แพลตฟอร์มจ้างงานผู้สูงอายุ 'ยังแฮปปี้' สร้างโมเดลธุรกิจใหม่

ผู้สูงวัยกว่า 80% ยังคงมีพลังและศักยภาพเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้พวกเขาเข้าถึงการเรียนรู้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางการเงินหรือการเดินทาง
KEY
POINTS
- 80% ผู้สูงวัยที่เกษียณแล้วยังมีพลังที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
- Young Happy ใช้รูปแบบ ‘สปอนเซอร์ชิป’ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่มีภาระทางการเงิน
- รับออกแบบโครงการให้กับบริษัทต่างๆ ที่เห็นคุณค่าในเรื่อง CSR และต้องการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
- Young Happy Plus เข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ครอบคลุม 74 จังหวัด โดยไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน
- Happy Job งานใหม่วัยเกษียณ เปิดตัว 25 เมษายน 2568 กรอกสมัครงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
- หนึ่งใน Pain Point สำคัญคือ ประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพของผู้สูงวัยอย่างเป็นระบบ
ในยุคที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2567 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า มีผู้สูงอายุ จำนวน 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ
นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า... “เมื่อเกษียณแล้ว พวกเขาจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร?” จากคำถามนี้เองได้จุดประกายให้เกิดธุรกิจเพื่อสังคมที่เชื่อว่า “ยังแฮปปี้” (Young Happy) ซึ่งในปัจจุบันนับว่าเป็นหนึ่งในชุมชนสำหรับผู้สูงอายุที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
“วริศรา กลีบบัว” ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (COO) บริษัท ยังแฮปปี้ จำกัด กล่าวกับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ยังแฮปปี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของคุณพ่อหนึ่งในผู้ก่อตั้งที่เผชิญภาวะซึมเศร้าหลังเกษียณ จากเดิมที่เคยทำงานทุกวัน เมื่อหยุดนิ่ง ชีวิตกลับรู้สึกว่างเปล่า และไม่รู้ว่าจะมีเป้าหมายอะไรในแต่ละวัน
สิ่งที่เริ่มต้นจากการเป็นจิตอาสาเล็กๆ เช่น การสอนใช้ Facebook และ LINE ให้กับผู้สูงอายุกลุ่มเกษียณอายุ ตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จึงได้ร่วมกับเพื่อนค่อยๆ พัฒนาเป็นธุรกิจ Young Happy อย่างเต็มตัว โดยมีพันธกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยผ่าน ‘การเรียนรู้’ และ ‘การมีส่วนร่วมกับสังคม’
โมเดลธุรกิจ ‘สปอนเซอร์ชิป’
บริษัทยึดหลัก 3 ประการของการพัฒนา คือ “สนุก-มีคุณค่า-พึ่งพาตนเองได้” โดยผู้ใช้งานหลักของยังแฮปปี้ คือกลุ่มผู้สูงวัยที่เกษียณแล้วและยังมีพลัง มีศักยภาพ และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยกลุ่มนี้คิดเป็น 80% ของผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีประมาณ 14 ล้านคน แพลตฟอร์มนี้จึงไม่ได้เน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง แต่เน้นไปที่กลุ่มที่ยังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และต้องการ ‘จุดเริ่มต้นใหม่’ ในชีวิต
โมเดลธุรกิจ Young Happy ใช้รูปแบบ ‘สปอนเซอร์ชิป’ คือ มีองค์กรหรือแบรนด์ เช่น บริษัทเอกชน องค์กรอิสระ และหน่วยงาน NGOs เข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่มีภาระทางการเงิน นอกจากนั้น ยังมีการรับออกแบบโครงการให้กับบริษัทต่างๆ ที่เห็นคุณค่าในเรื่อง CSR และต้องการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
ในช่วงแรก ยังแฮปปี้มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมแบบออฟไลน์ เช่น การจัดเวิร์กช็อป เทรนนิ่ง และกิจกรรมกลุ่มในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อโลกเผชิญวิกฤตโควิด-19 ทีมงานได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อว่า ‘ยังแฮปปี้พลัส’ (Young Happy Plus) เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ครอบคลุม 74 จังหวัด โดยไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน
คลาส Happy Learning ที่เปิดสอนนั้นหลากหลายตั้งแต่ภาษา ทำอาหาร ศิลปะ งานอดิเรก ไปจนถึงการออกกำลังกาย ซึ่งกลายเป็นกิจกรรมยอดฮิต เพราะนอกจากได้ขยับร่างกาย ยังได้เห็นหน้าค่าตาเพื่อนๆ ผ่านหน้าจอ
ยกระดับสู่การมีงานทำ
“วริศรา” บอกว่า เมื่อสุขภาพกายและใจดีแล้ว ‘งาน’ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้สูงอายุโหยหา ไม่ใช่เพราะอยากกลับไปลุยงานหนัก แต่เพราะยังรู้สึกมีคุณค่า และพร้อมมีส่วนร่วมในสังคม ทางบริษัทจึงมีการสร้างอาชีพออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. Creative Jobs งานที่สามารถทำจากที่บ้านได้ เช่น การเขียนบล็อก การแชร์คอนเทนต์ผ่าน Facebook หรือการเปิดร้านออนไลน์ ที่ไม่ต้องใช้พลังงานมากแต่สามารถสร้างรายได้จริง โดยมีทีมงานช่วยสอนทุกขั้นตอน
2. Happy Job งานใหม่วัยเกษียณ กลับเข้าสู่ระบบงานประจำ เชื่อมต่อผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานพาร์ตไทม์หรือโปรเจกต์สั้นๆ เข้ากับโอกาสในตลาดแรงงาน เป็นการยกระดับจากการเรียนรู้สู่การพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง เช่น บาริสต้า พนักงานเสริฟ พนักงาน Lobby พนักงานจัดเรียงสินค้า ในบริษัทต่างๆ เป็นต้น
สำหรับระบบดังกล่าวยังอยู่ในช่วงพัฒนา โดยปี 2568 ถือเป็นก้าวแรกของการสร้างฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างศักยภาพของผู้สูงวัย กับความต้องการขององค์กร ตอนนี้มีตำแหน่งงานกว่า 200 รายการในระบบ สมัครได้ฟรี และยังเปิดรับบริษัทเอกชนที่ต้องการเข้าร่วมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
โดยในวันที่ 25 เมษายน 2568 จะเปิดตัว Happy Job อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ www.younghappyplus.com ให้ผู้สูงอายุสามารถกรอกสมัครงานที่ตนเองสนใจและต้องการได้ จากนั้นระบบจะจับคู่ (matching) ให้กับภาคเอกชนที่ต้องการงานจ้างผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับศักยภาพ ความต้องการของทั้งสองฝ่าย
ผู้สูงวัย...ระบบนิเวศใหม่ในสังคม
หนึ่งในเป้าหมายที่ “วริศรา” มองไกลกว่าการจับคู่งาน หรือการอบรมทักษะ คือ การสร้างระบบนิเวศใหม่ ที่ผู้สูงวัยไม่ได้เป็นแค่ ‘ผู้เข้าร่วม’ แต่เป็น ‘ผู้ออกแบบ’ ระบบด้วยตัวเอง
“เราพบว่า เมื่อผู้สูงวัยได้มีส่วนร่วมในสิ่งที่เขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อรายได้ การทำงานเพื่อสังคม หรือการเรียนรู้ทักษะใหม่ พวกเขาจะกลับมามีแรงบันดาลใจ ความกระตือรือร้น และมองเห็นชีวิตในแง่มุมที่สดใหม่มากขึ้น”
ที่ผ่านมา หนึ่งใน Pain Point สำคัญคือ ประเทศไทยยังไม่มีระบบฐานข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพของผู้สูงวัยอย่างเป็นระบบ ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงขาดข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะ ‘สร้างงานแบบไหนให้ผู้สูงวัยได้บ้าง’
"เราเริ่มต้นจากตรงนี้ ด้วยการเก็บข้อมูลพฤติกรรม ความถนัด ความสนใจ และข้อจำกัดของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสังเคราะห์ออกมาเป็นแนวทางให้กับภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐ เราจัดประชุมร่วมกับภาคเอกชนทุก 2–3 เดือน เพื่อทบทวนว่า ตำแหน่งงานที่เปิดรับอยู่ตอนนี้ เหมาะสมหรือไม่? ระยะทางเดินทางสะดวกไหม? ชั่วโมงการทำงานยืดหยุ่นพอหรือเปล่า?"
ชุมชนผู้สูงอายุที่ใหญ่ที่สุดในไทย
“วริศรา” กล่าวว่า ถ้านับเฉพาะใน Young Happy Plus ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 7,000 คน และปีนี้ตั้งใจจะขยายให้ถึง 10,000 คน นั่นคือเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหากรวมเครือข่ายทั้งหมด ซึ่งมีสมาชิกที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ผ่านไลฟ์สดและอีเวนต์ออฟไลน์ต่างๆ ก็มีมากถึง 60,000 คนแล้ว
ด้านช่องทางโซเชียลมีเดียก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Facebook ที่มียอดผู้ติดตามใกล้แตะ 100,000 ราย และตั้งเป้าหมายจะขยายให้ถึง 200,000 คนภายในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุโดยตรง ครอบครัว หรือผู้ที่สนใจประเด็นเรื่องวัยเกษียณ ก็ล้วนแต่กลายมาเป็นผู้ร่วมขบวนการในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้