โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไทยเกิดขึ้นได้ หากให้ความรู้ สร้างศรัทธาในภาครัฐ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไทยเกิดขึ้นได้ หากให้ความรู้ สร้างศรัทธาในภาครัฐ

SMR สามารถเป็นทางรอดได้ หากสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน สร้างศรัทธาในภาครัฐ และมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ

KEY

POINTS

  • SMR สามารถเป็นทางรอดได้ หากสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน
  • สร้างศรัทธาในภาครัฐ และมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ
  • ปัจจุบันคนยังเข้าใจผิด สถานบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติจะปล่อยกัมมันตภาพรังสี
  • จำเป็นต้องบรรจุเรื่องนิวเคลียร์ลงในหลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ไปจนถึงมหาวิทยาลัย

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดงาน “Roundtable: SMR ทางเลือก ทางรอด Green Energy” เพื่อเจาะลึกว่ามีโอกาสที่ประเทศไทยจะมีได้ใช้เทคโนโลยี SMR (Small Modular Reactor) พลังงานสะอาด ที่จะช่วยก้าวข้ามวิกฤติด้านพลังงานในอนาคต เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 68 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้อง เดอะ เรสซิเดนซ์ 305 โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

ในงานนี้ สุชิน อุดมสมพร อุปนายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า SMR สามารถเป็นทางรอดได้ หากสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน สร้างศรัทธาในภาครัฐ และมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ

ที่จำเป็นที่สุดคือต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อลดความกังวลให้แก่ประชาชน หลายคนยังไม่เข้าใจความหมายของพลังงานนิวเคลียร์อย่างถ่องแท้ ปัจจุบันคนยังเข้าใจผิดว่า สถานบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติทำงานเกี่ยวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กลัวว่าจะปล่อยกัมมันตภาพรังสี ทั้งที่เป็นงานด้านเทคโนโลยีรังสีทางการแพทย์ 

หรือบางคนยังคิดว่านิวเคลียร์เป็นเรื่องไกลตัวและอันตราย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเอ็กซเรย์ หรือการรักษาทางแพทย์อย่างการฉายรังสี ก็มาจากรังสีนิวเคลียร์ หรือแม้แต่ในร่างกายของเราก็มีรังสีโพแทสเซียม-40 ซึ่งมนุษย์ได้รับมาจากการบริโภคอาหาร

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไทยเกิดขึ้นได้ หากให้ความรู้ สร้างศรัทธาในภาครัฐ

จะเห็นได้ว่าความจริงแล้วรังสีเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด แต่คนรุ่นเก่าบางคนอาจจะไม่อยากเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับการให้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง โปร่งใส เชื่อถือได้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เปิดรับกับสิ่งที่เป็นประโยชน์และจะต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ต่อไป โดยจำเป็นต้องบรรจุเรื่องนิวเคลียร์ลงในหลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ไปจนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้คนรุ่นใหม่ และสร้างบุคลากรให้พร้อมสำหรับสายงานด้านนิวเคลียร์ 

“จำได้ว่าเข้าไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น มีเด็กนักเรียนอนุบาลเข้ามาดูงานเหมือนกัน แล้วเด็กนักเรียนชี้ไปที่เพื่อนว่า ทำไมคนนี้ไม่ใส่หมวกนิรภัย นั่นแสดงว่าเขาปูพื้นฐานความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยตั้งแต่อนุบาล แต่ของไทยแม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ค่อยมี” สุชินกล่าว

การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ว่าจะขนาดใดก็ตามล้วนเป็นทางออกได้ทั้งนั้น หากภาครัฐสามารถเรียกศรัทธาได้ โดย สุชิน ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีหน่วยงานตรวจสอบด้านความปลอดภัยหลายองค์กร มีทั้งภาครัฐ ภาคอุสหากรรม ภาคประชาชนเข้ามาร่วมกันตรวจสอบรังสีในสิ่งแวดล้อมร่วมกันด้วยความโปร่งใส ซึ่งเมื่อประชาชนมีความเชื่อมั่นก็จะลดการต่อต้านลง

“ดิฉันถามคุณยายที่อยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ทำให้คุณยายนึกถึงช่วงสงครามโลกหรือ คุณยายกลับมาว่า เธอมั่นใจว่ารัฐบาลคงไม่สร้างความเจ็บปวดให้ประชาชนด้วยการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งทำให้ประทับใจมาก”

หลังจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะระเบิดได้ 1 ปีสุชินได้เดินทางกลับไปละพบว่า วัวที่อยู่ที่นั่นตัวอ้วนมาก ทำให้เธอเรียนรู้ว่า พื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติจะต้องเกิดผลกระทบเสมอไป หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่เต็มความสามารถ

อีกทั้งต้องแก้ไขรูปแบบการติดต่อสื่อสารกับภาครัฐเป็นให้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ไม่รู้ว่าจะต้องติดต่ออย่างไร เน้นการพูดคุยกันด้วยตัวหนังสือ ซึ่งอาจไม่เคลียร์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ต้องถามให้เข้าใจ สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา

“การติดต่อประสานงานภาครัฐ เป็นอะไรที่ซับซ้อน มีขั้นตอน ระเบียบ จนงงว่าตกลงเขาจะให้เราทำอะไร เพราะเราคุยกันด้วยตัวหนังสือ ด้วยระเบียบ ด้วยระบบ แต่ถ้าเราหันหน้าคุยกัน สงสัยให้ถาม ไม่ได้อคติ ต่อต้านกัน ไม่ว่าจะพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สเกลไหนก็รอดได้” สุชินกล่าว

สำหรับ สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทยมีพันธกิจในการให้ความรู้สู่ประชาชน พิทักษ์สิทธิและประโยชน์ของประชาชน ประสานความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับองค์กรในต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมบทบาทการวางแผนใช้พลังงานนิวเคลียร์ของชาติ ตลอดจนสนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นิวเคลียร์ รวมถึงพัฒนาสมาคมเพื่อให้เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์