‘คาปิบารา’ มีเยอะเกินไป ‘อาร์เจนตินา’ เร่งจับทำหมัน

ในเวลาเพียง 3 ปีเศษ คาปิบารามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ตัว แถมเริ่มทำลายต้นไม้และจู่โจมใส่สัตว์เลี้ยงของคนในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านเริ่มเอ็นดูไม่ไหว เรียกร้องให้มีการดำเนินการบางอย่าง
KEY
POINTS
- จำนวน “คาปิบารา” ในย่านนอร์เดลตาเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จนทางการต้องจับทำหมัน เพื่อลดจำนวนลง
- สภาพแวดล้อมของนอร์เดลตาเหมาะสมกับคาปิบารามาก เพราะมีพื้นที่กว้างขวางสำหรับอยู่อาศัย อาหารอุดมสมบูรณ์ และยังไม่มีนักล่า
- ทางการอนุมัติแผนฉีดยาคุมกำเนิด 2 โดสให้กับสัตว์ 250 ตัว ซึ่งจะหยุดการสืบพันธุ์ระหว่าง 9 เดือนถึง 1 ปี
นอร์เดลตา ย่านคนรวยของอาร์เจนตินา มีผู้คนอาศัยอยู่ราว 45,000 คน อยู่ในชุมชนนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำติดกับแม่น้ำลูฮาน ทางตอนเหนือของกรุงบัวโนสไอเรส นอกจากย่านนี้จะมีภูมิทัศน์สวยงามพร้อมวิวทะเลสาบและลำธารแล้ว ยังเต็มไปด้วย “คาปิบารา” สัตว์ฟันแทะหน้านิ่งที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จนทางการต้องจับทำหมัน เพื่อลดจำนวนลง
ด้วยสภาพแวดล้อมพื้นที่ชุ่มน้ำของย่านนอร์เดลตา ดึงดูดให้เหล่าคาปิบาราเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ ซึ่งเดิมทีคนที่อยู่อาศัยในย่านนี้มองคาปิบาราด้วยความน่ารักน่าเอ็นดู แต่ในเวลาเพียง 3 ปีเศษ สัตว์ฟันแทะกลับเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่า 1,000 ตัว แถมเริ่มทำลายต้นไม้และจู่โจมใส่สัตว์เลี้ยงของคนในพื้นที่ จนชาวบ้านเริ่มเอ็นดูไม่ไหว เรียกร้องให้มีการดำเนินการบางอย่าง
มาร์เซโล แคนตัน โฆษกของสมาคมชุมชนนอร์เดลตากล่าวว่า ตลอดระยะที่เขาอาศัยอยู่ที่นี่กว่า 20 ปี เขาเจอคาปิบารามาโดยตลอด แต่ก็ไม่ใช่สัตว์ที่พบได้บ่อย จนกระทั่งในปี 2020 จำนวนของพวกมันก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเพราะย่านนี้เป็นแหล่งอาศัยที่เหมาะสมสำหรับพวกมัน
“สภาพแวดล้อมที่นี่เพอร์เฟกต์กับคาปิบารามาก เพราะมีพื้นที่กว้างขวางสำหรับอยู่อาศัย อาหารอุดมสมบูรณ์ และยังไม่มีนักล่าอีก” แคนตันกล่าว
พร้อมเสริมว่านอร์เดลตามีพื้นที่ทะเลสาบและพื้นที่สีเขียวประมาณ 3,125 ไร่ เมื่อไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ เช่น เสือพูม่า และพรานล่าสัตว์ที่ยิงเพื่อเป็นอาหาร คาปิบาราก็ยิ่งสืบพันธุ์ได้ง่ายได้
คาปิบาราในย่านนอร์เดลตา
เครดิตภาพ: Reuters
คาปิบาราเป็นสัตว์ฟันแทะที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสามารถมีน้ำหนักได้ถึง 60 กิโลกรัม และยาว 1.30 เมตร พวกมันเป็นสัตว์กินพืช เป็นสัตว์สังคมอยู่รวมเป็นฝูง ประกอบด้วยตัวผู้เป็นจ่าฝูง มีตัวเมียหลายตัว และลูกของพวกมัน และเช่นเดียวกับสัตว์ฟันแทะชนิดอื่น ๆ พวกมันสามารถสืบพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยตัวเมียแต่ละตัวสามารถคลอดลูกได้ปีละ 2 ครั้ง โดยแต่ละครอกจะมีลูกได้มากถึง 8 ตัว
ทางการบัวโนสไอเรสเพิ่งอนุมัติแผนควบคุมประชากรสัตว์ป่า ด้วยการฉีดยาคุมกำเนิด 2 โดสให้กับสัตว์ 250 ตัว ซึ่งจะหยุดการสืบพันธุ์ระหว่าง 9 เดือนถึง 1 ปี โดยหวังว่าจะลดอัตราการสืบพันธุ์และแก้ปัญหาระหว่างคนกับคาปิบาราในพื้นที่มากขึ้น โฆษกจากกระทรวงการพัฒนาการเกษตรในจังหวัดบัวโนสไอเรสกล่าวว่า นอร์เดลตาเคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและยังคงมีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ แต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่กึ่งเมืองและต้องมีการจัดการสัตว์ป่า
แผนริเริ่มนี้จะดำเนินการโดยกลุ่มสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า เนื่องจากต้องจับสัตว์เหล่านี้ให้ถูกวิธี และจะได้รับการดูแลโดยนักชีววิทยาจากสภาแห่งชาติเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค (Conicet)
เดิมทีจะเริ่มดำเนินการในสัปดาห์นี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะฝนตก ดังนั้นจึงต้องรีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ Conicet ยืนยันว่าพวกเขาจะติดตามแผนการควบคุมประชากร แต่ยืนกรานว่าไม่ได้แนะนำหรือเสนอแนะให้ทำด้วยวิธีใด
เครดิตภาพ: Reuters
มาเรีย โฮเซ่ คอร์ริอาเล่ นักวิจัยของ Conicet ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างถิ่นที่อยู่อาศัยและสัตว์ป่ากล่าวว่า ในบราซิลมีวัคซีนที่ใช้คุมกำเนิดได้ในครั้ง โดยสามารถใช้ลูกดอกฉีดได้ในระยะ และถูกพิสูจน์แล้วว่าใช้กับคาปิบาราได้ แต่ปัญหาคือวัคซีนที่ว่าไม่มีขายในอาร์เจนตินา ส่วนวัคซีนที่มีอยู่ก็ต้องใช้ฉีดยา 2 ครั้ง และยังไม่ได้พิสูจน์ว่าใช้กับคาปิบาราได้หรือไม่
ทีมวิจัยของคอร์ริอาเล่กำลังดำเนินโครงการวิจัยที่คล้ายควบคู่ไปกับแผนริเริ่มของรัฐบาล ด้วยการทำหมันคาปิบาราตัวผู้ในนอร์เดลตา 5 ตัวเพื่อดูว่าจะช่วยลดความสามารถในการสืบพันธุ์หรือไม่
คาปิบารามักมีปัญหากับสุนัข เนื่องจากทั้งคู่เป็นสัตว์ที่หวงอาณาเขต ดังนั้นชาวเมืองจึงแก้ปัญหาด้วยการทำรั้วบ้านให้แข็งแรง เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างหมากับคาปิบารา รวมถึงป้องกันเด็ก ๆ ในบ้าน เพราะแม้ว่าคาปิบาราจะไม่ก้าวร้าว แต่ถ้าตัวเมียมีลูกก็จะเกรี้ยวกราดมากกว่าปรกติ เมื่อต้องเผชิญหน้าตรง ๆ กับคนหรือสัตว์อื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังมีคนในพื้นที่กลุ่มหนึ่งบางส่วนมองว่า สัตว์หน้านิ่งเหล่านี้เป็นภัยร้ายแรง เป็นตัวแพร่เชื้อโรค ต้องการให้กำจัดพวกมันออกไปโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตาม ขณะที่บางกลุ่มก็บอกว่า ไม่ต้องไปยุ่งกับพวกมัน ปล่อยเอาไว้ แต่แคนตันกล่าวว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายควบคุมประชากร
ขณะที่ ซิลเวีย โซโต จากกลุ่ม Carpinchos Nordelta – Somos Su Voz กลุ่มปกป้องพืชพรรณและสัตว์ธรรมชาติของนอร์เดลตา ระบุว่าภาครัฐไม่ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับนโยบายควบคุมจำนวนคาปิบารากับทางกลุ่ม นอกจากนี้โซโตระบุว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิกเฉยต่อข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อช่วยอนุรักษ์คาปิบารา เช่น การสร้างทางเดินทางชีวภาพหรือพื้นที่คุ้มครอง
นักสิ่งแวดล้อมบางคนเรียกร้องให้ไม่ดำเนินการใดๆ กับคาปิบารา แต่ควรออกกฎหมายเพื่อปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำและป้องกันการก่อสร้างใดๆ บนพื้นที่ดังกล่าวแทน โดยตั้งคำถามถึงแผนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ชุมชนอย่างนอร์เดลตาเกิดขึ้นได้
โดยส่วนตัวแล้ว โซโตเชื่อว่าปัญหาคาปิบาราบุกย่านชุนชน เป็นผลจากการเปลี่ยนพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นที่หลบภัยสุดท้ายของคาปิบารา ให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางของเมือง เธอกล่าวว่า “พวกเขาบอกว่าไม่มีพื้นที่ที่จะสร้างทางเดินทางชีวภาพ แต่กลับมีพื้นที่สำหรับการสร้างอาคารของมนุษย์” พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จำนวนคาปิบาราเริ่มลดลง ซึ่งเธอสงสัยว่าเป็นผลมาจากการล่าสัตว์ผิดกฎหมาย
ในฐานะที่คอร์ริอาเล่ติดตามการเติบโตของประชากรคาปิบาราในนอร์เดลตาเป็นเวลาหลายปี ทำให้เธอรู้ว่าสภาพแวดล้อมที่นี่เหมาะสมที่สุดต่อการสืบพันธุ์ของสายพันธุ์นี้ รวมถึงในพื้นที่นี้มีคาปิบาราอาศัยอยู่หลายครอบครัว ทำให้พวกมันต้องแข่งขันกัน เพื่อแย่งอาณาเขตและอาหารมากขึ้น
นักสิ่งแวดล้อมบางคนเรียกร้องให้ปล่อยคาปิบาราใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ควรออกกฎหมายเพื่อปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำและป้องกันการก่อสร้างใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวแทน โดยตั้งอยู่บนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในนอร์เดลตา และตั้งคำถามถึงความย้อนแย้งของมนุษย์ ผู้ต้องการใช้ชีวิตในธรรมชาติ แต่กลับต้องการกำจัดสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นคาปิบาราในนอร์เดลตาหรือสุนัขจิ้งจอกในชุมชนใกล้เคียง
ที่มา: El Pais, Salon, The Guardian