ ขณะที่เนเธอร์แลนด์เองก็ถูกกล่าวหาว่าทำให้ลมที่เยอรมนีอ้างสิทธิ์มีกำลังลดลง

พลังงานลม” เป็นหนึ่งในพลังงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในยุคที่โลกต้องการลดการใช้เชื้อเพลิงพลังงานฟอสซิล เพื่อช่วยยับยั้งวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะทวีปยุโรป ที่ประเทศต่าง ๆ มี “ฟาร์มกังหันลม” จำนวนมาก แต่ “ลม” ก็มีอยู่จำกัด จนทำให้เกิดการขโมยลมโดยที่ไม่ตั้งใจ

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Wake Effect” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่ออากาศเดินทางมากระทบกับกังหันลมของฟาร์มกังหันลม ลมบางส่วนถูกขัดขวาง จนทำให้ลมที่พัดผ่านจากกังหันลมที่ตั้งอยู่ด้านล่างมีกำลังน้อยลง หรือเรียกว่า “การขโมยลม” (Wind theft

ปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นในอังกฤษ เมื่อบริษัทต่าง ๆ ที่ทำธุรกิจผลิตพลังงานลมด้วยกังหันลม เช่น Ørsted, RWE, Scottish Power, Total และ Equinor ต่างห้ำหั่นว่าใครจะได้สิทธิ์ก่อน และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อที่จะสามารถผลิตพลังงานให้คุ้มกับการลงทุนหลายล้านดอลลาร์ และให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศที่จะใช้ระบบไฟฟ้าสะอาดภายในปี 2030

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและสามารถเดินไปตามเป้าหมาย เอ็ด มิลลิแบนด์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ทำการศึกษาวิจัยในระดับชาติ สำหรับหาวิธีการคำนวณผลกระทบของลม ผลกระทบต่อรายได้ และวิธีป้องกันหรือแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศใกล้เคียง

ปัญหาการขโมยลม เกิดขึ้นในยุโรปมาก่อนแล้ว โดยเบลเยียมถูกกล่าวหาว่าขโมยลมจากเนเธอร์แลนด์ ขณะที่เนเธอร์แลนด์เองก็ถูกกล่าวหาว่าทำให้ลมที่เยอรมนีอ้างสิทธิ์มีกำลังลดลง

“ปัญหาหลักสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานลมก็คือ ในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนมากมาย และความไม่แน่นอนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับโครงการที่ลงทุนไปแล้ว” พาโบล โอโร ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นผู้นำในการศึกษาวิจัยครั้งนี้กล่าว 

ในตอนแรกอุตสาหกรรมกังหันลมนอกชายฝั่งไม่ได้ประสบปัญหานี้มากนัก จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้ ที่กังหันลมเองก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งพื้นทะเลที่เหมาะแก่การติดตั้งกังหันลมแบบติดตั้งถาวรมีจำกัด และเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ 

ช่วงกลางทศวรรษ 2010 กังหันลมทั่วไปมีความสูงเกือบ 200 เมตร แต่ปัจจุบัน กังหันลมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างกังหันลมที่สร้างในเมืองแบรเดนเบิร์ก ประเทศเยอรมนี อาจมีความสูงได้ถึง 364 เมตร ซึ่งสูงกว่าตึกเดอะชาร์ดในลอนดอน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในตึกที่สูงที่สุดในยุโรป ด้วยความสูง 309.6 เมตร

เมื่อกังหันลมมีขนาดใหญ่ขึ้น ผลกระทบจากการขโมยลมก็จะรุนแรงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจทำให้ฟาร์มกังหันลมในระยะ 60 กิโลเมตรได้รับลมน้อยลง หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลาหลายปี ก็สามารถทำให้เกิดผลกระทบทางการเงินแก่ผู้ผลิตได้

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรงเกินกว่า 4-5% แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับฟาร์มกังหันลมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบในระยะเวลานานกว่า 1 ปี ถือเป็นเงินจำนวนมากทีเดียว” โอโรกล่าว

Ørsted และ Equinor กล่าวว่าฟาร์มกังหันลมของ Outer Dowsing ที่บริเวณนอกชายฝั่งยอร์กเชียร์อาจทำให้บริษัทสูญเสียรายได้รวม 490 ล้านดอลลาร์ โดย Ørsted ประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อโครงการ Race Bank, Hornsea 1 และ Hornsea 2 ของบริษัท ทำให้สูญเสียผลผลิต 0.52%, 0.67% และ 0.68% ตามลำดับ คิดเป็นความเสียหาย 269 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน Equinor กล่าวว่าโครงการ Dudgeon และ Sheringham Shoal จะสูญเสียการผลิต 0.88% และ 0.76% ตามลำดับ โดยการขยายโครงการที่วางแผนไว้ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน บริษัทคาดการณ์ว่าผลกระทบสะสมอาจสูญเสียรายได้มากถึง 222 ล้านดอลลาร์

ทางด้าน Iberdrola เจ้าของบริษัทพลังงาน ScottishPower กล่าวหาว่าโครงการ Five Estuaries ที่ RWE บริษัทพลังงานข้ามชาติกำลังจะสร้าง จะทำให้ผลผลิตของฟาร์มกังหันลม East Anglia 2 ลดลงถึง 2.1% ทำให้ RWE ออกมาโต้กลับพร้อมระบุว่า East Anglia 2 ก็ขโมยลมจากฟาร์มกังหันลม Greater Gabbard เช่นกัน

ในทะเลไอริชก็กำลังเกิดข้อพิพาทเช่นกัน Ørsted ระบุว่าโครงการของ EnBW, BP และ Flotation Energy ที่จะสร้างในอนาคต จะทำให้ฟาร์มกังหันลมของบริษัทได้รับผลกระทบ

จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา Tamarindo ระบุว่า โครงการพลังงานลมราว 20 กิกะวัตต์  ตกอยู่ภายใต้ข้อพิพาทเรื่องการขโมยพลังงานลม โดยเกสเตอร์ กันน์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านพลังงานหมุนเวียนของ RWE ได้เตือนว่าการยุติข้อพิพาทดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เนื่องจากการคำนวณตัวเลขผลกระทบที่แม่นยำนั้นทำได้ยากขึ้น เพราะตอนนี้ทิศทางลมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วลมที่พัดทั่วสหราชอาณาจักรจะมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ก็ตาม

“ในการประเมินความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการขโมยลม เราต้องใช้ผลกระทบโดยเฉลี่ยจากสภาพอากาศทั้งหมด ต่อให้เกิดการขโมยลมรุนแรงและเกิดในทิศทางเดียว ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยเป็นผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น น้อยกว่า 1% ตลอดทั้งปี” กันน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม โฆษกของ Equinor กล่าวว่าผลกระทบจากการโขมยลมเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการพัฒนาในอนาคต และมักถูกประเมินต่ำเกินไป เพราะความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาเหล่านี้อาจจะทำให้โครงการสร้างผลิตกังหันลมนอกชายฝั่งของมิลลิแบนด์ล่าช้าลง

ปัจจุบันสหราชอาณาจักรมีกังหันลมนอกชายฝั่งประมาณ 2,800 เครื่อง โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 15 กิกะวัตต์ มิลลิแบนด์ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสามเท่าเป็น 50 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 และตั้งใจจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็นประมาณ 77 กิกะวัตต์ในแผนงาน ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องเพิ่มกังหันลมอีก 8,000 เครื่อง

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้รับผิดชอบในการให้เช่าพื้นทะเลแก่ผู้พัฒนาฟาร์มลม ได้ใช้มาตรการบางอย่างเพื่อลดผลกระทบของการขโมยลมแล้ว เช่น การรับรองว่ามี “เขตกันชน” ระหว่างฟาร์มลม แต่เจ้าหน้าที่ยังหวังว่าจะพัฒนาแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับการจัดการกับการขโมยลมได้ในไม่ช้านี้ หลังจากที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เสร็จสิ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงวิธีการออกแบบเขตกันชนเหล่านี้

ไม่เพียงแต่ยุโรปเท่านั้น ที่กำลังเร่งทำความเข้าใจผลกระทบของการขโมยให้ดีขึ้น นักวิจัยของจีนก็กำลังศึกษาผลกระทบที่รุนแรงขึ้นของการขโมยลมที่เกิดกับฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่งของจีนเช่นกัน


ที่มา: BBCFuturismTelegraph