ตรวจสารหนูล่าสุด เกินทุกจุด แม่น้ำกก-สาย-โขง ภัยเงียบจากเหมืองเพื่อนบ้าน

ตรวจสารหนูล่าสุด เกินทุกจุด แม่น้ำกก-สาย-โขง ภัยเงียบจากเหมืองเพื่อนบ้าน

ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำตามมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน จากการเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 26 - 30 พฤษภาคม 2568

KEY

POINTS

  • เหมืองทองคำและโลหะในรัฐฉาน ใช้สารเคมี (เช่น สารหนู) ในการสกัดแร่
  • สารพิษไหลข้ามพรมแดนเข้าสู่แม่น้ำในไทยโดยไม่มีการควบคุม
  • แผนเฝ้าระวังปี 2568 ตรวจน้ำเดือนละ 2 ครั้ง ตรวจตะกอนดินเดือนละ 1 ครั้ง (พ.ค. - ก.ย. 2568)
  • ตรวจแม่น้ำกก 15 จุด พบสารหนูเกินทุกจุด (สูงสุด 0.023 มก./ล.)
  • แม่น้ำสาย 3 จุด และแม่น้ำโขง 2 จุด พบสารหนูเกินมาตรฐานทั้งหมด
  • แม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำกก ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งใหม่ เมื่อผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง พบการปนเปื้อนของ “สารหนู” (Arsenic) เกินมาตรฐานทุกจุดที่ตรวจวัด สาเหตุสำคัญเกิดจากกิจกรรมเหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่ใช้สารเคมีในการสกัดแร่โดยไม่มีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ

แหล่งต้นน้ำของแม่น้ำกกในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เป็นพื้นที่ที่มีการทำเหมืองทองคำและโลหะหนักจำนวนมาก โดยใช้สารเคมีอันตรายอย่าง “สารหนู” ในกระบวนการสกัดโลหะออกจากแร่ดิบ เมื่อเกิดฝนตกหนักหรือการชะล้างจากดินที่ถูกขุดถลุง สารพิษเหล่านี้จะไหลลงสู่ลำธารต้นน้ำ ก่อนเดินทางเข้าสู่แม่น้ำกกและแม่น้ำสายในฝั่งประเทศไทย โดยไร้มาตรการควบคุมที่ชัดเจนจากต้นทาง

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำและตะกอนดินในพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญของภาคเหนือ ได้แก่ แม่น้ำกก จำนวน 15 จุด (รหัส KK01 – KK15) พร้อมทั้งลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำกก ได้แก่ แม่น้ำฝาง (FA01), แม่น้ำลาว (LA01), แม่น้ำกรณ์ (KO01) และแม่น้ำสรวย (SU01)

นอกจากนี้ ยังได้ขยายการตรวจวัดไปยังแม่น้ำสาย 3 จุด (SA01 – SA03) และแม่น้ำโขงอีก 2 จุด (NK01 – NK02) ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ในแนวพรมแดนและมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารพิษข้ามพรมแดน

ตรวจสารหนูล่าสุด เกินทุกจุด แม่น้ำกก-สาย-โขง ภัยเงียบจากเหมืองเพื่อนบ้าน

แผนการดำเนินงานฯ 2568

สำหรับแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2568 กำหนดระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน 2568 โดยมีแนวทางการเก็บตัวอย่างดังนี้

  • เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจวัดคุณภาพ เดือนละ 2 ครั้ง
  • เก็บตัวอย่างตะกอนดิน เดือนละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน 2568

ทั้งนี้ ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำจากการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 4 ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2568 ได้ถูกนำมาวิเคราะห์เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการปนเปื้อนของสารพิษ โดยเฉพาะสารหนู (Arsenic) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ตรวจสารหนูล่าสุด เกินทุกจุด แม่น้ำกก-สาย-โขง ภัยเงียบจากเหมืองเพื่อนบ้าน

ตรวจ “แม่น้ำกก” เกินทั้ง 15 จุด

“แม่น้ำกก” จำนวน 15 จุด โดยอยู่ในพื้นที่บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ 3 จุด และจังหวัดเชียงราย 12 จุด พบว่า “สารหนู” (As) เกินมาตรฐาน 0.010 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ล.) ทั้ง 15 จุด ดังนี้

  • KK01 ชายแดนไทย-พม่า ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีค่าสารหนู 0.016 (มก./ล.)
  • KK02 สะพานมิตรภาพแม่นาวาง-ท่าตอน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย มีค่าสารหนู 0.017 มก./ล.
  • KK03 สะพานสองดินแดนบ้านแม่สลัก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีค่าสารหนู 0.015 มก./ล.
  • KK04 บ้านจะเด้อ หมู่ 6 ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.022 มก./ล.
  • KK05 สะพานมิตรภาพแม่ยาว-ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.022 มก./ล.
  • KK06 บ้านโป่งนาคำ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.023 มก./ล.
  • KK07 สะพานข้ามแม่น้ำกก ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.016 มก./ล.
  • KK08 สะพานแม่ฟ้าหลวง ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.018 มก./ล.
  • KK09 สะพานเฉลิมพระเกียรติ1 ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.020 มก./ล.
  • KK10 ฝายเชียงราย ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.022 มก./ล.
  • KK11 สะพานริมกก-เวียงเหนือรวมใจ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.020 มก./ล.
  • KK12 สะพานโยนกนาคนคร ต.แม่ข้าวต้ม อ.เมือง มีค่าสารหนู  0.015 มก./ล.
  • KK013 ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน มีค่าสารหนู  0.015 มก./ล.
  • KK014 ต.หนองป่าก่อ อ.ดอยหลวง มีค่าสารหนู  0.015 มก./ล.
  • KK015 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน มีค่าสารหนู  0.013 มก./ล.

แม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำกก (แม่น้ำฝาง แม่น้ำกรณ์ แม่น้ำลาว และแม่น้ำสรวย) คุณภาพน้ำมีค่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

“แม่น้ำสาย” เกินมาตรฐาน ทั้ง 3 จุด

  • SA01 บ้านหัวฝาย ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.027 มก./ล.
  • SA02 สะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 2 อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.038 มก./ล.
  • SA03 บ้านป่าซางงาม ม.6 ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.031 มก./ล.

“แม่น้ำโขง” เกินมาตรฐาน ทั้ง 2 จุด

  • NK01 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.018 มก./ล.
  • NK02 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีค่าสารหนู 0.014 มก./ล.

ข้อมูลวิเคราะห์ชี้ถึง 3 ประเด็นสำคัญ

  • พบค่าสารหนูและความขุ่นสูงในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา

จุดตรวจในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายที่อยู่ใกล้พรมแดนล้วนพบความขุ่นของน้ำเกินค่าปกติ และพบโลหะหนัก "สารหนู" ในระดับสูง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับกิจกรรมเหมืองแร่ในฝั่งเมียนมา

  • แม่น้ำโขงอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากแม่น้ำสาย

จากการวิเคราะห์เบื้องต้น ค่าสารหนูในแม่น้ำโขงอาจมีความเชื่อมโยงกับการไหลรวมของแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกก่อนลงสู่แม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากต้นทางที่ไหลมาจาก สปป.ลาว เพื่อยืนยันสาเหตุอย่างเป็นระบบ

  • ฤดูฝนส่งผลให้สารปนเปื้อนถูกชะล้างและกระจายตัวมากขึ้น

การตรวจวัดครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน (หลังวันที่ 15 พ.ค. 2568) น้ำมีความขุ่นสูง กระแสน้ำแรง และมีการเปิดประตูระบายน้ำจากฝายเชียงรายเพื่อชลประทานและระบายน้ำหลาก ตะกอนจากต้นน้ำจึงถูกชะล้างและพัดพาสารปนเปื้อนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ค่าสารหนูในแม่น้ำกกและสายเกินมาตรฐานในทุกจุดที่ตรวจวัด

เร่งตรวจวัดรอบใหม่ วางแนวทางรับมือ

กรมควบคุมมลพิษยังคงดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยได้เก็บตัวอย่างน้ำรอบที่ 5 ระหว่างวันที่ 9 – 13 มิถุนายน 2568 เพื่อเปรียบเทียบผลและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เมื่อผลการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการแล้วเสร็จ คพ.จะประกาศผลให้ประชาชนรับทราบ พร้อมนำข้อมูลไปใช้ประกอบการวางมาตรการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบต่อชุมชนที่ใช้น้ำในชีวิตประจำวัน