เจ้าสัวธนินท์ หนุน CP ดึงเทคโนโลยี 'มิตซูบิชิ อิเล็คทริค' ลดปล่อยคาร์บอน

"มิตซูบิชิ อิเล็คทริค” จับมือ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ผลักดันเทคโนโลยีความเป็นกลางทางคาร์บอน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนสังคมยั่งยืนในไทยและอาเซียน
บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น (Mitsubishi Electric Corporation หรือ MELCO) จากญี่ปุ่น ร่วมมือกับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ประกาศร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนใน 2 ด้าน ได้แก่
1.ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสู่ด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ เทคโนโลยีการรีไซเคิลขยะพลาสติก
2.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของทั้งสององค์กร ในการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยมิตซูบิชิ อิเล็คทริค จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยยกระดับกระบวนการทำงานในธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และต่อยอดไประดับภูมิภาค ที่นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และ บุคลากร มาร่วมกันพัฒนา รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ระบบดิจิทัล และโซลูชันที่ตอบโจทย์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
รวมไปถึงการพัฒนาระบบรีไซเคิลพลาสติก โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของมิตซูบิชิ อิเล็คทริค นอกจากนี้ทั้งสองบริษัทจะร่วมมือพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจร่วมกัน และยังมีแผนการพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคตร่วมกัน ซึ่งจะทำให้คนไทยมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติ รวมไปถึงเมืองอัจฉริยะ และต่อยอดไปถึงงานวิจัยด้านเทคโนโลยี
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้มี นายเคอิ อุรุมะ ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น ร่วมลงนามกับนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย นายทาดาชิ มัทซึโมโต รองประธานบริหารมิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น และนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดา กรุงเทพฯ
นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ความร่วมมือกับมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ในครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้เครือซีพีก้าวไปข้างหน้าในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนและเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจของไทยและอาเซียน
"เครือซีพีมุ่งมั่นที่จะใช้จุดแข็งทางธุรกิจและเครือข่ายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์อนาคต นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรที่เป็นเรื่องที่เครือให้ความสำคัญ”
นายเคอิ อุรุมะ ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มบริษัทเครือซีพีเป็นองค์กรที่มีปรัชญาและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างประโยชน์แก่ประเทศและภูมิภาคอาเซียน ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไทยและอาเซียน พร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะการรีไซเคิลพลาสติก ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญในระดับโลกและเป็นกุญแจสำคัญในการปรับตัวตามระเบียบสหภาพยุโรปเกี่ยวกับยานยนต์ที่หมดอายุ ELV (End of Life Vehicles) ด้วยประสบการณ์กว่า 60 ปีของมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ในประเทศไทย และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเชื่อมั่นว่าการจับมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับความร่วมมือในด้าน “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” เครือซีพีเตรียมนำระบบ SCADA ของมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ติดตั้งในโรงงานและฟาร์มของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานพร้อมทดลองโซลูชันประหยัดพลังงานในร้านค้าปลีกของซีพี แอ็กซ์ตร้า เช่น แม็คโคร และโลตัส โดยเริ่มที่กรุงเทพฯ เป็นกลุ่มแรก
นอกจากนี้ จากโซลูชันเหล่านี้ทั้ง 2 บริษัทตั้งเป้าลดการใช้ไฟฟ้าของร้านค้าที่ทดสอบลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน ขณะเดียวกันทั้ง 2 บริษัทจะลดการใช้พลังงานในเครือซีพีโดยขยายการใช้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานที่ได้รับจากโครงการข้างต้น
รวมถึงนำโซลูชันการประหยัดพลังงานของมิตซูบิชิ อิเล็คทริคไปใช้ในร้านค้าปลีก โรงงาน อาคาร ศูนย์ข้อมูล และสถานที่อื่นๆ ของกลุ่มซีพี ไปพร้อมกับการสำรวจโอกาสทางธุรกิจจากดำเนินงานดังกล่าวควบคู่ด้วย
สำหรับความร่วมมือในด้าน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ทั้งสองฝ่ายจะศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบรีไซเคิลพลาสติก โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของมิตซูบิชิ อิเล็คทริค บวกกับความเชี่ยวชาญด้านการจัดการธุรกิจของเครือซีพี ครอบคลุมการจัดการพลาสติก ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการขยายผลไปยังบริษัทชั้นนำด้านค้าปลีก