10% คนรวยที่สุดในโลก ปล่อยคาร์บอนมากกว่า 2 ใน 3 เกิดภัยพิบัติทุกที่

นักวิจัยระบุว่า ตั้งปี 1990 เป็นต้นมา คนที่รวยที่สุดในโลก 10% สร้างมลพิษที่ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” ถึง 2 ใน 3 มีภัยพิบัติทุกที่ทั่วโลก
KEY
POINTS
- การปล่อยมลพิษจากคนรวยที่สุด 10% ในจีนและสหรัฐ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของมลพิษคาร์บอนทั่วโลก ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนจัดเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
- 1% ของผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด มีทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงที่เพิ่มขึ้น 26 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก และมีส่วนทำให้เกิดภัยแล้งในป่าแอมะซอนมากกว่า 17 เท่า
- ผลการศึกษานี้ ยังทำให้ข้อเรียกร้องให้เก็บภาษีคาร์บอนฟุตปริ้นท์กับกลุ่มคนรวยมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
จากการศึกษาวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Climate Change ระบุว่า การบริโภคและการลงทุนของกลุ่มคนร่ำรวยที่สุด 10% ของโลก มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่า 2 ใน 3 ตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้ง
“การศึกษาวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้ว ไม่ได้เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกที่เป็นนามธรรมเท่านั้น แต่เราสามารถเชื่อมโยงผลกระทบเหล่านี้กับไลฟ์สไตล์และทางเลือกการลงทุนของเราโดยตรง ซึ่งในทางกลับกันก็เชื่อมโยงกับความมั่งคั่งด้วย” ซาราห์ ชองการ์ต นักวิจัยที่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ซูริค หัวหน้าคณะผู้จัดทำการศึกษาวิจัยกล่าว
นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคนิคการสร้างแบบจำลองใหม่ เพื่อติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกลุ่มรายได้ที่แตกต่างกันทั่วโลกและประเมินการมีส่วนสนับสนุนต่อสภาวะอากาศสุดขั้วที่เฉพาะเจาะจง พบว่า 1% ของผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด มีทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงที่เพิ่มขึ้น 26 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก และมีส่วนทำให้เกิดภัยแล้งในป่าแอมะซอนมากกว่า 17 เท่า
การปล่อยมลพิษจากคนรวยที่สุด 10% ในจีนและสหรัฐ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของมลพิษคาร์บอนทั่วโลก ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนจัดเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า โดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาพื้นผิวโลกร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.3 องศาเซลเซียส
ผลกระทบจากการบริโภคและการลงทุนของกลุ่มมหาเศรษฐีโลก มีความรุนแรงเป็นพิเศษในภูมิภาคเขตร้อน เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ และแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด แต่กลับรับผลกระทบจากสภาพอากาศเลวร้ายอย่างมาก
คาร์ล-ฟรีดริช ชลุสเนอร์ หัวหน้ากลุ่มผลกระทบต่อสภาพอากาศของสถาบันวิเคราะห์ระบบประยุกต์ระหว่างประเทศและผู้เขียนร่วมของการศึกษานี้กล่าวว่า “หากทุกคนทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับเดียวกับคน 50% ที่ปล่อยน้อยที่สุด โลกแทบจะไม่เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นเลย”
ผลการศึกษานี้ ยังทำให้ข้อเรียกร้องให้เก็บภาษีคาร์บอนฟุตปริ้นท์กับกลุ่มคนรวยมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการลงทุนของพวกเขา พร้อมเน้นย้ำว่าพอร์ตการลงทุนทางการเงิน สามารถเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน ไม่ใช่แค่การบริโภคส่วนบุคคลเท่านั้น
การศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยืนยันว่า ในปี 2024 เป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส และ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าขณะนี้โลกกำลังเข้าใกล้ขีดจำกัดอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับวิกฤติตามความตกลงปารีส
มูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติเพิ่มขึ้นหลายพันล้านดอลลาร์อย่างรวดเร็ว หลังจากเกิดพายุเฮอริเคนที่รุนแรงขึ้นในสหรัฐ อุทกภัยในยุโรป และคลื่นความร้อนในเอเชีย ล้วนแต่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม
การศึกษาวิจัยคาดการณ์ว่าหากโลกยังคงเดินหน้าต่อไป และโลกร้อนขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ เศรษฐกิจโลกอาจหดตัวลง 40% ซึ่งมากกว่าประมาณการครั้งก่อนถึง 4 เท่า
ข้อมูลจากการศึกษานี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานของ Oxfam ในปี 2020 พบว่ากลุ่มคนรวยที่สุด 1% มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนมากกว่ากลุ่มคนจนที่สุด 50% ถึงสองเท่า ในช่วงระหว่างปี 1990-2015
รายงานการติดตามผลเมื่อปี 2024 แล้ว ประเมินว่ามหาเศรษฐีโดยเฉลี่ยปล่อยคาร์บอนมากกว่าคนทั่วไปในกลุ่ม 99% ที่มีรายได้น้อยที่สุดถึงล้านเท่า พร้อมระบุว่า แค่การใช้ชีวิต 3 ชั่วโมงของมหาเศรษฐีที่รวยที่สุด 50 คนของโลกก็ปล่อยคาร์บอนมากกว่าทั้งชีวิตของคนทั่วไปแล้ว
นักรณรงค์เรียกร้องให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน โดยมุ่งเป้าไปที่สินทรัพย์ที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น เจ้าของเครื่องบินส่วนตัว และบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนสูง รวมถึงเก็บภาษีไปที่กระแสเงินและพอร์ตการลงทุนของคนที่มีรายได้สูงอาจก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างมาก เพราะสามารถนำมาใช้เป็นเงินสนับสนุนในการปรับตัวและต่อสู้กับภัยพิบัติทางธรรมชาติ สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงสูง
“นี่ไม่ใช่การอภิปรายเชิงวิชาการ แต่เป็นการแสดงผลกระทบที่แท้จริงของวิกฤติสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน หากไม่มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อคนรวยมีความรับผิดชอบมากขึ้นกับปัญหานี้ ก็อาจพลาดโอกาสที่สำคัญในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้” ชลุสเนอร์กล่าว
การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์มีความเป็นธรรมมากกว่าภาษีคาร์บอนทั่วไป ที่จะสร้างภาระให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำ แต่ความคิดริเริ่มที่จะเพิ่มภาษีสำหรับมหาเศรษฐีและบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่กลับหยุดชะงัก หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ กลับขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐในเดือนมกราคม 2025
ในปี 2021 ประเทศต่าง ๆ เกือบ 140 ประเทศตกลงที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อจัดเก็บภาษีนิติบุคคลระดับโลกสำหรับบริษัทข้ามชาติ โดยเกือบครึ่งหนึ่งรับรองอัตราขั้นต่ำที่ 15% แต่การเจรจาดังกล่าวก็หยุดชะงักเช่นกัน
ตามข้อมูลขององค์กรนอกภาครัฐเพื่อต่อต้านความยากจนอย่าง Oxfam กลุ่มคนรวยที่สุด 1% มีมูลค่าทรัพย์สินใหม่รวมกัน 42 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าคน 95% ของโลกรวมกัน
ที่มา: Aljazeera, Carbon Brief, Independent , The Guardian