‘Coca-Cola’ ลดเป้าหมาย ‘สิ่งแวดล้อม’ ใช้วัสดุรีไซเคิลน้อยลง แก้นโยบายรียูส
บริษัท Coca-Cola กำลังปรับลดเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์ ทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมไม่พอใจ
KEY
POINTS
- Coca-Cola ปรับลดเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์ ทั้งการใช้วัสดุรีไซเคิล และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์
- Coca-Cola ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้สร้างมลพิษจากพลาสติกมากที่สุดของโลกเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน
- องค์กรสิ่งแวดล้อมระบุว่า สิ่งนี้ถือเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการฟอกเขียว
Coca-Cola บริษัทเครื่องดื่มที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก ปรับลดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมลง โดยตั้งเป้าที่จะใช้วัสดุรีไซเคิล 35-40% ในบรรจุภัณฑ์หลัก (พลาสติก แก้ว และอะลูมิเนียม) ภายในปี 2035 ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 50% ภายในปี 2030
นอกจากนี้ บริษัทยังเปลี่ยนเป้าหมายการรีไซเคิลอีกด้วย เดิมในปี 2018 Coca-Cola ประกาศว่าภายในปี 2030 ขวดพลาสติก และกระป๋องบรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นของบริษัทจะต้องถูกนำไปรีไซเคิลทั้งหมด แต่ในตอนนี้บริษัทได้ลดเป้าหมายดังกล่าวลงเหลือเพียง 70-75% โดยไม่ได้ระบุระยะเวลาที่ชัดเจน
ในปี 2022 บริษัทให้คำมั่นว่าจะขายเครื่องดื่ม 25% ในขวดแก้วหรือขวดพลาสติกที่เติมซ้ำได้หรือส่งคืนได้ หรือในภาชนะที่เติมซ้ำได้ซึ่งสามารถเติมได้ที่เครื่องจ่ายเครื่องดื่มแบบฟรีสไตล์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ หน้าเว็บไซต์ที่มีนโยบายดังกล่าวกล่าวได้ถูกลบออกไปอย่างเงียบๆ โดยไม่มีเป้าหมายใหม่สำหรับบรรจุภัณฑ์รียูสมาทดแทน
มลพิษจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เพราะส่วนใหญ่ทำมาจากโพลิเมอร์ที่สร้างจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยากจะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ รายงานล่าสุดของมูลนิธิ Minderoo พบว่าบริษัทต่างๆ ผลิตพลาสติกในปริมาณสูงขึ้นจนทำลายสถิติ แม้จะมีการระบุว่ามีความพยายามที่จะยั่งยืนมากขึ้นก็ตาม
นักรณรงค์เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ เปลี่ยนจากการใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นการนำขวดกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากสินค้าที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นปัญหา และสินค้าที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่รีไซเคิลแล้วส่วนใหญ่ยังคงก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
บี เปเรซ รองประธานบริหารฝ่ายความยั่งยืนและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ของ Coca‑Cola กล่าวในข่าวเผยแพร่ว่า “เรายังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างความยืดหยุ่นทางธุรกิจในระยะยาว และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทางสังคมผ่านเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมโดยสมัครใจตามแผนที่เราพัฒนาขึ้นมา”
“ความท้าทายเหล่านี้มีความซับซ้อนและเราต้องขับเคลื่อนการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น พร้อมทำงานร่วมกันกับพันธมิตรเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืน”
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Oceana ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ Coca-Cola ถึงการเปลี่ยนแปลงที่ “มองไม่ไกลและไม่รับผิดชอบ” โดยระบุว่าสมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากลูกค้า พนักงาน นักลงทุน ตลอดจนรัฐบาลที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบของพลาสติกต่อมหาสมุทร และสุขภาพ
แมตต์ ลิตเติลจอห์น รองประธานอาวุโสฝ่ายริเริ่มเชิงกลยุทธ์ของ Oceana กล่าวในแถลงการณ์ว่า “คำมั่นสัญญาใหม่ที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการรีไซเคิลของบริษัทจะไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลาสติกโดยรวมของบริษัท รัฐบาลต่างๆ และเหล่านักลงทุนทั่วโลกของ Coca-Cola ควรให้ความสนใจในเรื่องนี้ และดำเนินการบางอย่างเพื่อให้บริษัทรับผิดชอบ”
“Coca-Cola มีความรับผิดชอบในการรับผิดชอบต่อขยะ และมลพิษที่บริษัทสร้างขึ้นอย่างแท้จริง แต่กลับโยนขวดพลาสติกทิ้งลงทะเลอีกครั้ง” ลิตเติลจอห์น กล่าว
เมื่อต้นปี 2024 บริษัท Coca-Cola เปิดตัวขวดใหม่สำหรับเครื่องดื่มอัดลมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบไม่มีน้ำตาล แบบไดเอท แบบออริจินัล เป็นต้น ซึ่งทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% บริษัทประเมินว่าขวดใหม่นี้จะช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ใช้ในซัพพลายเชนในสหรัฐ ได้ถึง 37 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับขวดพลาสติกจำนวน 2,000 ล้านขวด
อย่างไรก็ตาม Coca-Cola ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้สร้างมลพิษจากพลาสติกมากที่สุดของโลกเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ตามข้อมูลขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Break Free from Plastic ที่ทำการสุ่มเก็บขยะพลาสติก 537,719 ชิ้น จาก 40 ประเทศทั่วโลก พบว่าขวดของ Coca-Cola ถือเป็นสิ่งของที่ถูกทิ้งบ่อยที่สุด โดยมักจะทิ้งในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ และชายหาด ด้วยจำนวน 33,830 ชิ้น
ในแถลงการณ์ของ Break Free from Plastic ระบุว่า “การเคลื่อนไหวล่าสุดของ Coca-Cola ถือเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการฟอกเขียว การยกเลิกเป้าหมายการนำกลับมาใช้ซ้ำที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ แต่กลับเลือกที่จะทำให้โลกเต็มไปด้วยพลาสติกแทน และยังไม่สามารถรวบรวม และรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
Coca-Cola แจ้งกับ The Guardian ว่า “เราใส่ใจผลกระทบของเครื่องดื่มทุกชนิดที่เราขาย และมุ่งมั่นที่จะเติบโตในธุรกิจของเราด้วยวิธีที่ถูกต้อง”
นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า แนวทางใหม่ของ Coca-Cola สะท้อนให้เห็นถึงแผนการจัดการกับมลพิษจากพลาสติกของแบรนด์ใหญ่ๆ ที่อาจจะทำได้จริงมากขึ้น แม้ว่าบริษัทจะชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้น แต่นักเคลื่อนไหวแย้งว่ามาตรการเหล่านี้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ตามรายงานของ World Economic Forum ระบุว่า ปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในปี 2050
ที่มา: CNN, Quartz, The Guardian
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์