QS วัดคะแนนความยั่งยืน มหาวิทยาลัยทั่วโลก 2025 จุฬาฯครองอันดับ 1 ระดับประเทศ

QS วัดคะแนนความยั่งยืน มหาวิทยาลัยทั่วโลก 2025 จุฬาฯครองอันดับ 1 ระดับประเทศ

QS World University Rankings ในมิติด้านความยั่งยืน Edition ที่ 3 ครอบคลุมปัจจัย ESG มหาวิทยาลัยไม่เพียงมีบทบาทในฐานะศูนย์กลางการศึกษาและการวิจัย แต่ยังมีบทบาทเป็นนายจ้างด้วย

การจัดอันดับ QS World University Rankings: Sustainability 2025 ล่าสุดได้ถูกเผยแพร่ ซึ่งเน้นถึงมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยปีนี้ถือเป็นการจัดอันดับครั้งใหญ่ เพราะมีมหาวิทยาลัยร่วมมากกว่า 1,744 แห่ง มหาวิทยาลัยโตรอนโตครองอันดับหนึ่ง โดยได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ตามมาด้วยสถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค ที่ได้คะแนน 99.6 คะแนน โดยมีหลายสถาบันที่ปรับปรุงตำแหน่งของตนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ในช่วงปลายปี 2022 Quacquarelli Symonds Limited (QS) เปิดตัวฉบับนำร่องสำหรับการประเมินมหาวิทยาลัยในมิติความยั่งยืน “QS World University Rankings: Sustainability 2023 จากนั้นปลายปี 2023 จัดทำฉบับที่ 2 ที่เต็มรูปแบบมากขึ้น และล่าสุดฉบับสำหรับปี 2025 เป็นฉบับที่ 3 เพิ่งเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2024

นับตั้งแต่ฉบับแรกจำนวนสถาบันที่ได้รับการจัดอันดับเพิ่มเกือบ 150% ในฉบับนี้ มีสถาบันใหม่ที่ได้รับการจัดอันดับมากกว่า 350 แห่ง

การจัดอันดับนี้ประเมินมหาวิทยาลัยโดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืน โดยเน้นที่สามเสาหลักสำคัญ (ESG) ได้แก่

  • ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม: ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอน, การจัดการขยะ, การใช้พลังงาน และการริเริ่มโครงการที่ยั่งยืนในมหาวิทยาลัย
  • ผลกระทบทางสังคม: ประเมินการมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยต่อสังคม รวมถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชน, ความหลากหลายและการยอมรับ และการสนับสนุนกลุ่มที่ด้อยโอกาส
  • การบริหารจัดการ: ประเมินนโยบายและการปฏิบัติของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น การลงทุนที่มีจริยธรรม, ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ

เกณฑ์เหล่านี้ช่วยให้เห็นภาพรวมของการที่มหาวิทยาลัยต่างๆ กำลังแก้ไขปัญหาด้านความยั่งยืนและมีส่วนร่วมต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

10 มหาวิทยาลัยโลก TOP ด้านความยั่งยืน 2025

  • อันดับ 1 มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา คะแนนรวม 100.0
  • อันดับ 2 สถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คะแนนรวม 99.6
  • อันดับ 3 มี 2 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา คะแนนรวม 98.8
  • อันดับ 5 มี 2 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (UCL) สหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา คะแนนรวม 98.6
  • อันดับ 7 มี 2 สถาบัน วิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน และมหาวิทยาลัยเอดินบะระ สหราชอาณาจักร คะแนนรวม 98.4
  • อันดับ 9 มี 2 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย คะแนนรวม 98.3

การจัดอันดับนี้เน้นถึงความพยายามระดับโลกที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการศึกษาระดับสูงในการแก้ไขปัญหาด้านความยั่งยืน มหาวิทยาลัยโตรอนโต เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้ริเริ่มโครงการกลยุทธ์หลายอย่าง เช่น Climate Positive Energy และ SDGs@UofT ที่ส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและการเคลื่อนย้ายความรู้ในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

10 มหาวิทยาลัยไทย TOP ด้านความยั่งยืน 2025

  • อันดับ 168 ของโลก/อันดับ 1 ในไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คะแนนรวม 80.0
  • อันดับ 357 ของโลก/อันดับ 2 ในไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คะแนนรวม 68.8
  • อันดับ 473 ของโลก/อันดับ 3 ในไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คะแนนรวม 62.9
  • อันดับ 480 ของโลก/อันดับ 4 ในไทย มหาวิทยาลัยมหิดล คะแนนรวม 62.6
  • อันดับ 492 ของโลก/อันดับ 5 ในไทย มหาวิทยาลัยสงขลานคนรินทร์ คะแนนรวม 62.3
  • อันดับ 497 ของโลก/อันดับ 6 ในไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คะแนนรวม 62.2
  • อันดับ 500 ของโลก/อันดับ 7 ในไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คะแนนรวม 62.1
  • อันดับ 512 ของโลก/อันดับ 8 ในไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น คะแนนรวม 61.4
  • อันดับ 740 ของโลก/อันดับ 9 ในไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) คะแนนรวม 51.4
  • อันดับ 898 ของโลก/อันดับ 10 ในไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คะแนนรวม 46.6

จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย มีคะแนน Sustainability Rankings เฉลี่ยรวม 80.7 แบ่งเป็นด้านสิ่งแวดล้อมมีคะแนนเป็นอันดับ 71 ของโลก พิสูจน์ให้เห็นถึงความคิดริเริ่มที่มีผลดีและนโยบายเพื่อความยั่งยืน ขณะที่คะแนนการแลกเปลี่ยนความรู้อยู่ที่อันดับ 135 คะแนนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่อันดับ 124 คะแนนการบริหารจัดการองค์กรอยู่อันดับ 176 คะแนนความเท่าเทียมอันดับ 257 ของโลก และคะแนนผลกระทบด้านสังคมอยู่อันดับ 313 ของโลก

สถิติอื่นๆ ที่น่าสนใจ

  • มหาวิทยาลัยในแอฟริกา 7 แห่งติดอันดับ 500 อันดับแรกของโลก โดยมหาวิทยาลัยเคปทาวน์อยู่ในอันดับที่ 45 ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดในภูมิภาค
  • ออสเตรเลียมีมหาวิทยาลัย 14 แห่งอยู่ใน 100 อันดับแรกของโลก โดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นยังคงอยู่ในอันดับที่ 9
  • ในเอเชีย มหาวิทยาลัย 6 แห่งจาก 4 ประเทศติดอันดับ 100 อันดับแรกของโลก โดยมหาวิทยาลัยโตเกียวอยู่ในอันดับสูงสุด คือ อันดับที่ 44 ส่วนจีนมีมหาวิทยาลัย 114 แห่งที่อยู่ในการจัดอันดับ นำโดยมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในอันดับที่ 133 และอินเดียมีมหาวิทยาลัย 78 แห่ง นำโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียของกรุงนิวเดลี (IIT Delhi) ในอันดับที่ 171
  • สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในด้านตัวแทน โดยมีสถาบัน 239 แห่งอยู่ในการจัดอันดับ นำโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ที่อยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก แต่คะแนนเฉลี่ยตามหลังยุโรปและออสเตรเลเซีย
  • สหราชอาณาจักรมีมหาวิทยาลัย 26 แห่งอยู่ใน 100 อันดับแรกของโลก และอยู่ใน 10 อันดับแรกมากกว่าประเทศอื่น
  • มหาวิทยาลัยโตรอนโตยังคงเป็นอันดับหนึ่งของโลก มหาวิทยาลัยของแคนาดา 2 แห่งติด TOP 5 ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ
  • มหาวิทยาลัย Lund ของสวีเดนก็มีความก้าวหน้า โดยไต่จากอันดับที่ 8 ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ร่วมด้วยการปรับปรุงด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อม
  • นิวซีแลนด์มีมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่งอยู่ใน 500 อันดับแรก โดยได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์เป็นผู้นำ โดยอยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก