300 ล้านคนทั่วโลก กำลัง ‘อดอยาก’ จากสงคราม-เศรษฐกิจ-ถูกตัดงบช่วยเหลือ

ประชาชนเกือบ 300 ล้าน “ขาดแคลนอาหาร” จากปัญหาสงคราม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และถูกตัดงบช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
KEY
POINTS
- ประชากรโลกเกือบ 300 ล้านคนกำลังเผชิญ “ภาวะขาดแคลนอาหาร” เป็นผลมาจากความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจระดับโลก และการตัดงบประมาณความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างรุนแรง
- ประชากรที่เผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารเรื้อรังมากที่สุดมากกว่า 95% อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาและซูดาน
- รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้มีการลงทุนในระบบอาหารในท้องถิ่น เปลี่ยนจากความช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นการตอบสนองที่ยั่งยืน สร้างโอกาสที่แท้จริง
ประชากรโลกเกือบ 300 ล้านคนกำลังเผชิญ “ภาวะขาดแคลนอาหาร” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เป็นผลมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจระดับโลก และการตัดงบประมาณความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างรุนแรง
ตามข้อมูลรายงานวิกฤติอาหารโลกฉบับปี 2025 (GRFC) ระบุว่า จำนวนประชากรที่เผชิญหน้ากับ “ความไม่มั่นคงทางโภชนาการในระดับสูง” เพิ่มขึ้นแตะระดับ 295.3 ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ หรือ 22.6% ของประชากรใน 53 ประเทศที่ผู้เชี่ยวชาญของ GRFC วิเคราะห์
ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงและการตัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจทำให้ในปี 2024 มีประชากรเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารเรื้อรัง เพิ่มขึ้นอีก 13.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 5% จากปี 2023 ตามเกณฑ์เครื่องมือวัดความมั่นคงทางอาหารที่เรียกกันว่าระบบมาตรวัด IPC ของสหประชาชาติ
“ตั้งแต่กาซา ซูดาน ไปจนถึงเยเมนและมาลี ความหิวโหยอันเลวร้ายที่เกิดจากความขัดแย้งและปัจจัยอื่น ๆ กำลังพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ หลายครัวเรือนใกล้อดอาหาร นี่ไม่ใช่แค่ความล้มเหลวของระบบ แต่เป็นความล้มเหลวของมนุษยชาติ เราไม่สามารถป้องกันให้ผู้คนรอดพ้นความหิวโหยในศตวรรษที่ 21 ได้” อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าว
ประชากรที่เผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารเรื้อรังมากที่สุดมากกว่า 95% อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาและซูดาน รองลงมาเป็นเฮติ มาลี และซูดานใต้
ผู้เชี่ยวชาญของ GRFC ระบุว่า ผู้คนเกือบ 140 ล้านคนใน 20 ประเทศ เผชิญกับสถานการณ์ความไม่มั่นคงด้านอาหารที่เลวร้ายลง จากปัญหาความขัดแย้ง เช่น ในเมียนมาร์ ไนจีเรีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น เงินเฟ้อและค่าเงินที่ลดลง ทำให้ผู้คน 59.4 ล้านคนต้องเผชิญวิกฤติอาหารใน 15 ประเทศ รวมถึงซีเรียและเยเมน คิดเป็นเกือบสองเท่าของระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
ขณะที่ สภาพอากาศเลวร้าย โดยเฉพาะภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ผู้คนมากกว่า 96 ล้านคน ใน 18 ประเทศ โดยเฉพาะในแอฟริกาใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกาตะวันออก เผชิญกับความอดอยาก
รายงานดังกล่าวพบว่า ในปี 2024 จำนวนประชากรที่เผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า โดยอัฟกานิสถาน ซูดาน ซีเรีย และเยเมน เป็นกลุ่มประเทศที่มีจำนวนและสัดส่วนประชากรเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังพบวิกฤติโภชนาการใน 26 ประเทศที่กำลังเกิดวิกฤติอาหารรุนแรงอีกด้วย ซึ่ง ซูดาน เยเมน มาลี และปาเลสไตน์เผชิญกับ “วิกฤติโภชนาการที่รุนแรงที่สุด” ในป 2024
สงครามกลางเมืองที่เลวร้ายลงในซูดานส่งผลให้มีการประกาศเข้าสู่ “ภาวะอดอยาก” อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้คนมากกว่า 24 ล้านคนที่เผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรง
เดือนกรกฎาคม 2024 ได้รับการยืนยันว่าเกิดภาวะอดอยากในค่ายผู้ลี้ภัยซัมซัม ในเขตดาร์ฟูร์เหนือของซูดาน ต่อมาพบภาวะอดอยากในซูดานเพิ่มขึ้นถึง 9 พื้นที่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024-พฤษภาคม 2025
รายงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้คนที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเกือบ 95 ล้านคน รวมทั้งผู้ลี้ภัย ผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ทั้งจากซูดาน ซีเรีย โคลอมเบีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จากจำนวนทั้งหมด 128 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องพลัดถิ่น กำลังหิวโหยเผชิญกับวิกฤติขาดแคลนอาหาร
ขณะที่ สถานการณ์ฉนวนกาซายังคงย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ประชากรราว 2.1 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในนั้นมีความเสี่ยงอย่างรุนแรงที่จะเกิดภาวะอดอยากระดับรุนแรง หลังจากจุดผ่านแดนทั้งหมดถูกปิดไปตั้งแต่เมื่อต้นเดือนมีนาคม และการเจรจาการหยุดยิง 2 เดือนล้มเหลว ทำให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการเข้าถึงอาหารก็ถูกจำกัดอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่า มี 15 ประเทศที่ภาวะขาดแคลนอาหารลดลง รวมทั้งยูเครน เคนยา และกัวเตมาลา เนื่องมาจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้น การเก็บเกี่ยวที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง และความขัดแย้งที่ลดลง
สหประชาชาติ เตือนว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงในปี 2025 จากการลดลงของเงินทุนด้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ สั่งปิดหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAid) หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ทั่วโลก
พร้อมยกเลิกโครงการด้านมนุษยธรรมมากกว่า 80% ทำให้เด็กมากกว่า 14 ล้านคน ในประเทศต่าง ๆ เช่น ซูดาน เยเมน และเฮติ เสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ซึ่งคาดว่าเงินทุนจะลดลงระหว่าง 10-45% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำรายงาน
“ในช่วงเวลาที่การตัดงบประมาณกำลังสร้างความท้าทายแก่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เราขอเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราในการต่อสู้กับความหิวโหยทั่วโลก เราจะไม่ทอดทิ้งผู้ที่เปราะบางที่สุด โดยเฉพาะในประเทศที่เปราะบางและได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง เราจะยังคงสนับสนุนและปกป้องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อไป” ฮัดจา ลาห์บิบ กรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านความเท่าเทียม ความพร้อม และการจัดการวิกฤตการณ์กล่าว
เพื่อทำลายวัฏจักรของความหิวโหย รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้มีการลงทุนในระบบอาหารในท้องถิ่น เปลี่ยนจากความช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นการตอบสนองที่ยั่งยืน สร้างโอกาสที่แท้จริง เช่น การเข้าถึงที่ดิน แหล่งทำกิน ตลาด และบริการ เพื่อให้ผู้คนสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ไม่ใช่แค่ในวันนี้เท่านั้น แต่รวมถึงในอนาคตอีกด้วย
“หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการสนับสนุนเกษตรกรรมในท้องถิ่นสามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากที่สุดด้วยต้นทุนที่ต่ำลง” เรน พอลเซน ผู้อำนวยการฝ่ายภาวะฉุกเฉินและความสามารถในการฟื้นตัวขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าว
ที่มา: Aljazeera, Down to Earth, Ecowatch, The Guardian, The Straits Times