กำแพงชายแดนสหรัฐ คุกคาม ‘สัตว์ป่า’ ข้ามฝั่งหาอาหารไม่ได้ เสี่ยงสูญพันธุ์

กำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐ-เม็กซิโก” ของโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังคุกคาม “สัตว์ป่า” ข้ามไปหาอาหารไม่ได้ เสี่ยงสูญพันธุ์ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ
KEY
POINTS
- กำแพงชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก เป็นเสาเหล็กสูง 30 ฟุต และห่างกันเพียง 4 นิ้ว ป้องกันไม่ให้คนหลบหนีเข้าเมือง แต่ด้วยช่องว่างที่แคบขนาดนี้สัตว์ป่าต่าง ๆ ก็ไม่สามารถผ่านไปได้ด้วยเช่นกัน
- เมื่อสัตว์ข้ามไปไม่ได้ พฤติกรรมของสัตว์ก็จะเปลี่ยนไป และสัตว์บางชนิดขาดอาหารและแหล่งน้ำที่สำคัญ สุดท้ายแล้วสัตว์เหล่านี้อาจจะสูญพันธุ์ได้
- การศึกษาในปี 2024 พบว่าสัตว์ป่าที่ข้ามผ่านชายแดนลดลง 86% และสัตว์อย่างหมาป่า หมี แอนทิโลป และเสือจากัวร์ลดลง 100%
“กำแพงชายแดน” ระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี 2017 ตามนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในสมัยที่เขาเป็นประธานาธิบดีรอบแรก และสร้างต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน โดยล่าสุดกำลังจะสร้างกำแพงในบริเวณ “หุบเขาซานราฟาเอล” ภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในสหรัฐ ซึ่งจะทำให้สัตว์ป่าไม่สามารถข้ามไปมาได้ตามปรกติ
หุบเขาซานราฟาเอล (San Rafael Valley) ในรัฐแอริโซนา มีเขตทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ทอดยาวข้ามทะเลทรายสูง ล้อมรอบด้วยทิวเขาสูงชันที่แยกตัวอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งเรียกว่า “สกายไอแลนด์” (sky islands) เนื่องจากทิวเขาเหล่านี้ตั้งตระหง่านอย่างโดดเด่นท่ามกลางพื้นที่ราบอันแห้งแล้ง
“นี่คือทางเดินสัตว์ป่าที่สำคัญ สัตว์นักล่าขนาดใหญ่และสัตว์อื่น ๆ เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในภูมิประเทศนี้ แต่หลังจากสร้างกำแพงแล้วพวกมันจะไม่สามารถเดินข้ามไปมาได้อีก” แอมอน แฮร์ริตี้ ผู้จัดการโครงการสัตว์ป่าของ Sky Island Alliance องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านการอนุรักษ์กล่าว
สำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดน (CBP) เปิดประมูลโครงการก่อสร้างกำแพงชายแดนความยาวเกือบ 40 กิโลเมตร กั้นระหว่างชายแดนสหรัฐและเม็กซิโก และอาจมีการสร้างกำแพงเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากรัฐสภาได้รวมงบประมาณ 46,500 ล้านดอลลาร์ สำหรับการสร้างกำแพงไว้ในงบประมาณที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเสนอ
“มันเป็นโครงการที่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่จำเป็น และเป็นหายนะต่อสิ่งแวดล้อม หากสร้างเสร็จ กำแพงนี้จะตัดขาดทวีปทั้งทวีป” แฮร์ริตี้กล่าวถึงกำแพงกั้นซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 30 ล้านดอลลาร์ต่อไมล์
เพื่อไม่ให้ผู้คนสามารถหลบหนีเข้ามาในประเทศได้ กำแพงจึงเป็นเสาเหล็กสูง 30 ฟุต และห่างกันเพียง 4 นิ้ว แต่ด้วยช่องว่างที่แคบขนาดนี้สัตว์ป่าต่าง ๆ ก็ไม่สามารถผ่านไปได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากจะสร้างกำแพงแล้ว ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาทรัมป์ได้กำหนดให้โอนพื้นที่ของรัฐบาลกลางกว้าง 18 เมตรที่ทอดยาวตามแนวชายแดนในแคลิฟอร์เนีย แอริโซนา และนิวเม็กซิโก ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “Roosevelt reservation” ให้กับกองทหารสหรัฐ เพื่อเป็นฐานทัพทหารและพื้นที่รอคอยกองพัน (Staging Areas)
จากการดำเนินการของปรับที่ดินข้างกำแพงของรัฐเท็กซัส เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถลาดตระเวนได้ แสดงให้เห็นว่าสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไฟส่องสว่างจ้าในยามกลางคืน จะทำให้เหล่านกและแมลงสับสน
ในรัฐแอริโซนา ชายแดนถูกปิดไปแล้ว 63% และพื้นที่ที่เหลือมีความสำคัญต่อสัตว์ป่า โดยหุบเขาซานราฟาเอลเป็นทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในทะเลทรายโซโนรัน และแห่งสุดท้ายในรัฐ นอกจากยังมีนี้ภูเขาฮัวชูคาและภูเขาปาตาโกเนีย ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ต่าง ๆ
“ความหลากหลายทางชีวภาพที่นี่น่าทึ่งมาก มีระบบนิเวศสำคัญอันหลากหลาย และเป็นหัวใจของระบบนิเวศ” เอริก เมซา ผู้ประสานงานพื้นที่ชายแดนของกลุ่มสนับสนุนสิ่งแวดล้อม Sierra Club กล่าว
หุบเขาซานราฟาเอลมีทั้งหมี สิงโตภูเขา และหมาป่า รวมถึงยังมีสัตว์สายพันธุ์กึ่งเขตร้อน เช่นหมูป่าทะเลทรายจาเวลินา และสัตว์ตระกูลแมวใหญ่หายาก เช่น แมวออเซลอตและเสือจากัวร์ ซึ่งมีอาณาเขตตามธรรมชาติหลายร้อยไมล์ระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อหาอาหาร น้ำ และคู่ผสมพันธุ์
เครดิตภาพ: Wildlands Network
วิกฤติสภาพอากาศทำให้ภัยแล้งทางตะวันตกเฉียงใต้รุนแรงขึ้น ดังนั้นสัตว์ป่าในบริเวณชายแดนจะต้องขยายอาณาเขตออกไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อหาอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ข้ามไปไม่ได้ พฤติกรรมของสัตว์ก็จะเปลี่ยนไป และสัตว์บางชนิดขาดอาหารและแหล่งน้ำที่สำคัญ สุดท้ายแล้วสัตว์เหล่านี้อาจจะสูญพันธุ์ได้
“เสือจากัวร์ในแอริโซนาอาจจะหายไป เสือภูเขาอาจจะน้อยลงและอยู่ห่างไกลออกไป และเต่าทะเลทรายที่อยู่ตามแนวชายแดนก็จะได้รับผลกระทบ รายชื่อสายพันธุ์ที่จะได้รับผลกระทบและอาจสูญพันธุ์นั้นยาวมาก” แฮร์ริตี้กล่าว
ในปี 2021 หมาป่าเม็กซิกันสีเทาตัวที่รู้จักกันในชื่อ “มิสเตอร์กูดบาร์” (Mr Goodbar) เดินวนไปวนมาตามแนวกำแพงชายแดนที่ยาวประมาณ 37 กิโลเมตร เพื่อพยายามหาทางข้ามไปยังฝั่งเม็กซิโก แต่หลังจากผ่านไปหลายวัน มันก็ยอมแพ้และกลับไปยังพื้นที่ป่าในนิวเม็กซิโก
“เมื่อคุณเห็นมันด้วยตาตัวเอง คุณเห็นมันหายใจแรงและวิ่งไปมาเพื่อหาทางข้าม แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว สัตว์ตัวนี้กำลังพยายามเอาชีวิตรอด แต่มีสิ่งกีดขวางขนาดยักษ์ขวางทางอยู่ ทำให้สัตว์เหล่านี้ต้องทุกข์ใจและเครียดมาก” แฮร์ริตี้กล่าว
นอกจาก พื้นที่ป่าแล้ว บริเวณนี้ยังมีแม่น้ำซานตาครูซ เป็นเส้นทางการอพยพของสัตว์ เชื่อมระหว่างทั้งสองประเทศ แต่แม่น้ำเส้นนี้จะถูกกำแพงกั้นตัดขาดออกจากกัน
หุบเขานี้แทบจะไม่มีผู้คนสัญจรผ่านมาเลย และไม่มีสัญญาณที่บ่งบอกการลักลอบข้ามชายแดน เช่น เสื้อผ้าที่ขาดรุ่ยบนพุ่มไม้ กระเป๋าเป้ที่ถูกทิ้ง และขวดน้ำที่ว่างเปล่า โดยในรอบห้าปีที่ผ่านมา กล้องริมแม่น้ำไม่เคยจับภาพคนหนีเข้าเมืองได้เลยแม้แต่คนเดียว จับได้แต่ภาพของสัตว์ที่เดินผ่านไปมา พร้อมมีรอยเท้าของกระต่าย โคโยตี้ และแบดเจอร์ ประทับไว้บนพื้นดิน
ไมล์ส ทราฟาเกน ผู้อำนวยการฝ่ายพื้นที่ชายแดนของ Wildlands Network สังเกตว่าเสาแต่ละต้นของกำแพงที่สร้างในนิวเม็กซิโกมีระยะห่างกันประมาณ 5-6 นิ้ว แทนที่เป็น 4 นิ้วตามแผน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ทำให้สร้างเสาไม่เป็นไปตามแผน ช่องว่างที่เพิ่มขึ้นมานี้ก็ช่วยให้สัตว์ เช่น จาเวลินาและโคโยตี้ ลอดผ่านไปได้
การศึกษาในปี 2024 โดย Wildlands Network และ Sky Islands Alliance รวบรวมข้อมูลจากกล้องที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวตลอดแนวชายแดนที่มีกำแพงล้อมรอบยาว 160 กิโลเมตร พบว่าสัตว์ป่าที่ข้ามผ่านชายแดนลดลง 86% และสัตว์อย่างหมาป่า หมี แอนทิโลป และเสือจากัวร์ลดลง 100%
“แทนที่จะใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทำลายความพร้อมของกองทัพ และเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของครอบครัวชาวอเมริกัน ทรัมป์และ [อีลอน] มัสก์ควรเน้นไปที่การแก้ไขระบบตรวจคนเข้าเมืองที่มีปัญหาของเรา” มาร์ติน ไฮน์ริช วุฒิสมาชิกสหรัฐ จากนิวเม็กซิโกและพรรคเดโมแครตกล่าว
ที่มา: AZ Central, Sierra Club, The Guardian, Wildlands Network
ครอบครัวจาเวลินาไม่สามารถเดินข้ามกำแพงชายแดนไปได้
เครดิตภาพ: Matt Clark / Defenders of Wildlife