‘น้ำประปา’ สหรัฐใส่คลอรีนมากเกินไป สารเคมีตลอดกาลพุ่ง เสี่ยง ‘มะเร็ง’ เพิ่มขึ้น

การศึกษาพบว่าระดับคลอรีนในน้ำในสหรัฐและสหภาพยุโรปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 33% มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเพิ่มขึ้น 15%
KEY
POINTS
- การศึกษาพบว่าประชากรในสหรัฐมีระดับคลอรีนในน้ำในระดับที่น่าเป็นห่วง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 33% มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเพิ่มขึ้น 15%
- นอกจากนี้ ยังพบว่าน้ำประปามี “สารเคมีตลอดกาล” ปนเปื้อนอยู่เช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมาทำเป็นน้ำดื่ม
- นักวิจัยระบุว่า ประชาชนสามารถใช้เครื่องกรองน้ำ หรือถ่านกัมมันต์เพื่อช่วยกรองน้ำได้
ทุกคนรู้ดีว่าการเติม “คลอรีน” ลงในน้ำประปา เป็นวิธีที่ช่วยให้น้ำสะอาดขึ้น โดยต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของประชาชน แต่ในตอนนี้ระดับคลอรีนในสหรัฐและสหภาพยุโรปอาจสูงเกินไป จนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลายชนิด จากการวิเคราะห์งานวิจัยล่าสุดจากทั่วโลก
กระบวนการฆ่าเชื้อในน้ำด้วยคลอรีนจะก่อให้เกิดไตรฮาโลมีเทน (THM) ซึ่งพบได้ในระบบน้ำดื่มสาธารณะเกือบทั้งหมดในสหรัฐและสหภาพยุโรป โดยจากการประเมินพบว่าประชากรเกือบ 300 ล้านคนในสหรัฐมีระดับคลอรีนในน้ำในระดับที่น่าเป็นห่วง
แม้ว่ากระบวนการเติมคลอรีนจะเป็นวิธีการที่มีราคาถูก หาได้ง่าย มีประสิทธิภาพ ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และโรคติดเชื้อ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้น 33% ส่วนมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเพิ่มขึ้น 15%
กระบวนการฆ่าเชื้อในน้ำถือเป็นมาตรการสาธารณสุขที่สำคัญในการทำให้น้ำสะอาด ลดการติดเชื้อจุลินทรีย์และโรคติดต่อทางน้ำ เช่น อหิวาตกโรคและไข้รากสาดได้อย่างมาก โดยสหรัฐเริ่มใช้คลอรีนในน้ำดื่มในช่วงต้นทศวรรษปี 1900 เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ดี
จนกระทั่งในช่วงทศวรรษปี 1970 นักวิจัยจึงค้นพบว่ากระบวนการดังกล่าวมีผลตามมา เมื่อคลอรีนถูกเติมลงในน้ำ คลอรีนจะทำปฏิกิริยากับสารประกอบอินทรีย์ เช่น วัสดุจากพืชที่เน่าเปื่อย จนสร้างผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่อาจเป็นพิษหลายร้อยชนิด โดยสารบางชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น คลอโรฟอร์ม โบรโมฟอร์ม โบรโมไดคลอโรมีเทน และคลอโรไดโบรโมมีเทน ซึ่งถือว่าเป็นพิษต่อพันธุกรรมและก่อมะเร็งในหนู
สหรัฐและสหภาพยุโรปกำหนดขีดจำกัดของผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่ 80 ส่วนต่อพันล้านส่วน (ppb) และ 100ppb ตามลำดับ แต่ผลการวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่าต่อให้มีผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่ 40ppb ซึ่งเป็นระดับที่พบได้ทั่วโลก (40-60ppb) ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้เช่นกัน ทั้งนี้ Environmental Working Group องค์กรสนับสนุนสุขภาพของประชาชน ประเมินระดับที่ปลอดภัยที่ 0.15ppb ซึ่งยังห่างไกลจากความเป็นจริง
การศึกษานี้พิจารณาข้อมูลจากการศึกษาประมาณ 30 รายการและมีผู้เข้าร่วม 90,000 คน พบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง โดยพิจารณาเฉพาะผลกระทบของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่เท่านั้น เนื่องจากขาดการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่แน่ใจว่าเหตุใดสารเคมีถึงก่อให้เกิดมะเร็งเฉพาะที่ลำไส้ใหญ่และกระเพาะปัสสาวะบ่อยที่สุด
ปัญหานี้ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา โดยทั่วไปแล้วน้ำผิวดินจะมีระดับ THM สูงกว่าน้ำใต้ดิน เนื่องจากมีสิ่งมีชีวิตและสารอินทรีย์มากกว่า ซึ่งเอมิลี เฮลเต หัวหน้าคณะนักวิจัยจากสถาบันคาโรลินสกากล่าวว่า บริษัทสาธารณูปโภคสามารถทำความสะอาดสารอินทรีย์บางส่วนออกจากน้ำก่อนทำการฆ่าเชื้อได้ โดยอาจลดปริมาณคลอรีนที่เติมลงไปได้ด้วย แต่สิ่งสำคัญจริง ๆ คืออย่าใช้สารฆ่าเชื้อน้อยเกินไป
นอกจากนี้ เฮลเตยังแนะนำว่ามีวิธีการฆ่าเชื้อในน้ำอื่น ๆ อีกที่สามารถใช้ได้ เช่น การบำบัดน้ำด้วยแสงอัลตราไวโอเลตหรือติดตั้งระบบกรองใหม่ แต่มีราคาแพงกว่าการใช้คลอรีน สำหรับประชาชนแล้ว การใช้ถ่านกัมมันต์แบบเม็ดถือเป็นระบบกรองน้ำที่ดีที่สุดระบบหนึ่งในการขจัดสารปนเปื้อนที่สามารถใช้ในบ้าน
แม้ว่าคลอรีนจะช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำได้ แต่ก็ไม่สามารถขจัด “สารเคมีตลอดกาล” หรือ “PFAS” ที่อาจแฝงมาจากน้ำได้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าสารเคมีอันตรายและสารประกอบเหล่านี้ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ และถึงแม้ว่าจะผ่านการบำบัดน้ำเสียและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว แต่สารเคมีตลอดกาลก็สามารถกลับเข้าสู่แหล่งน้ำดื่มได้
บริดเจอร์ รอยล์ นักวิทยาศาสตร์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กและผู้เขียนผลการศึกษากล่าวว่า เรื่องนี้น่ากังวลเป็นพิเศษ เพราะน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกนำมาใช้ผลิตน้ำประปามากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยแล้งจนแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง
แหล่งน้ำดื่มของสหรัฐประมาณ 50% อยู่ปลายน้ำของโรงบำบัดน้ำเสียหนึ่งแห่งขึ้นไป การศึกษานี้ใช้การสร้างแบบจำลองเพื่อแสดงให้เห็นว่า PFAS จากน้ำเสียได้ปนเปื้อนน้ำดื่มของประชากรในสหรัฐแล้วถึง 23 ล้านคน
สารเคมีตลอดกาลมีเกือบ 15,000 ชนิด สามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายของผู้คนได้เป็นเวลานาน ซึ่งในแต่ละวันมนุษย์สัมผัสกับสาร PFAS ได้จากหลายช่องทาง หนึ่งในนั้นคือการกินดื่ม จากการศึกษาวิจัยในปี 2023 พบว่าน้ำประปาเกือบครึ่งหนึ่งในสหรัฐปนเปื้อนสาร PFAS
รอยล์กล่าวว่า โรงบำบัดน้ำเสียมีบทบาทสำคัญ โดยโรงบำบัดน้ำเสียเหล่านี้ได้รับน้ำที่ปนเปื้อนสาร PFAS จากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม และโรงบำบัดน้ำดื่มประมาณ 50% ในสหรัฐอยู่ปลายน้ำของโรงบำบัดน้ำเสียแห่งหนึ่ง
ในปี 2024 สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) ได้ออกปรับลดเกณฑ์ความเข้มข้นของสาร PFAS ทั้ง 6 ชนิดในน้ำดื่มลง เพื่อให้ปลอดภัยกับผู้บริโภคมากขึ้น แต่อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะสารที่ EPA ควบคุมนั้นมีเพียงประมาณ 8% ของสารประกอบอันตรายที่อาจพบได้ในตัวอย่างน้ำที่วิเคราะห์
เดวิด แอนดรูวส์ รักษาการหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของกลุ่มงานด้านสิ่งแวดล้อม ติดตามการสัมผัสสารเคมีรวมถึง PFAS กล่าวว่า ในหลายพื้นที่ของสหรัฐ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยแล้งมีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่เป็นน้ำดื่มอยู่แล้ว แต่ระบบน้ำเหล่านี้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่มีสาร PFAS ปนเปื้อน และในปัจจุบันโรงบำบัดน้ำเสียยังไม่มีอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดสารปนเปื้อนเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม รอยล์กล่าวว่า ยังคงต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก และมีสาร PFAS จำนวนมากที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำ ซึ่งจำเป็นต้องทำควมเข้าใจว่าสารเหล่านี้สารผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร
รอยล์แนะนำเหมือนกับเฮลเตว่าควรกรองน้ำประปาก่อนดื่ม แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เขากล่าวว่าวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการหาวิธีหยุดไม่ให้ PFAS เข้าสู่สิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรก “เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แทนที่จะติดตั้งเทคโนโลยีที่มีราคาแพงกว่า และใช้ทรัพยากรมากกว่าในบริษัทสาธารณูปโภคด้านน้ำดื่ม หรือขอให้ประชาชนติดตั้งระบบกรองน้ำที่บ้าน”
ที่มา: CNN, The Guardian, The New York Times, The Week