แถลงการณ์ 'แพลงก์ตอน' เมกะเทรนด์ปี 2025 ผลิตออกซิเจน 50% ของโลก

แถลงการณ์ 'แพลงก์ตอน' เมกะเทรนด์ปี 2025 ผลิตออกซิเจน 50% ของโลก

เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก United Nations เพิ่มความพยายามในการวิจัยและฟื้นฟูสมดุลของแพลงก์ตอน ที่เป็นปอดของโลก

KEY

POINTS

  • ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือการเปิดตัว “แถลงการณ์แพลงก์ตอน” หรือ Plankton Manifesto
  • นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้มีการคำนึงถึงความสำคัญของแพลงก์ตอน
  • แพลงก์ตอนถูกเรียกว่า “ปอดของโลก”
  • เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก United Nations เพิ่มความพยายามในการวิจัยและฟื้นฟูสมดุลของแพลงก์ตอน
  • เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 14: Life Below Water

ในระหว่างการประชุม UN General Assembly (UNGA79) ปลายปี 2024 รายงาน "Five Global Compact Reports to Know" ได้เผยแพร่แนวทางสำคัญที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการลดผลกระทบต่อสภาพอากาศ โดยหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือการเปิดตัว “แถลงการณ์แพลงก์ตอน” หรือ Plankton Manifesto โดยเอกสารนี้จัดทำโดยกลุ่มความร่วมมือ Ocean Stewardship Coalition โดย UNGC ภายใต้ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ซึ่งรายละเอียดแถลงการณ์แพลงก์ตอน จะรวมอยู่ใน UNGCNT Special Report ฉบับภาษาไทย : SDGs Mega Trend 2025 เร็วๆ นี้ด้วย

"กรุงเทพธุรกิจ" ได้รวบรวมประเด็นสำคัญที่ควรจับตามองไว้ดังนี้

พลังของแพลงก์ตอน

แถลงการณ์แพลงก์ตอนเป็นการประกาศสำคัญจากนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกร้องให้มีการคำนึงถึงความสำคัญของแพลงก์ตอน (Plankton) ที่เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในมหาสมุทร แต่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ในทะเลและสภาพภูมิอากาศของโลก

แพลงก์ตอนสามารถผลิตออกซิเจนได้ถึง 50% ของออกซิเจนทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้มหาสมุทรถูกเรียกว่า “ปอดของโลก” แพลงก์ตอนไม่เพียงช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก แต่ยังเป็นฐานสำคัญของห่วงโซ่อาหารทางทะเลด้วย

อีกทั้งการคำนึงถึงบทบาทของแพลงก์ตอนยังช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์จากการศึกษาผลกระทบของแพลงก์ตอนต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อม

ในรายงานที่เผยแพร่ในระหว่างการประชุม UNGA79 แพลังก์ตอนได้รับการกล่าวถึงอย่างชัดเจนว่าเป็นหนึ่งในกลไกธรรมชาติที่มีศักยภาพในการช่วยลดปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศ ซึ่งหากถูกอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างเหมาะสม จะสามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโลกสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050

หลายประเทศมองข้ามแพลงก์ตอน

วินเซนต์ ดูเมอิเซล ที่ปรึกษาอาวุโสด้านมหาสมุทรของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN) กล่าวถึงความสำคัญของแพลงก์ตอนว่า แพลงก์ตอนมักถูกมองข้ามในการอภิปรายระดับนานาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์โลกในเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหามลพิษ

“หากเราต้องการปกป้องอารยธรรมและสายพันธุ์มนุษย์ ผมเชื่อว่าเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแพลงก์ตอนมากขึ้น ศึกษาและทำความเข้าใจบทบาทของมัน รวมถึงใช้ประโยชน์จากมันเพื่อแก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเรา”

ในแต่ละปี คาร์บอนปริมาณประมาณ 30,000 ถึง 50,000 ล้านเมตริกตัน ถูกตรึงไว้ในมหาสมุทรผ่านกระบวนการทางธรรมชาติ เมื่อแพลงก์ตอนถูกสิ่งมีชีวิตอื่นกิน หรือเมื่อแพลงก์ตอนตายและจมลงสู่ก้นทะเลในรูปของ "หิมะทะเล" คาร์บอนเหล่านี้จะถูกกักเก็บไว้ในระบบนิเวศเป็นเวลาหลายพันปี

การร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ

แถลงการณ์แพลงก์ตอนได้รับการสนับสนุนจากองค์กรและกลุ่มผู้นำระดับโลก เช่น UN Global Compact, World Wildlife Fund (WWF), International Union for Conservation of Nature (IUCN), และ Ocean Conservancy

ที่ได้ร่วมมือกันผลักดันให้แพลงก์ตอนได้รับการคุ้มครองในระดับโลก ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเลเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากภาคอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

แถลงการณ์นี้นำเสนอ 3 แนวทางปฏิบัติ ได้แก่

1) แนวทางเพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับแพลงก์ตอน

2) แนวทางเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการศึกษาเรื่องแพลงก์ตอน

3) แนวทางเพื่อบูรณาการเรื่องแพลงก์ตอนในเวทีการเมืองระดับโลก

มีการเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (United Nations) และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เพิ่มความพยายามในการวิจัยและฟื้นฟูสมดุลของแพลงก์ตอนในมหาสมุทร รวมถึงการกำหนดแนวทางในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการทำลายแพลงก์ตอน และการเพิ่มการสนับสนุนด้านการศึกษาและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยในการอนุรักษ์แพลงก์ตอนในระดับมหาสมุทร

ภาพรวมของการขับเคลื่อน ESG

การเปิดตัวแถลงการณ์แพลงก์ตอนในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่สำคัญต่อโลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของการคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental) ที่มีต่อความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว

การมุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองและฟื้นฟูแพลงก์ตอนไม่ได้เป็นแค่การรักษาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการปกป้องทรัพยากรทางทะเล และช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 14: Life Below Water ซึ่งตอกย้ำความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของท้องทะเลและความยั่งยืนในระดับโลก

แถลงการณ์ \'แพลงก์ตอน\' เมกะเทรนด์ปี 2025 ผลิตออกซิเจน 50% ของโลก