'วันสตรีสากล' รวมพลังผู้นำหญิง ปลุกความเชื่อมั่น ความเท่าเทียมและยั่งยืน

International Women’s Day เป็นวันที่ทุกคนจะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองและตระหนักถึงความสำเร็จที่ผู้หญิงได้ทำในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
KEY
POINTS
- International Women’s Day (IWD) คือวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี
- หัวข้อระดับโลกสำหรับปี 2025 "Accelerate Action" ความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ
- บทบาทของสตรีในสังคมไทยได้ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ยุติธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน และไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ
- สื่อมีผลต่อการรับรู้และการยอมรับภาวะผู้นำของสตรีในสังคม
- ความเท่าเทียมทางเพศเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างตลาดแรงงานที่ยั่งยืน
- มีผู้หญิงที่ไม่ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น จาก 62.7% ในปี 2561 เป็น 63% ในปี 2565
United Nations ประกาศให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day : IWD) วันนี้ได้กลายเป็นการเฉลิมฉลองทั่วโลก โดยมีธีมแต่ละปีที่เน้นประเด็นต่างๆ เช่น ความรุนแรงต่อผู้หญิง ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างเพศ และการเข้าถึงการศึกษา
หัวข้อระดับโลกสำหรับปี 2025 "Accelerate Action" หรือ “เร่งดำเนินการ” ธีมนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศผ่านการดำเนินการที่กล้าหาญและเด็ดขาด มากกว่าการดำเนินการที่เชื่องช้า ขณะที่ United Nations ให้ธีมหลักของปีนี้เป็น Rights. Equality. Empowerment
บทบาทของสตรีในสังคมไทยได้ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งที่เห็นได้ชัดคือ “ภาวะผู้นำหญิง” ที่มีทั้งจำนวน อิทธิพล และคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นในยุคที่มีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมมากขึ้น
‘กรุงเทพธุรกิจ’ สัมภาษณ์พิเศษผู้นำหญิงในประเทศไทย ที่กำลังกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศโดยมุ่งเน้นที่ความเท่าเทียมทางเพศและความยั่งยืน ผู้นำเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีอิทธิพลในองค์กรของพวกเธอเท่านั้น แต่ยังผลักดันการเสริมพลังให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงคนอื่นๆ เพื่อสามารถเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตัวเอง
ไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ
ณัฐธีรา บุญศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวถึงความสำคัญของ "ความเท่าเทียมทางเพศและส่งเสริมให้ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนเข้มแข็งขึ้น" ในโอกาสวันสตรีสากล 2025 ว่า กลุ่มห้างเซ็นทรัลมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนผู้หญิงและเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศในทุกด้าน เชื่อมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยุติธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน และไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ
ภายในองค์กร ผลักดันโครงการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพให้ผู้หญิงมีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำอย่างเท่าเทียม ด้วยเป็นองค์กรที่มีผู้หญิงทำงานเป็นจำนวนมากในทุกๆ ระดับ นอกจากนี้ยังสนับสนุนความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานด้วยนโยบายที่เอื้อต่อสตรี เช่น การสนับสนุนสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็น
"เรายังให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในองค์กรผ่านนโยบายที่ช่วยให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือมีลูกเล็กสามารถบริหารเวลาได้อย่างเหมาะสมและยืดหยุ่น พร้อมสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อจำกัดทางเพศ อายุ หรือประสบการณ์ เพื่อสร้างทีมที่แข็งแกร่งและมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า"
กลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลมีเป้าหมายสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้ทุกคน สามารถเติบโตและพัฒนาศักยภาพได้อย่างเท่าเทียม โดยเน้นที่ความสามารถและผลงานเป็นตัวกำหนดความสำเร็จ ไม่ใช่เพศสภา
นอกจากนั้น ยังขยายผลสู่สังคมผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น การให้โอกาสทางการศึกษา การช่วยเหลือผู้หญิงที่ขาดโอกาสผ่านมูลนิธิ เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน เพราะเชื่อว่าการให้โอกาสกับผู้หญิงในสังคมและการสนับสนุนผู้หญิงที่ขาดโอกาสผ่านโครงการต่างๆ จะช่วยสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืนได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ
หนึ่งในโครงการสำคัญที่ทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 คือแคมเปญ SHEPOSSIBLE ซึ่งเป็นแคมเปญที่ช่วยผลักดันศักยภาพของผู้หญิงและสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2025 นี้ จะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดกิจกรรมสนับสนุนศักยภาพผู้หญิงและสร้างสังคมที่เท่าเทียมอย่างยั่งยืน รวมถึงโครงการพิเศษ SHEPOSSIBLE x FREEN ที่นำแฟชั่นมาผสานกับการช่วยเหลือสังคมผ่านการออกแบบและจำหน่ายเสื้อยืดและกระเป๋าดีไซน์พิเศษ โดยรายได้ทั้งหมดมอบให้สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนผู้หญิงโดยตรง
สร้างสื่อที่สะท้อนความเท่าเทียม
ดร.โกสุม โอมพรนุวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะมีการพัฒนาทางด้านภาวะผู้นำหญิงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความท้าทายที่ผู้หญิงต้องเผชิญ เช่น อคติทางเพศที่แฝงอยู่ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมถึงอุปสรรคในการเข้าถึงตำแหน่งบริหารระดับสูง
นอกจากนี้ ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับความคาดหวังต่อบทบาทตามเพศสถานะที่ยึดโยงผู้หญิงกับการดูแลลูกและครอบครัว ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ทำงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างและการทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ไปพร้อมกัน เป็นภาระงานสองด้าน ที่ทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนเวลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและการก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดในองค์กร
อิทธิพลของตัวละครหญิงที่มีอำนาจและความสามารถในการตัดสินใจในสื่อมีผลต่อการรับรู้และการยอมรับภาวะผู้นำของสตรีในสังคมอย่างลึกซึ้ง เมื่อสื่อแสดงภาพของผู้หญิงที่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีกลยุทธ์และมีอำนาจในการกำหนดทิศทาง ผู้ชมจะเริ่มมองเห็นว่าผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำได้ ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อเรื่องผู้นำหญิงมีความสามารถได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
กระบวนการนี้เรียกว่า ‘Role Model Effect’ ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงในชีวิตจริงเห็นต้นแบบของความเป็นผู้นำของผู้หญิง มีแรงบันดาลใจ และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำมากขึ้น และทำให้สังคมเริ่มเปิดใจยอมรับผู้นำหญิงในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นในภาคสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ
ส่วนในแง่ของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในภาคสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ สื่อสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน เมื่อผู้คนเริ่มเห็นผู้นำหญิงในสื่อ พวกเขาจะเริ่มตั้งคำถามว่า ‘ทำไมในชีวิตจริงเราถึงไม่มีผู้นำหญิงมากกว่านี้?’
สิ่งนี้สามารถผลักดันให้เกิดนโยบายที่สนับสนุนผู้นำหญิงมากขึ้น เช่น โควตาเพศในการเลือกตั้ง หรือการสนับสนุนให้ผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่าง ๆ อีกทั้งสื่อยังสามารถช่วยท้าทาย ‘เพดานแก้ว’ (Glass Ceiling) โดยแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้จริง ซึ่งช่วยลดอคติทางเพศและส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้หญิงมากขึ้น
"แต่เราต้องตระหนักว่า ในบางครั้งสื่อยังคงมีการนำเสนอตัวละครหญิงในกรอบที่จำกัด อย่างการทำให้ผู้หญิงที่มีอำนาจกลายเป็นตัวร้าย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงต้องมาจากการสร้างสื่อที่สะท้อนความเป็นจริงอย่างหลากหลายและเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น"
ตลาดแรงงานที่เปิดกว้าง
มาเรีย อันโทเน็ท อันซิโร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ Adecco Thailand เชื่อว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างตลาดแรงงานที่ยั่งยืน มันไม่ใช่แค่เรื่องของการให้โอกาส แต่เป็นเรื่องของการปลดล็อกศักยภาพของผู้หญิงทุกคนให้เต็มที่
“ภาคธุรกิจสามารถสนับสนุนผู้หญิงให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำและผู้ประกอบการได้ เราต้องเน้นที่การพัฒนา ทักษะแห่งอนาคต โดยเฉพาะในสายเทคโนโลยีที่ยังมีผู้หญิงจำนวนน้อย โครงการ ‘Code; Without Barriers’ ที่เราร่วมมือกับ Microsoft เป็นตัวอย่างที่ดี เรามอบโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนรู้ AI และ Cybersecurity ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ฟรี เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานในสายงานดิจิทัล แต่เท่านั้นยังไม่พอ เรายังสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนผู้นำหญิง โดยไม่มี “Glass Ceiling” หรือเพดานกระจกที่จำกัดโอกาสเติบโตในองค์กร”
“มาเรีย” ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานแบบยืดหยุ่นและสวัสดิการที่รองรับการดูแลครอบครัว โดยบอกว่า การทำงานแบบยืดหยุ่นเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถทำงานและดูแลครอบครัวไปพร้อมกันได้
เมื่อมองไปข้างหน้า “มาเรีย” มองเห็นความสำคัญของการลดช่องว่างรายได้และโอกาสทางอาชีพในประเทศไทย โดยปัจจุบัน ช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศยังคงมีอยู่ จึงต้องใช้ Data-Driven Hiring & Compensation Strategy เพื่อให้การจ้างงานและค่าตอบแทนมีความเป็นธรรม
นอกจากนั้นต้องเพิ่มจำนวนผู้หญิงในสายงาน STEM & Digital เพราะเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต แต่ยังขาดผู้หญิงที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในสายนี้ ทำให้ Adecco ต้องการผลักดันโครงการ ‘Code; Without Barriers’ เพื่อช่วยให้ผู้หญิงมีโอกาสพัฒนาทักษะ AI และ Cybersecurity ให้มากขึ้น การส่งเสริม Inclusive Leadership & Mentorship เป็นสิ่งสำคัญ ต้องสร้างสภาพแวดล้อม นโยบาย และวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงและคนทุกเพศได้มีพื้นที่แสดงศักยภาพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
“Adecco พยายามสร้างตลาดแรงงานที่เปิดกว้างและเท่าเทียม เราลงมือทำผ่านการพัฒนาทักษะ การสนับสนุนผู้หญิงในสายงานเทคโนโลยี การสร้างผู้นำหญิง และการฝึกอบรม DEI สำหรับพนักงาน เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ผู้สมัครงาน และองค์กรของเราเอง"
ลดปัญหาเข้าถึงการศึกษาของเพศหญิง
รสลิน โกแวร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision Foundation of Thailand) กล่าวว่า รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในปี 2565 พบว่า ผู้หญิงที่ไม่ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 62.7% ในปี 2561 เป็น 63% ในปี 2565 นอกจากนี้ เด็กผู้หญิงอายุ 15-19 ปี กว่า 8% เคยประสบกับการล่วงละเมิดทางเพศ และมีเพียง 30% เท่านั้นที่กล้าเปิดเผยหรือรายงานเหตุการณ์ ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยทำงานร่วมกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง รวมถึงผู้ชายและเด็กผู้ชาย ผู้อุปการะ ผู้บริจาค ชุมชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมสิทธิสตรีและสร้างสังคมที่เท่าเทียม
“ส่วนตัวไม่เชื่อว่าผู้หญิงมีข้อจำกัด เพราะสังคมไทยปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น ขอเพียงแค่เราเชื่อมั่น มั่นใจในศักยภาพของตัวเอง และกล้าที่จะแสดงมันออกมาในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ทุกวันนี้ เราจะเห็นผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทั้งในระดับองค์กรและในประเทศมากขึ้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี
เพราะไม่ใช่เพียงแค่ความสำเร็จส่วนตัวเท่านั้น แต่คือพลังที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเป็น Role Model ให้กับผู้หญิงอีกหลายๆ คน ที่จะกล้าก้าวออกมาเป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น และเมื่อสังคมยอมรับ โอกาสการเปิดกว้างก็จะตามมา"
สุดท้ายแล้ว ศักยภาพไม่ได้ถูกกำหนดโดยเพศ แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยโอกาสและความสามารถที่ได้รับ ในฐานะที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราต้องทำหน้าที่ของเรา เพื่อส่งเสริมผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคน
ศุภนิมิตฯ มีโครงการที่ดำเนินงานด้านนี้อยู่หลัก ๆ 3 ด้าน
1.Protection การปกป้องคุ้มครอง ปกป้องเด็กจากการแสวงหาประโยชน์ในทุกรูปแบบ
2.Livelihood พัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ สร้างพลังให้ผู้หญิงได้เห็นคุณค่าของตนเองผ่านการพัฒนาอาชีพ ด้วยการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีอาชีพและรายได้ และยังเปิดโอกาสให้พวกเธอ ได้เป็นแรงบันดาลใจและส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงคนอื่นๆ ต่อไปในชุมชน
3.Education การศึกษา สร้างโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพให้ได้มากที่สุด
ผู้หญิงทุกคนควรได้แสดงศักยภาพ
ดวงพร บุศราวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ ปูนอินทรี กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียม และเปิดกว้างให้พนักงานผู้หญิงทุกคนได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ พร้อมกับเป็นแรงบันดาลใจให้กับสังคม
“เราเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำงานได้อย่างเท่าเทียม ทั้งสนับสนุนความก้าวหน้าในสายงาน การเปิดกว้างยอมรับ และให้คุณค่าของบุคลากรที่หลากหลายในองค์กร โดยเน้นสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีที่สุดสำหรับพนักงาน และดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่ต้องการร่วมงานกับองค์กรในอนาคต เพื่อให้เป็นสถานที่ทำงานที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองไปสู่ความสำเร็จพร้อมองค์กร"
ความหลากหลายทางความคิดและมุมมองของพนักงานหญิงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับพนักงานผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน และสนับสนุนให้พนักงานหญิงทุกคนกล้าที่จะแสดงศักยภาพและมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง
ปูนซีเมนต์นครหลวง ยังคงยืนหยัดที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในองค์กรและสังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาด้านความยั่งยืน 2573 สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงพนักงานทุกคน และพร้อมที่จะเปิดโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพราะพลังของผู้หญิงคือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนโลกให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน