เช็กเงื่อนไข ยกเว้นภาษีที่ดินป่าชายเลน ป้องกันพื้นที่ถูกถางไปทำการเกษตร

ที่ผ่านมามีผู้ปรับเปลี่ยนที่ดินที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนให้เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมเพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง ซึ่งพื้นที่ป่าชายเลนนั่นมีคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยดูดซับคาร์บอน
ป่าชายเลนมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศไทย โดยเป็นพันธมิตรตามธรรมชาติในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูงจึงช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มปริมาณออกซิเจน
ด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ประเทศไทยไม่เพียงแต่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและชุมชนชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อพันธสัญญาระดับประเทศและระดับโลกในการลดการปล่อยคาร์บอนองประเทศไทยด้วย
ป่าชายเลนถูกถาง เพราะ พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เปิดเผยว่า จากปัญหาที่ดินพื้นที่ป่าชายเลนเอกสารสิทธิ์ที่มีสภาพป่าชายเลนสมบูรณ์ถูกแผ่วถาง เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อันเนื่องมาจาก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเข้าข่ายที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ซึ่งมีอัตราภาษีสูงกว่าพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ปรับเปลี่ยนที่ดินที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนให้เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมเพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง ซึ่งพื้นที่ป่าชายเลนนั่นมีคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการช่วยลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เร่งสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ป่าชายเลนได้รับผลกระทบ กรม ทช.จึงได้ลงพื้นที่ชี้แจงกับชุมชนที่มีที่ดินในลักษณะดังกล่าว รวมถึงประชุมหารือร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อเร่งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและรักษาพื้นที่ป่าชายเลนในที่เอกสารสิทธิ์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... (พื้นที่สีเขียว) เพื่อให้ยกเว้นภาษีให้แก่พื้นที่สีเขียว
เงื่อนไขได้รับยกเว้นภาษีที่ดิน
เงื่อนไขกำหนดให้ที่ดินที่จะได้รับยกเว้นภาษีจะต้องเป็นที่ดินซึ่งปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก และมีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดำรงชีวิต หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ตลอดปีภาษี ดังนี้
1. ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ในประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตรจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เฉพาะโครงการที่สอดคล้องกับระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจประเภทปลูกป่าและฟื้นฟูป่า
2. เป็นป่าชายเลน โดยมีรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกาศกำหนด ทั้งนี้ ที่ดินที่เข้าข่ายได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะต้องไม่มีการใช้หาผลประโยชน์ เว้นแต่เป็นการขาย หรือการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรม ทช. มุ่งหวังว่าการประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวจะเป็นการรักษาพื้นที่ป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน
"ไม่เพียงแต่เจ้าของที่ดินที่ได้รับการยกเว้นภาษี จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาร่วมกันปลูกเสริมป่าชายเลน ช่วยกันดูแลที่ดินป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์ และอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันปลูกป่าชายเลนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว"
นอกจากนี้ กรม ทช. ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการปลูกป่าชายเลนในที่ดินเอกสารสิทธิ์ รวมถึงการสนับสนุนแจกจ่ายกล้าไม้ป่าชายเลนเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล และได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนต่อไป