การมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ กับความยั่งยืนองค์กร

การมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ กับความยั่งยืนองค์กร

การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-based Development) เป็นแนวทางหนึ่งที่หลายธุรกิจในประเทศไทยใช้เพื่อดำเนินการด้านความยั่งยืนองค์กร เพราะขณะที่ธุรกิจใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งธรรมชาติและมนุษย์ในพื้นที่ ก็ต้องมีการพัฒนาพื้นที่นั้นควบคู่กันไป

ซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (Public-Private-People Partnership) 

ความร่วมมือคือกุญแจสำคัญ แต่ความสำเร็จขึ้นกับการเข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง การพัฒนาต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนพื้นที่ ประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับ ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนธุรกิจ

เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะ SET ESG Experts Pool โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เยี่ยมชมการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1) การพัฒนา Khon Kaen Innovation Center โดยกลุ่มมิตรผล 2) การทำเกษตรแบบยั่งยืน อ. โนนสะอาด จ. อุดรธานี โดยบมจ. ไทยวา และ 3) การร่วมขับเคลื่อนเมืองคาร์บอนต่ำ สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ โดย บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย

แนวทางของธุรกิจทั้ง 3 ล้วนมาจากการ “มองความเชื่อมโยงของกิจกรรมทางธุรกิจกับพื้นที่” เพราะความยั่งยืนองค์กรต้องสะท้อนการลดผลกระทบและความเสี่ยง พร้อมสะท้อนการพัฒนาที่ชุมชน สิ่งแวดล้อม และองค์กรได้ประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งต้อง “มองชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่นเป็นพันธมิตร” เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาให้ตอบสนองปัญหาเชิงพื้นที่ นอกจากนี้ควร “มองนวัตกรรมเป็นเครื่องเร่งการพัฒนา” ทั้งนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์ หรือทางกระบวนการ และควรสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมด้วย

คณะฯ ได้เห็นตัวอย่างแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ข้างต้น ที่สะท้อนแนวคิดของ “กลุ่มมิตรผล” ในการวางแนวทางเพื่อรับมือความเสี่ยงที่อาจกระทบกับธุรกิจ ทั้งภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นจากภาวะโลกรวน หรือการขาดแคลนแรงงานเมื่อประเทศก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือปัญหาคุณภาพอากาศจากการเผาพืชผลทางการเกษตร กลุ่มมิตรผลวิเคราะห์ต้นตอของปัญหา และนำมาปรับการดำเนินงาน  ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ชุมชนเพื่อเพิ่มผลผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดจากผลิตผลเดิม รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การรับซื้อใบอ้อยเพื่อลดการเผาอ้อย หรือการสนับสนุนชุมชนในการเป็นคู่ค้า เป็นต้น

แนวทางของ “บมจ. ไทยวา” ในการร่วมมือกับชุมชนนาแปลงใหญ่ อ. โนนสะอาด ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรมันสำปะหลัง ทำให้เห็นการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทางผู้นำชุมชนชี้ว่า ก่อนหน้าความร่วมมือนี้ ได้ผลิตผลเพียง 3 ตันต่อไร่ ปัจจุบัน ได้ถึง 7-8 ตันต่อไร่ ยิ่งกว่านั้นยังนำเทคโนโลยีมาต่อยอด เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น การปรับปรุงดิน การพัฒนาพันธุ์พืช และยังช่วยจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน ตลอดจนสนับสนุนให้คนในชุมชนได้เข้าถึงการศึกษาอีกด้วย

ส่วน “โครงการสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” นำโดย บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย เป็นการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเมือง จากการร่วมมือของกลุ่มธุรกิจซีเมนต์หลายแห่งในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหามลภาวะอากาศและลดการปล่อย GHGs  ของธุรกิจและประเทศ แม้โครงการนี้เพิ่งเริ่มดำเนินการแต่ถือเป็นสัญญาณความร่วมมือที่หลายภาคส่วนมุ่งแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ร่วมกัน

แนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นดังกล่าว เป็นการพัฒนาเพื่อเป็นแนวทางขยายผลในอนาคต อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นความท้าทายที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ สิทธิในการต่อรองและผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงการวิเคราะห์-ประเมินปัญหาที่เฉพาะกับพื้นที่หากขยายผล