ผลสำรวจ Booking.com นักท่องเที่ยวไทย ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น

การเดินทางอย่างยั่งยืนไม่เพียงแต่เป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโต แต่ยังเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้เดินทางและชุมชนท้องถิ่น การตระหนักรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของผู้เดินทางชาวไทยในปี 2568 นี้ เป็นสัญญาณที่ดีของการเดินทางที่ใส่ใจโลกและชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
KEY
POINTS
- การเดินทางอย่างยั่งยืนไม่เพียงแต่เป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโต แต่ยังเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้เดินทางและชุมชนท้องถิ่น
- การตระหนักรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของผู้เดินทางชาวไทยในปี 2568
- เป็นสัญญาณที่ดีของการเดินทางที่ใส่ใจโลกและชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ในปี 2568 นี้ Booking.com ได้เผยแพร่รายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนฉบับครบรอบ 10 ปี ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมและทัศนคติของผู้เดินทางทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเดินทาง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ผู้เดินทางเริ่มตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น
ความตระหนักของนักเดินทางชาวไทย
ผลการสำรวจพบว่า 68% ของผู้เดินทางชาวไทย (และ 53% ของผู้เดินทางทั่วโลก) ตระหนักถึงผลกระทบของการเดินทางที่มีต่อชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม โดย 82% ของผู้เดินทางชาวไทย (69% ของผู้เดินทางทั่วโลก) ต้องการให้จุดหมายปลายทางที่พวกเขาไปเยือนดีขึ้นกว่าเดิมหลังจากที่เดินทางกลับ
นอกจากนี้ ผู้เดินทางชาวไทยจำนวน 65% รู้สึกว่าการท่องเที่ยวในภาพรวมมีผลกระทบเชิงบวกกับสถานที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจที่จะสนับสนุนและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
การเดินทางอย่างยั่งยืนกลายเป็นกระแสหลัก
การเดินทางที่คำนึงถึงผลกระทบเชิงบวกต่อจุดหมายปลายทาง ชุมชนท้องถิ่น และระบบนิเวศได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เดินทางชาวไทยที่ยังคงให้ความสำคัญกับความยั่งยืนถึง 95% และระบุว่าต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นในปีนี้
อย่างไรก็ตาม แนวปฏิบัติอย่างยั่งยืน เช่น การลดขยะและการประหยัดพลังงาน ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้เดินทางให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
Danielle D’Silva ผู้ดำรงตำแหน่ง Head of Sustainability ของ Booking.com กล่าวว่า เพื่อให้ทั้งผู้คนท้องถิ่นและผู้เดินทางมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถเพลิดเพลินขณะใช้เวลาอยู่ในจุดหมายปลายทางต่างๆ การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมในจุดหมายนั้นๆ จำเป็นต้องพัฒนาให้ทันกับความตั้งใจของผู้เดินทาง
"ในฐานะผู้นำด้านการเดินทาง เราต้องการที่จะช่วยให้ทุกคน ทั้งผู้เดินทางและพันธมิตรของเรารู้สึกมั่นใจว่าสิ่งที่พวกเขาเลือกจะสามารถช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับจุดหมายปลายทางที่พวกเขาได้ไปเยือน ซึ่งรวมถึงการแนะนำที่พักที่ได้การรับรองด้านความยั่งยืนจากพันธมิตรของเรา หรือโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อแนะนำแนวทางด้านการดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืนให้แก่ที่พักคู่ค้าของเรา ตลอดจนวิธีการทำงานกับชุมชนท้องถิ่นและการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา”
ใส่ใจชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่น
ผู้เดินทางชาวไทยมีความกระตือรือร้นในการลดผลกระทบในสถานที่ที่พวกเขาไปเยือน เช่น การเดินทางในช่วงโลว์ซีซัน (42%) หรือเลือกท่องเที่ยวในจุดหมายปลายทางนอกกระแสหรือเมืองรองเพื่อลดความแออัด (42%) ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางการเดินทางอย่างมีความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้เดินทาง
การสำรวจยังพบว่า ผู้คนท้องถิ่นในประเทศไทยมากกว่าครึ่งได้แสดงความคิดเห็นในเชิงบวกเกี่ยวกับพฤติกรรมการเดินทางของผู้เดินทางชาวไทย โดย 67% กล่าวว่าผู้เดินทางที่มาเยือนในพื้นที่ของพวกเขาเคารพวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ส่วน 74% ระบุว่าผู้เดินทางชาวไทยสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น
นอกจากนี้ 89% ของผู้เดินทางชาวไทยต้องการให้ค่าใช้จ่ายในขณะเดินทางของพวกเขาหมุนเวียนกลับสู่ชุมชนท้องถิ่น และ 88% มองหาสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตที่แท้จริงของผู้คนในจุดหมายปลายทางที่พวกเขาไปเยือน
ความท้าทาย
แม้ว่าผู้คนท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์จากการมาเยือนของผู้เดินทางที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญจากการท่องเที่ยว เช่น การจราจรติดขัด (39%), การทิ้งขยะ (41%), ความแออัด (31%) และค่าครองชีพสูงขึ้น (28%)
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้คนท้องถิ่นได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ในชุมชนของพวกเขา โดยเฉพาะในเรื่องของการคมนาคม (45%), การจัดการขยะที่ดีขึ้น (54%) และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (45%)
บทบาทของ AI ในการเดินทาง
ในปี 2568 เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI จะมีบทบาทสำคัญในการเดินทาง โดย 83% ของผู้เดินทางชาวไทยจะใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาข้อมูลและประสบการณ์ท้องถิ่นที่แท้จริง ขณะที่ 75% ของผู้เดินทางชาวไทยยังให้ความสนใจกับการใช้ AI ในการวางแผนการเดินทาง
เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้ผู้เดินทางสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนได้ง่ายขึ้น เช่น การค้นหาที่พักที่ได้รับการรับรองด้านความยั่งยืน หรือการเลือกกิจกรรมที่สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น