‘จีน’ สร้าง ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’ เอื้อนายทุน ไม่ให้พลังงานหมุนเวียนแซงหน้า

จีนอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุดในรอบ 10 ปี เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน
KEY
POINTS
- ในปี 2024 จีนอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เกือบ 100 กิกะวัตต์ ทำให้การอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015
- มากกว่า 75% โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เพิ่งได้รับการอนุมัติได้รับเงินทุนจากบริษัทหรือกลุ่มพลังงานที่ดำเนินการเหมืองถ่านหิน
- โครงสร้างนโยบายหลายประการยังคงเอื้อต่อการใช้พลังงานถ่านหิน และปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมนี้อยู่
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ในปี 2024 จีนอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ 94.5 กิกะวัตต์ และกลับมาสร้างโครงการที่ถูกระงับ 3.3 กิกะวัตต์อีกครั้ง ขณะที่อินเดียอนุมัติอีก 15 กิกะวัตต์ ทำให้การอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015
ฟาติห์ บิโรล กรรมการบริหาร IEA กล่าวว่า “กำลังการผลิตถ่านหินกำลังเพิ่มขึ้น แต่เรายังเห็นว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตในจีนต่ำกว่าในปีก่อน ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วจีนเพิ่มกำลังการผลิต เมื่อเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการตอบสนองความต้องการไฟฟ้า”
IEA กล่าวว่าการลงทุนในแหล่งถ่านหินยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 4% ในปี 2025 ซึ่งถือว่าชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 6% ที่เห็นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
“การเติบโตเกือบทั้งหมดในการลงทุนด้านถ่านหินในปี 2024 มาจากจีนและอินเดียเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ” รายงานระบุ
ขณะที่ รายงานร่วมฉบับใหม่ของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด (CREA) และ องค์กรติดตามพลังงานโลก (GEM) เตือนว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสูพลังงานสะอาดในจีน
นักวิเคราะห์คาดว่า การผลิตพลังงานสะอาดจำนวนมหาศาลของจีนจะค่อย ๆ ลดส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลง ซึ่งเป็นไปตามแผนการบรรลุเป้าหมาย “คาร์บอนคู่” (dual-carbon) ซึ่งเป็นการจำกัดการปล่อยคาร์บอนให้สูงสุดภายในปี 2030 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060
แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างรวดเร็วกำลังสร้างความท้าทาย ต่อพันธกรณีระดับสูงด้านสภาพภูมิอากาศของจีน รวมถึงการลดการใช้ถ่านหิน โดย CREA และ GEM แนะนำว่าจีนควรยุติการอนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ตลอดจนตลาดพลังงานและการปฏิรูปโครงข่ายไฟฟ้า
บริษัทที่ทำเหมืองถ่านหินหันมาลงทุนมากขึ้นในโครงการพลังงานถ่านหิน รายงานระบุว่ามากกว่า 75% โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เพิ่งได้รับการอนุมัติได้รับเงินทุนจากบริษัทหรือกลุ่มพลังงานที่ดำเนินการเหมืองถ่านหิน ซึ่งเป็นการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพของการใช้ถ่านหินในระดับมณฑล
รายงานยังระบุด้วยว่า มณฑลที่ผลิตถ่านหินรายใหญ่ เช่น ซินเจียง มองโกเลียใน ชานซี และกานซู่ ก็มีการดำเนินการและสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดเช่นกัน
การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างรวดเร็ว อาจเป็นความพยายามสกัดกั้นไม่ให้พลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักภายในประเทศ เนื่องจากในปี 2024 จีนเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 890 กิกะวัตต์ ส่วนพลังงานลมเพิ่มขึ้นเป็น 520 กิกะวัตต์ ขณะที่พลังงานถ่านหินอยู่ที่ 1,200 กิกะวัตต์
นอกจากนี้ โครงสร้างนโยบายหลายประการยังคงเอื้อต่อการใช้พลังงานถ่านหิน และปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมนี้อยู่ โดยโครงข่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่เลือกใช้พลังงานถ่านหินผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น สัญญาซื้อไฟฟ้าระยะกลางถึงระยะยาวและข้อตกลงจัดหาถ่านหินระยะยาว ซึ่งผูกมัดให้มณฑลต่าง ๆ ต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในปริมาณหนึ่ง แม้ว่าแหล่งพลังงานไฟฟ้าอื่น ๆ จะคุ้มทุนกว่าก็ตาม
แม้รัฐบาลของจังหวัดต่าง ๆ จะยกเลิกกำหนดให้ข้อตกลงการซื้อขายพลังงาน (PPA) แต่ก็ต้องรวมเอาส่วนแบ่งขั้นต่ำของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเข้าไว้ด้วย ส่งผลให้สนามแข่งขันไม่เท่าเทียมกัน โดยพลังงานถ่านหินยังคงได้รับการคุ้มครองจากความเสี่ยง ขณะที่ผู้พัฒนาพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาและความต้องการที่ไม่แน่นอน
นอกจากนี้ การพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่จะจำกัดพื้นที่โครงข่ายไฟฟ้าสำหรับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมไม่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างมีนัยสำคัญ
ตามการคำนวณในรายงาน พบว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 อัตราการลดลงของพลังงานหมุนเวียนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.5% ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจาก ข้อจำกัดทางโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ต่อถ่านหิน ไม่ได้มาจากปัญหาสภาพอากาศที่ทำให้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมน้อยลง
รายงานของ CREA และ GEM แนะนำว่าจะต้องมีการกำหนดทิศทางนโยบายที่เข้มแข็งในปี 2025 เพื่อต่อต้านการครอบงำของถ่านหินในระบบพลังงาน โดยจำเป็นต้องลดปริมาณถ่านหินในระบบพลังงาน ด้วยการกำหนดเป้าหมายที่ทะเยอทะยานและวัดผลได้ในการลดการใช้ถ่านหิน เช่น ยุติการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่อนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ และเร่งการปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่า ๆ
ประการที่สอง รายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงการปฏิรูปกลไกที่ชี้นำผู้ให้บริการไฟฟ้าให้หันมาใช้ถ่านหิน รวมถึงการลดปริมาณถ่านหินที่ครอบคลุมอยู่ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวและข้อตกลงจัดหาถ่านหิน และให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงข่ายไฟฟ้าและการพัฒนาตลาดซื้อขายทันที
แม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินและการใช้พลังงานจากแหล่งคาร์บอนเข้มข้นอื่น ๆ จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในบางประเทศ และขัดขวางการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของโลก แต่เมื่อดูการลงทุนในพลังงานสะอาดทั่วโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่การลงทุนในพลังงานสะอาดจะสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 2 เท่า ในปี 2025
รายงานของ IEA คาดว่า การลงทุนด้านพลังงานในปี 2025 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 3.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปี 2024 โดยจะมีเงินทุน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ที่ไหลเข้าสู่พลังงานหมุนเวียน นิวเคลียร์ โครงข่ายไฟฟ้า ระบบกักเก็บ เชื้อเพลิงปล่อยมลพิษต่ำ ด้านประสิทธิภาพและการปล่อยกระแสไฟฟ้า ขณะที่การลงทุนในด้านปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน จะอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์
แนวโน้มนี้เกิดจากความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากภาคอุตสาหกรรม ระบบทำความเย็น การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ศูนย์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ รายงานของ IEA ระบุว่า “การลงทุนในโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ทันกับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและการใช้งานพลังงานหมุนเวียน”
คาดว่าในปี 2025 จะมีการใช้จ่ายด้านพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในระดับสาธารณูปโภคและบนหลังคาจะสูงถึง 450,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เป็นการลงทุนด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ที่มา: Bloomberg, Carbon Brief, Power Technology, Reuters