หัวเลี้ยวหัวต่อพลังงานหมุนเวียน สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ แนะไทยปรับตัว

แผนพลังงานชาติของไทยมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้ถึง 51% การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนแบบแปรผัน (VRE) ย่อมก่อให้เกิดความท้าทายในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า
KEY
POINTS
- แผนพลังงานชาติของไทยมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้ถึง 51%
- การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนแบบแปรผัน (VRE) ย่อมก่อให้เกิดความท้าทายในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า
- จำเป็นต้องมีแนวทางการขับเคลื่อนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถบริหารจัดการพลังงานจากแหล่งต่างๆ
- ลงทุนในเทคโนโลยีเสริมเพื่อเสถียรภาพระบบ
- เปลี่ยนบทบาทของภาคประชาชนเป็น "ผู้ผลิตพลังงาน"
- พัฒนาระบบกักเก็บพลังงานเพื่อรองรับความผันผวน
- ความยืดหยุ่นของระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญ
ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero Emissions ภายในปี 2065 ตามแผนพลังงานชาติ ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy - RE) ให้ได้ถึง 51% ในระบบผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ที่มีสัดส่วนประมาณ 22% หรือราว 30,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนแบบแปรผัน (Variable Renewable Energy - VRE) เช่น โซลาร์เซลล์และพลังงานลม ย่อมก่อให้เกิดความท้าทายในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า เนื่องจากลักษณะของพลังงานเหล่านี้มีความผันผวนตามสภาพอากาศและเวลา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเสถียรของระบบไฟฟ้า
ดร.พิมพ์สุภา เกาะช้าง นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความท้าทายดังกล่าวในงานบรรยาย “ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป: บทเรียนจากสเปน-โปรตุเกส 2025” ว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทยต้องคำนึงถึงการวางแผนระบบโครงข่ายที่สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคตได้อย่างมั่นคง
โดยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในเทคโนโลยีเสริม เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Storage) และระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้า (FACTS Devices) รวมถึงการสื่อสารกับสาธารณชนให้เข้าใจว่า พลังงานหมุนเวียนไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาไฟฟ้าดับ แต่เป็นเรื่องของความพร้อมของระบบในการบริหารจัดการความผันผวน
โครงการ CASE เปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
ดร.พิมพ์สุภา กล่าวด้วยว่า จุฬาฯ ได้ดำเนินการศึกษาภายใต้โครงการ CASE (Clean, Affordable and Secure Energy for Southeast Asia) ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า จากผลการศึกษาพบว่า หากประเทศไทยต้องการบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 สัดส่วนของ VRE อาจต้องเพิ่มขึ้นถึง 64 กิกะวัตต์ โดยในจำนวนนั้นเป็นโซลาร์เซลล์ประมาณ 44 กิกะวัตต์ และพลังงานลมประมาณ 20 กิกะวัตต์ พร้อมทั้งเสริมด้วยระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อช่วยเสถียรระบบให้สามารถรองรับความผันผวนของแหล่งพลังงานเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เปลี่ยนจาก "ผู้บริโภค" เป็น "ผู้ผลิตพลังงาน"
อีกประเด็นที่สำคัญคือบทบาทของภาคประชาชน ซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านจาก "ผู้บริโภค" มาเป็น "ผู้ผลิตพลังงาน" (Prosumer) ผ่านการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ปัจจุบันนโยบายของรัฐยังส่งเสริมให้ใช้เพื่อการบริโภคภายในก่อน โดยมีโครงการที่ให้ขายส่วนเกินกลับเข้าระบบได้ในอัตราที่ต่ำกว่าราคาค่าไฟปกติ การขยายขอบเขตของ Distributed PV (DPV) จึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป
"ผลการศึกษาคาดการณ์ว่า ภายในปี 2040 จะมี DPV เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20 กิกะวัตต์ และแนวโน้มสำคัญคือการติดตั้งโซลาร์ร่วมกับแบตเตอรี่กำลังกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลียและแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเน้นการติดตั้งในระดับครัวเรือนควบคู่กับระบบกักเก็บ เพื่อให้สามารถปล่อยพลังงานได้อย่างยืดหยุ่นและสอดรับกับความต้องการของระบบ"
กลไกทางการเงินจูงใจ
ดร.พิมพ์สุภา บอกว่า ในบางประเทศ ไม่มีการจำกัดการผลิตพลังงานจากโซลาร์เข้าสู่ระบบโดยตรง แต่จะใช้กลไกทางการเงินหรือมาตรการจูงใจ เช่น การจ่ายเงินเพิ่มหากผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ระบบมีความต้องการสูง หรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหากส่งไฟฟ้าในช่วงที่ไม่จำเป็น วิธีคิดนี้ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการผลิตและการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับระบบไฟฟ้า
ท้ายที่สุด ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไปสู่รูปแบบที่มีการผลิตกระจายมากขึ้น ภาคประชาชนและภาคธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งผลิตพลังงาน ดังนั้น คำสำคัญที่อยากจะฝากไว้ คือ “ความยืดหยุ่นของระบบโครงข่ายไฟฟ้า” เพราะในสถานการณ์วิกฤติ ระบบจำเป็นต้องสามารถ “ปรับตัวและฟื้นตัวได้” เหมือนกับการล้มแล้วลุกขึ้นได้โดยไม่สูญเสียความมั่นคง
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทยจึงไม่ใช่เพียงเรื่องเทคนิค แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และความเข้าใจร่วมของสังคม ซึ่งต้องทำควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวข้ามความท้าทายนี้ หากเราร่วมมือกันอย่างจริงจังและมีทิศทางที่ชัดเจน