‘เจน Z’ นั่งรถไฟเที่ยว ลดการปล่อยคาร์บอน ส่วนบูมเมอร์นั่งเครื่องเหมือนเดิม

“เจน Z” เป็นกังวลกับปัญหา “วิกฤติสภาพแวดล้อม” ทำให้พวกเขานิยมท่องเที่ยวแบบไม่นั่งเครื่องบิน สวนทางกับ “คนสูงอายุ” ที่นิยมไปท่องเที่ยวด้วยการนั่งเครื่องบิน
KEY
POINTS
- การสำรวจพบว่าชาวเจน Z เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะท่องเที่ยวโดยใช้ขึ้นเครื่องบินมากที่สุด เพราะมีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม สวนทางกับกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่เน้นนั่งเครื่อง
- การท่องเที่ยวโดยไม่ใช้เครื่องบิน เริ่มเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวของชาวสวีเดนมาตั้งแต่ปี 2019 ที่เรียกว่า “Flygskam” ซึ่งแปลว่า “ละลายใจที่จะบิน” (Flight shame)
- เทรนด์นี้ทำให้การเดินทางโดยรถไฟเติบโตขึ้นถึง 35.6% ในปี 2024 และบริษัทต่าง ๆ ออกทัวร์เพื่อตอบรับกระแสนี้มากยิ่งขึ้น
คนแต่ละรุ่นล้วนมีไลฟ์สไตล์ ค่านิยม และทัศนคติแตกต่างกันไป ไม่เว้นแม้แต่ในด้าน “การท่องเที่ยว” ซึ่งผลสำรวจล่าสุดพบว่า “เจน Z” เป็นกังวลกับปัญหา “วิกฤติสิ่งแวดล้อม” ทำให้พวกเขานิยมท่องเที่ยวแบบไม่นั่งเครื่องบิน สวนทางกับ “คนสูงอายุ” ที่นิยมไปท่องเที่ยวด้วยการนั่งเครื่องบิน
จากการสำรวจของ YouGov บริษัทวิจัยตลาดและวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมกับ Social Hub ธุรกิจโรงแรมและโคเวิร์คกิ้งสเปซ พบว่าชาวเจน Z (อายุ 18-27 ปี) 47% กังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางมากกว่าคนรุ่นก่อน โดยกลุ่มมิลเลนเนียล 42% (อายุระหว่าง 28-41 ปี) ส่วนคนรุ่นเบเบี้บูมเมอร์ ซึ่งปัจจุบันมีอายุระหว่าง 60-70 ปี มีเพียง 31% และตัวเลขนี้จะลดลงเหลือเพียง 26% ในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 78 ปี
ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่แตกต่างกันนักท่องเที่ยวช่วงวัยต่าง ๆ ระหว่างนักท่องเที่ยว โดยชาวเจน Z เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการขึ้นเครื่องบินมากที่สุด
สอดคล้องกับรายงานประจำปีของ Student Universe ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวสำหรับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุด ที่ระบุว่า มีนักศึกษา 13% กล่าวว่าพวกเขาจะไม่เดินทางโดยเครื่องบินเนื่องจากการปล่อยมลพิษ และ 21% รู้จักใครบางคนที่ปฏิเสธที่จะเดินทางโดยเครื่องบิน อีก 23% กล่าวว่าพวกเขายินดีที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมชดเชยคาร์บอนเมื่อทำการจอง
ด้วยเหตุนี้ ทำให้บริษัทท่องเที่ยวจำนวนมาก จัดทำแผนการเดินทางท่องเที่ยวโดยไม่นั่งเครื่องบิน เพื่อตอบสนองต่อกระแสดังกล่าว เมื่อปี 2024 บริษัทท่องเที่ยว Byway เปิดตัวทริปท่องเที่ยวเกาะอิบิซา ร่วมกับ First Choice ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่โดยเฉพาะ
ในปี 2024 ABTA ได้ทำการสำรวจผู้คนจำนวน 2,000 คน และมากกว่าครึ่งหนึ่งของพวกเขาบอกว่าพวกเขาเลือกโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อจองการเดินทาง โดย 18% บอกว่าพวกเขาเลือกจุดหมายปลายทางที่ใกล้กับสหราชอาณาจักรมากขึ้นโดยคำนึงถึงความยั่งยืน
แม้ว่าอาจใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อย แต่การเดินทางโดยเรือหรือรถไฟจะช่วยให้พวกเขาดื่มด่ำกับทิวทัศน์เพิ่มมากขึ้น
นอกจากการเดินทางแล้ว การเลือกที่พักก็เป็นสิ่งสำคัญ ผลสำรวจของ YouGov ยังพบอีกว่าชาวเจน Z ในอังกฤษถึง 48% เชื่อว่าคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อมของโรงแรมมีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่นเดียวกับ 43% ของกลุ่มมิลเลนเนียล แต่ในกลุ่มผู้ใหญ่กับไม่ให้ความสำคัญมากเท่า โดยเจน X อยู่ที่ 32% เท่ากับกลุ่มเบบี้บูมเมอร์
การมีส่วนร่วมกับชุมชนถือเป็นสิ่งสำคัญในหมู่คนรุ่นใหม่ โดย 58% ระบุว่าจะเลือกโรงแรมที่เปิดโอกาสให้อาสาสมัครหรือสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น อีกทั้งผู้ตอบแบบสอบถาม 47% ระบุว่าจะไม่จองโรงแรมหากรู้ว่าโรงแรมปฏิบัติต่อพนักงานไม่ดีหรือไม่จ่ายค่าจ้างที่เหมาะสม
มีชาวเจน Z 25% หลีกเลี่ยงการจองโรงแรมหากโรงแรมนั้นมีความน่าเชื่อถือต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เช่น มีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูง หรือไม่มีนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แอมเบอร์ เวสเตอร์บอร์ก ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนและผลกระทบจาก The Social Hub กล่าวว่าผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และความรับผิดชอบในการเดินทาง
“คนรุ่นใหม่เติบโตมาท่ามกลางวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงสมเหตุสมผลที่คนรุ่นใหม่จะกังวลมากขึ้นว่าการเดินทางของพวกเขาอาจส่งผลต่อโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่และชุมชนที่พวกเขาไปเยี่ยมเยียนอย่างไร” เวสเตอร์บอร์กกล่าว
ละอายใจที่จะบิน
การท่องเที่ยวโดยไม่ใช้เครื่องบิน เริ่มเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวของชาวสวีเดนมาตั้งแต่ปี 2019 โดยเรียกว่า “Flygskam” ซึ่งแปลว่า “ละลายใจที่จะบิน” (Flight shame) เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเลิกบินภายในประเทศ ลดการปล่อยคาร์บอน ด้วยการเปลี่ยนมานั่งรถไฟ หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ แทน รวมไปถึงการปั่นจักรยาน หลังจากนั้นเทรนด์นี้ก็เริ่มแพร่หลายไปทั่วยุโรป
การเดินทางด้วยรถไฟถือเป็นวิธีเดินทางระยะไกลที่ยั่งยืนที่สุดวิธีหนึ่ง โดยรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อผู้โดยสารน้อยกว่าเครื่องบินอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น เที่ยวบินจากลอนดอนไปปารีสปล่อยคาร์บอน ประมาณ 244 กิโลกรัมต่อผู้โดยสารหนึ่งคน ในขณะที่การเดินทางด้วยรถไฟจะปล่อยเพียง 15 กิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าถึง 90% ตามการประมาณการของ Eurostar
การสำรวจของ Hitachi Rail บริษัทด้านระบบขนส่งแบบราง และ SavantaComres บริษัทสำรวจตลาด เผยให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลก 64% สนับสนุนให้แบนการเดินทางทางอากาศ ในกรณีที่มีทางเลือกอื่นคือรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้คนมากราว 35% คาดว่าจะเดินทางด้วยรถไฟมากขึ้น ในขณะที่ 56% สนับสนุนให้เพิ่มภาษีอากาศเพื่อนำเงินไปลงทุนในบริการรถไฟความเร็วสูงใหม่
Byway ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินทางโดยไม่ต้องขึ้นเครื่องบิน เปิดเส้นทางรถไฟใหม่หลายเส้นทางในยุโรป เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งนำฉลากคาร์บอนมาใช้สำหรับการเดินทาง ซึ่งช่วยให้สามารถเปรียบเทียบกับการปล่อยมลพิษจากการเดินทางทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลจาก Euromonitor เน้นย้ำถึงการขนส่งทางรถไฟว่าเป็นประเภทการเดินทางที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในปี 2024 โดยเติบโต 35.6% เมื่อเทียบกับปี 2023 แสดงให้เห็นว่ายุคทองของการเดินทางด้วยรถไฟได้กลับมาอีกครั้ง และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังใช้ประโยชน์จากกระแสนี้
บริษัทต่าง ๆ เช่น Railbookers โดยเสนอแผนการเดินทางรอบโลกด้วยขบวนรถไฟสุดหรูในราคา 113,599 ดอลลาร์ต่อคน โดยใช้เวลาท่องเที่ยว 80 วัน ครอบคลุม 4 ทวีป และ 13 ประเทศ ส่วนญี่ปุ่นส่งเสริมเปิดให้จองตั๋ว “ทรานสวีท ชิกิชิมะ” รถไฟหัวกระสุนที่ตกแต่งและบริการระดับโรงแรม 5 ดาวในเส้นทางพิเศษที่เต็มไปด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม ซึ่งตั๋วถูกจองเต็มไปในเวลาเพียงไม่นาน ขณะที่ทางรถไฟสายทะเลทรายในแอฟริกา ที่เชื่อมหัวเมืองใหญ่ ๆ ผ่านทะเลทรายซาฮารากำลังจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้
ที่มา: Independent , The Canary, The Times, WTM