‘อาเซียน’ ก้าวสู่ผู้นำตลาด ‘รถอีวี’ ยอดขายพุ่ง แหล่งผลิตแบตเตอรี่ รัฐสนับสนุน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถปฏิวัติการเดินทางระดับโลก และกำหนดอนาคตของการขนส่งได้ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การสนับสนุนจากรัฐบาล การผสมผสานนวัตกรรม แต่จำเป็นต้องพัฒนาความสามารถของบุคลากร และมีความร่วมมือระดับภูมิภาค
ในยุคที่โลกกำลังมุ่งสู่การ “ปล่อยคาร์บอนต่ำ” (Low-carbon) ทำให้ภาคคมนาคมกำลังเผชิญกับเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เทคโนโลยีแบตเตอรี่ และโครงสร้างพื้นฐาน
วิชาล เทวรจัน จาก McKinsey Centre for Future Mobility ได้กล่าวในงาน SCBX Reimagining Climate: EP3 Powering the Future: Energy Transition and Mobility ซึ่งจัดขึ้นที่ SCBX Next Tech สยามพารากอน ถึงอนาคตของการเดินทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภูมิภาคนี้สามารถปฏิวัติการเดินทางระดับโลก และกำหนดอนาคตของการขนส่งได้ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การสนับสนุนจากรัฐบาล การผสมผสานนวัตกรรม ความร่วมมือ และการให้ความสำคัญกับผู้บริโภค
“วิธีการสร้างเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานคือ การรับฟังผู้บริโภค สร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างรวดเร็ว และสร้างระบบนิเวศที่ใช้งานได้” วิชาล กล่าว
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของโลก โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ นโยบายสนับสนุน และตลาดที่เติบโตขึ้น ภายในปี 2030 ตลาดรถอีวีของภูมิภาคนี้คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 60,000 ล้านดอลลาร์
ประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า ข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 2023 พบว่า ไทยมีรถยนต์ที่จดทะเบียนเป็น รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ถึง 12% เป็นผลมาจากการสนับสนุนจากรัฐบาล และนโยบายการขนส่งที่ยั่งยืน
ขณะที่ สิงคโปร์ออกนโยบายต่างๆ กระตุ้นให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น การให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มผู้ซื้อรถอีวีกลุ่มแรกๆ (EEAI) และการเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณการปล่อยก๊าซ (VES) สามารถช่วยให้ชาวสิงคโปร์เข้าถึงรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น และส่งเสริมทางเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เวียดนามเป็นประเทศที่มีการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยปัจจุบันรถมอเตอร์ไซค์ 90% เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของภูมิภาคนี้ และจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างเฉพาะเจาะจง
lส่วนอินโดนีเซียก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ โดยมีนิกเกิลสำรอง 22% ของโลก และในปี 2022 ผลิตโคบอลต์ได้เป็นอันดับที่ 4
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนจะเติบโตอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) มากกว่า 30% สำหรับรถสองล้อ (E2Ws) และ 27% สำหรับรถสี่ล้อ (E4Ws) แต่จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากร ซอฟต์แวร์ และส่วนประกอบต่างๆ ในอุตสาหกรรม รวมถึงต้องยอมรับความร่วมมือข้ามพรมแดน ตลอดจนความร่วมมือเชิงกลยุทธ์แบบ OEM
ด้วยการใช้จุดแข็งเหล่านี้ ประกอบกับการแก้ไขปัญหาซัพพลายเชน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จะช่วยให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเป็นผู้กำหนดนิยามใหม่ของการเดินทางที่ยั่งยืน พร้อมช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก
โอกาสทางการตลาดมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ นี้ เน้นย้ำถึงศักยภาพของภูมิภาคในการเป็นผู้นำทั้งด้านการนำรถยนต์ไฟฟ้า และนวัตกรรมมาใช้
“อนาคตของการเดินทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขึ้นอยู่กับการสร้างซัพพลายเชนที่มีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองทุกความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการผลิต และการส่งเสริมความร่วมมือในท้องถิ่น ตลอดจนความคิดริเริ่มต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการเดินทางที่ยั่งยืนในภูมิภาค จึงถือเป็นสิ่งสำคัญทั้งสิ้น” วิชาล กล่าว
ตามข้อมูลจาก McKinsey Center for Future Mobility ระบุว่า แม้ว่าตลาดรถไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีแนวโน้มที่ดี แต่ภาพรวมทั่วโลกกลับสวนทาง ในปี 2024 ยอดขายรถอีวีชะลอตัวลงในตลาดหลัก ๆ เช่น ยุโรป และสหรัฐ ขณะที่จีนยังคงรักษาระดับยอดขายไว้ได้ดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐาน และจุดชาร์จสาธารณะมีไม่เพียงพอ อีกทั้งแบตเตอรี่มีความจุไม่มากพอสำหรับการขับรถทางไกล ทำให้เจ้าของ EV ทั่วโลก 29% กำลังพิจารณาเปลี่ยนกลับมาใช้รถสันดาปอีกครั้ง
นอกจากนี้ ราคาแบตเตอรี่ที่แพงก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ยอดขายไม่ดีในยุโรป และสหรัฐ ที่กำลังเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการพยายามหาทางลดต้นทุนแบตเตอรี่ที่ลดลง เช่น ราคาเซลล์ลิเทียมไออนฟอสเฟต (LFP) เหลือ 55 ดอลลาร์ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งลดลง 50% เมื่อเทียบกับปี 2023
“ผู้ผลิต OEM สามารถแข่งขันกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ ได้ หากปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเพิ่มความคล่องแคล่วว่องไวในการปรับเปลี่ยน การพัฒนาฟีเจอร์ให้กับลูกค้า และการลดรอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์” วิชาล ระบุ
รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้แค่ต้องแข่งขันกับรถยนต์สันดาป หรือรถอีวีรุ่นอื่นๆ เท่านั้น แต่รถยนต์ไฟฟ้ายังมีส่วนสำคัญในการสร้าง “ระบบขนส่งที่ยั่งยืน” ของเมือง ที่มีประสิทธิภาพ และเน้นที่ผู้บริโภค เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ วิชาลเน้นย้ำว่า ผู้ผลิตจะต้องเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการ และนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นแรงขับเคลื่อน และเรียกร้องให้รัฐบาล ธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์