อีก 15 ปี ‘นิวยอร์ก’ เจอน้ำท่วม บ้านกว่า 80,000 หลังจมบาดาล

ในอีก 15 ปี บ้าน 80,000 หลังในเขตนิวยอร์กอาจสูญเสียไปจากน้ำท่วม รัฐบาลเร่งหาทางป้องกัน สร้างบ้านให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
KEY
POINTS
- บ้านมากกว่า 82,000 หลังในนครนิวยอร์ก อาจถูกน้ำท่วมภายใน 15 ปีข้างหน้า
- รัฐมีโครงการการก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่คาดว่าต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 20 ปีจึงจะแล้วเสร็จ
- นิวยอร์กจำเป็นต้องมีบ้านเพิ่มขึ้นอีก 1.2 ล้านหลังถึงจะเพียงพอกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และทดแทนบ้านที่สูญเสียไปจากน้ำท่วม และการเสื่อมสภาพ
“นิวยอร์ก” มหานครในฝันของใครหลายคน กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย จนราคาที่พักอาศัยพุ่งสูง แต่รายงานฉบับใหม่พบว่าภายในปี 2040 ชุมชนและเขตชานเมืองหลายแห่งในนิวยอร์กอาจถูก “น้ำท่วม”
ตามรายงานของ Regional Plan Association ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร พบว่า บ้านมากกว่า 82,000 หลังบนเกาะสแตเทน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของควีนส์ และในเขตชานเมืองทางตะวันออกของนครนิวยอร์ก อาจถูกน้ำท่วมภายใน 15 ปีข้างหน้า
รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงภัยคุกคามสองประการ ได้แก่ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่กำลังคุกคามเมืองชายฝั่งทั่วโลก โดยเฉพาะในมหานครนิวยอร์กที่ช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมามีจำนวนที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคาบ้านพุ่งสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางรับมือกับปัญหาอุทกภัยและ สภาพอากาศเลวร้ายอื่น ๆ ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
“คุณจะต้องสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนบ้านเรือนที่สูญเสียไปในเขตเทศบาลของคุณเอง” โมเสส เกตส์ รองประธานฝ่ายที่อยู่อาศัยและการวางแผนชุมชนของสมาคมและผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าว
“ยิ่งเราตัดสินใจเร็วเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งช่วยให้ชุมชนต่าง ๆ สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้เร็วเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับป้องกันภัย หรืออพยพย้ายออก เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติใหญ่ที่รับมือได้ยากขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไป” เอมี เชสเตอร์ กรรมการผู้จัดการของ Rebuild by Design องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานสามารถทนต่อพายุและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น กล่าว
ข้อมูลจากรายงานไม่ได้บ่งชี้พื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม แต่คาดว่ามากกว่าครึ่งของบ้านเรือนที่อาจจมน้ำภายในปี 2040 เป็นบ้านที่อยู่ในลองไอส์แลนด์ เมืองที่หันหน้าออกไปทางมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บาบิลอนและไอสลิป จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่นเดียวกับชุมชนตามแนวช่องแคบลองไอแลนด์ทั้งบนเกาะและในเขตเวสต์เชสเตอร์ก็มีความเสี่ยงไม่ต่างกัน
ส่วนในเขตเมืองนิวยอร์กซิตี้ ย่านริมน้ำทางตอนใต้ของควีนส์และบรู๊คลิน เช่น ร็อคอะเวย์และแคนาร์ซี จะได้รับความเสียหายมากที่สุด โดยรายงานแนะนำให้เมืองเหล่านี้ควรเน้นไปที่การหาทางป้องกันน้ำท่วม และหาที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงสำหรับประชากรในเมืองประมาณ 125,000 คน
ทั่วเมืองนิวยอร์กสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อป้องกันน้ำท่วมอีกหลายโครงการ ทั้งที่กำลังสร้างและสร้างเสร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกำแพงกันน้ำท่วมและประตูระบายน้ำที่โลว์เวอร์อีสต์ไซด์ของแมนฮัตตัน รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาตามธรรมชาติ เช่น บลูเบลท์ (Bluebelt) เป็นระบบจัดการน้ําฝนที่เชื่อมต่อท่อระบายน้ำฝนกับทะเลสาบและแหล่งน้ำต่าง ๆ
หลังจากที่พายุซูเปอร์สตอร์มแซนดี้เข้าถล่มชายฝั่งตะวันออกของเกาะสเตเทนไอแลนด์ในปี 2012 รัฐบาลรับซื้อบ้านที่ได้รับความเสียหายมากกว่า 500 หลัง และจัดการรื้อถอนเคลียร์พื้นที่ คืนสภาพดินให้กลับสู่สภาพธรรมชาติ ด้วยวิธีการจัดการถอยร่น (Managed Retreat) ซึ่งปรับเปลี่ยนแนวป้องกันชายฝั่งเดิมให้ถอยร่นเข้ามาในแผ่นดิน เพื่อให้พื้นที่ชายฝั่งเดิมกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลน หรือชายหาด
เช่นเดียวเขตร็อคอะเวย์ มีโครงการสร้างระบบคันดินที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งจะสามารถช่วยปกป้องเมืองจากน้ำท่วมได้ ด้วยคันดินเนินทรายที่มีกำแพงหินและเหล็กเป็นแกนกลาง แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องรอนุมัติจากรัฐบาลกลาง คาดว่าต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 20 ปีจึงจะแล้วเสร็จ
แม็กซ์ เบสบรีส ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านที่อยู่อาศัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกล่าวว่า ภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องคิดใหม่ว่าบ้านทั่วไปควรมีลักษณะอย่างไร
“นั่นหมายถึงบ้านต้องมีความหนาแน่นมากขึ้น ประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งหมายถึงต่างจากบ้านในอุดมคติของชาวอเมริกัน ที่เป็นบ้านเดี่ยวมีรั้วไม้สีขาว” เบสบรีสกล่าว
สมาคมแผนภูมิภาคทำการวิเคราะห์ จำนวนบ้านในแต่ละพื้นที่ให้เพียงพอต่อจำนวนประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต พบว่าปัจจุบันนิวยอร์กต้องการบ้านเพิ่มอีก 362,000 หลัง เพื่อบรรเทาปัญหาความแออัดและให้ประชากรที่มีที่อยู่อาศัยอย่างถาวร
แต่ในอีก 15 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องมีบ้านเพิ่มขึ้นอีก 1.2 ล้านหลังถึงจะเพียงพอ ซึ่งสูงขึ้นมากกว่า 3 เท่า เมื่อคำนึงถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การสูญเสียบ้านจากน้ำท่วม และการเสื่อมสภาพของบ้าน
รายงานดังกล่าวยังใช้เครื่องมือที่เรียกว่า National Zoning Atlas แผนที่แสดงข้อจำกัดในการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อดูว่ากฎหมายการแบ่งเขตอาจอนุญาตให้สร้างบ้านเพิ่มได้ที่ใด พบว่าสามารถสร้างบ้านเพิ่มได้ 580,000 หลัง ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ต้องการ (แม้ว่าปัจจัยอื่น ๆ เช่น เงินทุนหรือกฎหมายการก่อสร้าง อาจทำให้ไม่สามารถสร้างบ้านได้เช่นกัน)
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่เมือง เทศบาล และหมู่บ้านเกือบทุกแห่งจะต้องเปลี่ยนกฎหมายการแบ่งเขตของตนเพื่อให้สร้างบ้านได้มากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของนิวยอร์กพยายามปรับเปลี่ยนกฎหมายการแบ่งเขต เพื่อให้สร้างบ้านได้ง่ายขึ้น แต่ก็ประสบความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง
เมื่อสองปีก่อน ผู้ว่าการรัฐเคธี โฮชุล พยายามผลักดันให้เมืองและเทศบาลทุกแห่งในรัฐเปิดทางให้สร้างบ้านเพิ่มขึ้น แต่ผู้นำท้องถิ่นในเขตชานเมืองของเมือง โดยเฉพาะบนเกาะลองไอส์แลนด์และเคาน์ตี้เวสต์เชสเตอร์ คัดค้านความพยายามของเธอ
ฝ่ายบริหารของนายกเทศมนตรีเอริก อดัมส์ประสบความสำเร็จในการผลักดันโครงการ City of Yes ซึ่งอนุญาตให้สร้างบ้านเพิ่มได้ประมาณ 80,000 หลังภายในทศวรรษหน้า รายงานระบุว่าแผนงานที่สภาเมืองอนุมัติเมื่อเดือนธันวาคม 2024 จะช่วยลดความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่นิวยอร์กซิตี้ลงเพียง 11% เท่านั้น
ที่มา: Bloomberg, Globest, The New York Times