Green Career ราชมงคล ชูการเรียนออนไลน์ ปั้นบุคลากรสายอาชีพกรีน

ความต้องการตลาดแรงงานต่อ Green Careers เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ครอบคลุมการเกษตร การผลิต การวิจัย การพัฒนา รวมถึงการให้บริการ ภายใต้กระบวนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
KEY
POINTS
- UNEP ระบุว่า งานทุกประเภทเปลี่ยนแปลงไป แต่ความต้องการตลาดแรงงานต่อ Green Careers เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- Green Jobs เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การผลิต การวิจัย การพัฒนา รวมถึงการให้บริการ ภายใต้กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ร่วมกับ เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต และ IAFSW เปิดแพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์ ตอบโจทย์โลกยุคใหม่
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) ระบุว่า งานเกือบทุกประเภทกำลังเปลี่ยนแปลงไป แต่ความต้องการตลาดแรงงานต่อ Green Careers หรืออาชีพสีเขียว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาชีพสายกรีน มีความสำคัญอย่างมากในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากสังคมกำลังเผชิญกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่ความยั่งยืน อาชีพเหล่านี้มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนในทุกอุตสาหกรรม
UNEP ได้ให้นิยามของ Green Jobs ว่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การผลิต การวิจัย การพัฒนา รวมถึงธุรกิจด้านการผลิตสินค้าและการให้บริการ โดยดำเนินการภายใต้กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานให้น้อยที่สุด ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยบริบทของความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนจึงถือเป็นเส้นทางแห่งโอกาสสำหรับอนาคต
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง จึงร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และสมาคมส่งเสริมและพัฒนากำลังคนสเต็มเพื่ออนาคต (IAFSW) เปิดตัว Green Career แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ที่มุ่งเสริมทักษะอาชีพยั่งยืน ผ่านการผสานองค์ความรู้ในสาขาที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคต ทักษะทางสังคม และองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาดแรงงานและความท้าทายของโลกยุคใหม่
3 หลักสูตร-3 อุตสาหกรรมสีเขียว
รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่กำหนดอนาคตของประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นถึงความผันผวนของโลกในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการที่หลายอาชีพมีแนวโน้มที่จะเลือนหายไป
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีสมรรถนะสูงและสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในรูปแบบที่ทันสมัย ยืดหยุ่น และเข้าถึงได้ง่าย จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรองรับความท้าทายของโลกยุคใหม่
แพลตฟอร์ม Green Career เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่มีศักยภาพในการสร้างโอกาสและทางออกสำคัญสำหรับสถาบันการศึกษา นักศึกษา และแรงงานในทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (Reskill) การเสริมสร้างทักษะใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน (Upskill/Newskill) และส่งเสริมแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในโลกยุคปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน
ปีนี้แพลตฟอร์มจะมุ่งเน้นไปที่ 3 หลักสูตร ภายใต้ 3 อุตสาหกรรมสีเขียว คือ เกษตรกรรมอัจฉริยะ และการบริการอย่างยั่งยืน ได้แก่
- หลักสูตรการรังสรรค์อาหารยั่งยืน (Chef)
- หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver)
- หลักสูตรการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism)
STEM Career Academies
พรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า กล่าวว่า แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ Green Career เป็นการต่อยอดจากโครงการ STEM Career Academies ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science ที่เชฟรอนและพันธมิตรได้ร่วมดำเนินงานเป็นเวลา 8 ปี
“เรามุ่งสนับสนุนการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาในสาขาสะเต็มอย่างต่อเนื่อง Green Career แพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบออนไลน์ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความรู้ที่สำคัญของกลุ่มอาชีพที่จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคต และยังรวมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมผสานในหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็น การคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือแนวทางการลดขยะอย่างยั่งยืน”
แพลตฟอร์มนี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับทั้งนักเรียน นักศึกษา และกำลังคนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สนใจในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองผ่านการใช้เทคโนโลยี ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ได้รวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมในยุคศตวรรษที่ 21
ตอบโจทย์ SDGs - ร่วมกลุ่มนายจ้าง
สุวรรณี คำมั่น นายกสมาคมส่งเสริมและพัฒนากำลังคนสะเต็มเพื่ออนาคต (IAFSW) กล่าวว่า สมาคมฯได้ออกแบบและจัดทำเนื้อหาแพลตฟอร์มนี้ร่วมกับ บริษัท เอดู พาร์ค จำกัด (EduPark)โดยเน้นให้ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และรวบรวมเนื้อหาที่สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพจากองค์กรระดับโลกอย่าง UNESCO-UNEVOC และบริษัทชั้นนำมากมาย ซึ่งสาระองค์ความรู้สามารถใช้ประโยชน์ทั้งผู้สอนและผู้เรียนทุกช่วงวัย
โดยรายละเอียดสาระหลักสูตรเป็นการดำเนินการร่วมกับกลุ่มนายจ้าง และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งภายในประเทศและประเทศพันธมิตร แพลตฟอร์มดังกล่าวนี้พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองที่สมบูรณ์แบบครบวงจร และสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกทั้งผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้อย่างมั่นใจและนายจ้างพอใจ
องค์ประกอบหลักๆ คือ กระบวนการสะเต็ม หลักสูตรวิชาชีพสีเขียว วิธีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ การไลฟ์จากผู้สอน วิดีโอ บอร์ดเกมส์ แฮกกาทอน กระบวนการวัดและประเมินผลที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนการมอบประกาศนียบัตรตามสมรรถนะที่ได้เรียนรู้
เชื่อมแพลตฟอร์ม EWE) ของ สคช.
พรภัทรา ฉิมพลอย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและรับรององค์กรฝึกอบรม สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงบทบาทของ สคช. ในการร่วมมือกับสมาคม IAFSW เพื่อนำ Green Career เข้ามาเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem (EWE) ของ สคช. ว่า “ในเร็วๆ นี้ ผู้เรียนจะสามารถ Reskill, Upskill และ Newskill ในอาชีพที่เป็นที่ต้องการ เช่น อุตสาหกรรม, การเกษตร, เชฟ และ ผู้ให้การดูแล หรือ Caregiver จากหลักสูตรของ Green Career พร้อมรับวุฒิบัตรรับรองจาก สคช. โดยข้อมูลการเรียนรู้จะถูกบันทึกใน e-Portfolio ของ EWE เพื่อเสริมโอกาสการจ้างงาน