Urban-Act พลิกโฉมไทยสู่เมืองคาร์บอนต่ำ นำร่อง เชียงใหม่-ภูเก็ต-ขอนแก่น
Urban-Act ความร่วมมือระหว่าง GIZ และกระทรวงมหาดไทย พลิกโฉมไทยสู่เมืองคาร์บอนต่ำ พร้อมรับมือ Climate Change นำร่อง เชียงใหม่-ภูเก็ต-ขอนแก่น
ปี 2567 มีประชากรประมาณ 37.8 ล้านคนอาศัยอยู่ในเขตเมืองของประเทศไทย คิดเป็นประมาณ 52.8% ของประชากรทั้งหมด ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น ในปี 2566 ประชากรในเขตเมืองอยู่ที่ประมาณ 38.5 ล้านคน และในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 37.9 ล้านคน (ข้อมูล World Meters)
มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ประชากรในเมืองจะมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวของเมือง ทั้งนี้ พื้นที่เมืองมีผลอย่างมากต่อการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ซึ่งมีสัดส่วนถึง 75% และคาดว่าจะมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก
ด้วยเหตุนี้ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จึงริเริ่มโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act: Integrated Urban Climate Action for Low-Carbon & Resilient Cities) โดยมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงการพัฒนาเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นำร่อง 14 เมืองใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
สำหรับหน่วยงานดำเนินงานระดับภูมิภาค ประกอบด้วย GIZ, คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP), องค์การเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเอเชียแปซิฟิก (UCLG ASPAC) มหาวิทยาลัยชตุทการ์ท และมหาวิทยาลัยดอร์ทมุนท์ ประเทศเยอรมนี โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานหลักในประเทศไทย
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และ GIZ ลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมีหลายหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน เช่น สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย
ไทยเสี่ยงสูง ผลกระทบ Climate Change
ช่วงปาฐกถาเปิดงาน “ชำนาญวิทย์ เตรัตน์” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) จึงถือเป็นกรอบการทำงานสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องดำเนินตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 9, 11 และ 13 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองและขับเคลื่อนความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นความสำคัญของโครงการ Urban-Act จึงได้ขานรับและให้ความร่วมมือ ส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยเองก็มีภารกิจที่เกี่ยวข้องเรียกว่า ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ เพื่อประชาชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในภาคเมืองและความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง"
สังคม-ระบบนิเวศ-เศรษฐกิจ
Urban-Act เป็นโครงการที่รับสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2570
“โยฮันเนส แคร์เนอร์” ที่ปรึกษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้เน้นย้ำว่าเมืองต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน
การเปลี่ยนแปลงเมืองไปสู่ความยั่งยืน และการใส่ใจต่อสภาพภูมิอากาศ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และลดผลกระทบให้กับชุมชนที่มีรายได้น้อยได้
"เราต้องการเมืองที่มีความกระตือรือร้นเพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามแต่ละเมืองไม่สามารถที่จะแยกกันดำเนินการได้ โดยประเทศเยอรมนีตระหนักและให้ความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลในทุกระดับเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก จึงภูมิใจที่ได้เป็นผู้ริเริ่มและผู้สนับสนุนโครงการ Urban-Act ในภูมิภาค ผ่านแผนงาน IKI"
นำร่องเชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น
“ไฮน์ริช กูเดนุส” ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสนับสนุนการดำเนินการตามแผนงานการมีส่วนร่วมที่กำหนดโดยประเทศ (NDC) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 2030 ซึ่งการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการแนวดิ่งและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศหลายระดับ เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง
โครงการ Urban-Act ในไทยจะนำร่องที่เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น ทำงานในรูปแบบบูรณาการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับแผนและงบประมาณด้านเมือง ซึ่งรวมถึงการระบุมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างความสามารถในการฟื้นตัวในพื้นที่ต่างๆ เช่น การเคลื่อนย้ายในเมือง สภาพแวดล้อมในเมือง อาคาร และเศรษฐกิจหมุนเวียน
"นอกจาก โครงการ Urban-Act เรายังดำเนินงานแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย (IMT–GT) ในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่เขตเมืองที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ และการระบุแนวคิดโครงการที่เป็นรูปธรรมและมีความเป็นไปได้เพื่อเพิ่มโอกาสการรับเงินทุนและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ โดยเรามีความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการดำเนินงานกับหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการ"