‘รมว.ทส.’ ตรวจเยี่ยมการสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ผลักดันเป็น ‘สวนสัตว์แห่งอนาคต’

รมว.ทส. ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พร้อมผลักดันเป็น “สวนสัตว์แห่งอนาคต” แหล่งการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ระดับสากล
KEY
POINTS
- ใช้งบกว่า 10,974 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ดำเนินการแล้ว ส่วนระยะที่ 2 คาดว่าจะเริ่มในปี 2569 และเปิดให้เข้าชมเต็มรูปแบบในปี 2572
- มุ่งเน้นแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- ใช้แนวคิด “Biodiversity Park” จำลองถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ให้คล้ายกับธรรมชาติมากที่สุด
- แหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากล เหมาะสำหรับทุกช่วงวัย
- คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
14 พฤษภาคม 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ โดยมี รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย นางจงกลนี แก้วสด รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รักษาการแทน ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงาน ให้การต้อนรับ
สวนสัตว์แห่งใหม่นี้ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ทุ่งน้ำรังสิต คลอง 6 ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จะได้รับการพัฒนาให้เป็น สวนสัตว์แห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการเรียนรู้ระบบนิเวศในรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด “Biodiversity Park” โดยจำลองถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์แต่ละชนิดอย่างใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เพื่อส่งเสริมความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตของสัตว์กับประสบการณ์ของผู้เข้าชม
การออกแบบสวนสัตว์ได้รับแรงบันดาลใจจากภูมิประเทศของทุ่งรังสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงของภาคกลาง โดยนำมาปรับใช้เป็นภูมิทัศน์ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อพัฒนาเป็นส่วนจัดแสดงสัตว์รูปแบบใหม่ ไม่มีสิ่งกั้นขวางสายตา เปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด เสมือนเข้าไปอยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ตามแนวความคิดที่เชื่อมโยง “คน – สัตว์ – ธรรมชาติ” เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ
การจัดแสดงสัตว์ในแต่ละโซนจะถูกออกแบบให้สัตว์สามารถมองเห็นกันได้เหมือนอยู่ในพื้นที่เดียวกันตามธรรมชาติ โดยใช้แนวกั้นธรรมชาติ เช่น คูแห้ง คูน้ำ หรือระดับพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อแบ่งโซนอย่างปลอดภัย ไม่ให้สัตว์ข้ามเขตกันได้ แต่ยังคงบรรยากาศที่เสมือนจริงและไม่กระทบต่อประสบการณ์ของผู้เข้าชม
สวนสัตว์แห่งใหม่นี้จึงไม่ใช่เพียงสถานที่ชมสัตว์ แต่เป็น “พื้นที่แห่งการเรียนรู้มีชีวิต” เชื่อมโยงผู้คนให้เข้าใจและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ เป็นห้องเรียนสิ่งแวดล้อมในระดับสากล เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย (Lifelong Learning)
ภายในโครงการยังมีการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ครอบคลุมตั้งแต่ระบบจำหน่ายและจองตั๋วล่วงหน้า ไปจนถึงระบบบริหารจัดการสวนสัตว์ พร้อมด้วยศูนย์ข้อมูลที่รองรับการจัดเก็บและปกป้องข้อมูลของสวนสัตว์อย่างปลอดภัย
“สวนสัตว์แห่งใหม่ของประเทศไทย” แห่งนี้จึงเป็นต้นแบบใหม่ของการอนุรักษ์และการเรียนรู้ ที่ผสานเทคโนโลยี นิเวศวิทยา และประสบการณ์เสมือนจริงไว้ในที่เดียว
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ในกรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 10,974.647,858 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,545,332,100 บาท ระยะที่ 2 เป็นจำนวนเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 4,340,156,437 บาท โดยระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการในปี 2569 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2572
เมื่อโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ โดยจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการเรียนรู้ ผ่านการส่งเสริมให้นักเรียนและประชาชนเข้ามาศึกษาและเยี่ยมชม พร้อมทั้งมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “สวนสัตว์สีเขียว” (Green Zoo) ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. กล่าวว่า สวนสัตว์แห่งนี้จะเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ประชาชนสามารถมาใช้พักผ่อนและออกกำลังกาย อีกทั้งยังเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ป่าทั้งในและนอกถิ่นอาศัย โดยสวนสัตว์แห่งใหม่นี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับชุมชน