โลก ‘แห้งแล้ง’ หนักสุดรอบ 30 ปี เกิดไฟป่า-ภัยแล้ง-กลายเป็นทะเลทรายทั่วโลก

โลก ‘แห้งแล้ง’ หนักสุดรอบ 30 ปี เกิดไฟป่า-ภัยแล้ง-กลายเป็นทะเลทรายทั่วโลก

พื้นที่กว่า 3 ใน 4 ของโลก “แห้งแล้ง” ขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ตามรายงานฉบับใหม่ของสหประชาชาติที่เรียกการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่าเป็น “อันตรายต่อการดำรงอยู่ของโลก”

KEY

POINTS

  • UNCCD ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปี 2020 พื้นที่กว่า 77.6% ของโลกแห้งแล้งลง และพื้นที่ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่แห้งแล้งขยายตัวออกไปประมาณ 4.3 ล้านตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40% ของโลก
  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกแห้งแล้งขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ต่าง ๆ เผชิญกับพายุทรายและฝุ่น ไฟป่า การขาดแคลนน้ำ จนทำให้พืชผลเสียหาย และกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด
  • ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมของโลกเสื่อมโทรมลงประมาณ 40% ซึ่งจะทำให้โลกต้องสูญเสียข้าวโพด 20 ล้านตัน ข้าวสาลี 21 ล้านตัน และข้าว 19 ล้านตัน ภายในปี 2040

รายงานของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หรือ UNCCD ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปี 2020 พื้นที่กว่า 77.6% ของโลกแห้งแล้งลง และพื้นที่ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่แห้งแล้งขยายตัวออกไปประมาณ 4.3 ล้านตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40% ของโลก

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา พื้นที่เกือบ 8% ของโลกได้เปลี่ยนจากพื้นที่ไม่แห้งแล้งไปสู่พื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งหลายพื้นที่เคยเป็นพื้นที่ชื้นมาก่อน และพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีก 3% กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 และพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ของโลกเกือบ 1 ล้าน ตร.กม.เสื่อมโทรมลงทุกปี 

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกแห้งแล้งขึ้น หากประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดอุณหภูมิลงได้ ภาวะแห้งแล้งอาจส่งผลให้พื้นที่ต่าง ๆ เผชิญกับพายุทรายและฝุ่น ไฟป่า การขาดแคลนน้ำ จนทำให้พืชผลเสียหาย และกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด

ในตอนนี้มีประชากรเกือบ 33% ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แห้งแล้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 1990 ซึ่งประเทศเหล่านั้นเป็นแหล่งผลิตอาหารรายใหญ่ เช่น อาร์เจนตินา สเปน และภูมิภาคทะเลดำ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น ซูดานใต้ ก็มีความเสี่ยงต่อความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางการเมือง

“วิกฤติความแห้งแล้งกำลังก่อตัวขึ้นในช่วงชีวิตของเรา สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อลูกหลานของเรา” นาร์ซิซา ปริโคป หนึ่งในผู้เขียนรายงานและนักวิทยาศาสตร์ด้านการจัดการดิน จากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปีสเตท กล่าว

พื้นที่ที่นักวิทยาศาสตร์จัดว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง หมายถึง พื้นที่เผชิญภัยแล้งและขาดความชื้นอย่างต่อเนื่อง พื้นดินสูญเสียน้ำจำนวนมาก ผ่านการระเหยและการปล่อยไอระเหยของพืช มากกว่าที่ไหลมาในรูปของฝนหรือหิมะ

อิบราฮิม เธียวเลขาธิการ UNCCD กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ความแห้งแล้งไม่เหมือนกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ฝนตกน้อยชั่วคราว ความแห้งแล้งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถาวรและไม่หยุดหย่อน เมื่อสภาพอากาศในพื้นที่แห้งแล้งขึ้น การกลับคืนสู่สภาพเดิมก็จะหายไป และสภาพอากาศที่แห้งแล้งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเช่นเคยอีกต่อไป และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กำลังทำให้นิยามชีวิตบนโลกเปลี่ยนไป” 

ในปี 2020 พื้นที่มากกว่า 40% ของโลก (ไม่นับรวมทวีปแอนตาร์กติกา) ที่ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง หากพื้นที่แห้งแล้งขยายตัวออกไปอีก ภูมิภาคต่าง ๆ หลายแห่งอาจได้รับผลกระทบ  ได้แก่ ภูมิภาคตะวันตกกลางของสหรัฐ เม็กซิโกตอนกลาง แอฟริกาตอนใต้เป็นบริเวณกว้าง และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด โดยเฉพาะในยุโรปที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่กว่า 95.9% ของทวีปแห้งแล้งมากขึ้น และแนวโน้มนี้อาจรุนแรงขึ้นหากการปล่อยมลพิษเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะเดียวกันบางพื้นที่ เช่น แอฟริกากลางและอินเดีย อาจจะมีฝนและหิมะอาจตกลงมาในปริมาณที่มากขึ้น แม้ว่าจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นก็ตาม ซึ่งอาจจะสามารถช่วยชดเชยความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้

UNCCD ระบุอีกด้วยว่า ยังไม่มีพื้นที่แห้งแล้งใดที่จะกลับไปเป็นพื้นที่ชุ่มชื้นได้ในช่วงสิบปีข้างหน้า

ปีเตอร์ เกรฟ นักวิทยาศาสตร์ด้านน้ำและสภาพอากาศจากสถาบันวิจัย Helmholtz-Zentrum Hereon ในเยอรมนี กล่าวว่า เราไม่สามารถกลับไปแก้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะความแห้งแล้งในช่วงเวลาที่มนุษย์ยังคงดำรงชีวิตอยู่ ทางเดียวที่จะพอทำได้คือ การปรับตัว ในปัจจุบันพืชและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นได้ โดยการย้ายไปทางเหนือหรือไปยังพื้นที่ที่สูงขึ้น แต่บางครั้งก็เป็นไปไม่ได้เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วเกินไป

นักวิทยาศาสตร์แนะนำว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้น เช่น ป่าไม้กลายเป็นทุ่งหญ้า จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์หลายพันชนิด ผลกระทบต่อระบบนิเวศสามารถมองเห็นได้ในปี 2024 เนื่องจากตะวันออกกลางประสบกับพายุทรายบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น และไฟป่ารุนแรงทำลายป่าในแคลิฟอร์เนีย ออริกอน และวอชิงตัน

รายงานเสริมว่าความแห้งแล้งยังมีแนวโน้มที่จะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมของโลกเสื่อมโทรมลงประมาณ 40% ซึ่งจะทำให้โลกต้องสูญเสียข้าวโพด 20 ล้านตัน ข้าวสาลี 21 ล้านตัน และข้าว 19 ล้านตัน ภายในปี 2040

ปัญหาทำเกษตรไม่ได้ การขาดแคลนน้ำ และผลกระทบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากความแห้งแล้ง จนทำให้ไม่สามารถสามารถอยู่อาศัยได้ จะเกิดการอพยพระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียใต้ ที่จะมีผู้คนนับล้านคนกลายเป็นผู้ลี้ภัย

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สมัยที่ 16 หรือ UNCCD COP16 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม 2567 ที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้พยายามชะลอความการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

สอดคล้องกับการประชุม COP29 เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ตัวแทนจากซาอุดีอาระเบียคัดค้านการให้คำมั่นสัญญาที่จะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และขัดขวางข้อตกลงจำกัดมลพิษและการผลิตพลาสติก


ที่มา: Court House NewsThe HillThe New York TimesUNCCD