“ปูนไฮดรอลิก”1ตันลดก๊าซฯได้ 50กก.ครม.วางบททดแทนปูนปอร์ตแลนด์

“ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” คืออะไร ข้อมูลจาก สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ระบุว่า ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หมายถึง ปูนซีเมนต์ที่ก่อตัวและแข็งตัวเนื่องจากการทำปฏิกิริยากับน้ำ
และมีความสามารถทำนองเดียวกัน เมื่ออยู่ในน้ำโดยมีคุณสมบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 2594กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้มีการประกาศใช้ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2556มีวิธีการผลิตเช่นเดียวกับ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของปูนซีเมนต์ (Performance Based) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบันมีการใช้งานในประเทศไทย เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน ใช้ในโครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ ,กระทรวงกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ใช้ในงานพื้นซีเมนต์ขัดมัน,กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กรมยุทธบริการทหาร ใช้ในโครงการพัฒนาพื้นที่ ,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒงานปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำโดยรอบมหาวิทยาลัย
เมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มาตรฐานเลขที่ มอก. 2594 - 2556เนื่องจากประกาศใช้เกิน 5 ปี (มาตรฐานบังคับ) ซึ่งเอกสารอ้างอิงมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มาตรฐานมีความทันสมัยสอดคล้องกับการทำและการใช้งานในปัจจุบันและเพื่อสอดรับกับนโยบายของภาครัฐในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูงในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : PPU) คือมาตรการทดแทนปูนเม็ด (Clinker Substitution) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์สามารถใช้ทดแทนกันได้ซึ่งการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทางผู้ผลิตได้มีการวิจัยและพัฒนาทางด้านวัสดุศาสตร์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพบว่าการผลิตปูนไฮดรอลิกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการผลิต ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
“โดยพบว่าปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 50 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์”
สำหรับมารฐานปูนไฮดรอลิกนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกที่ผลิต นำเข้า และจำหน่ายในประเทศเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้ผู้ใช้ได้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศทั้งนี้ ผู้ทำหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐานโดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อมูลจาก สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ยังระบุอีกว่า ข้อดีและประโยชน์ของปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีคุณสมบัติทางวิศวกรรมที่ได้การรับรองจากหลายมาตรฐาน สนองตอบความต้องการแต่ละประเภทของงานก่อสร้างโครงสร้าง (Performance Based)ได้มากกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และวงการก่อสร้างในอนาคต นำมาซึ่งประโยชน์ดีในด้านสิ่งแวดล้อมและในด้านของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
จนสามารถกล่าวได้ว่า ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นปูนซีเมนต์ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างครบถ้วนเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low CarbonSociety) อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ. 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608