‘โลกร้อน’ ทุบสถิติเป็นเดือนที่ 10 มี.ค.67 เฉลี่ย 14.14 องศาเซลเซียส

‘โลกร้อน’ ทุบสถิติเป็นเดือนที่ 10 มี.ค.67 เฉลี่ย 14.14 องศาเซลเซียส

โคเปอร์นิคัส เผยโลกร้อนทำลายสถิติติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 แล้ว โดยมีอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ย 14.14 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าในช่วงปลายทศวรรษ 1800 อยู่ 1.68 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์ย้ำ เกินเกณฑ์ควบคุมอุณหภูมิในความตกลงปารีสแล้ว

โคเปอร์นิคัส หน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรป (อียู) เผยว่า "โลกร้อน" โลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 แล้ว โดยในเดือนมี.ค.นี้ อุณหภูมิรายเดือนของโลกสูงเป็นประวัติการณ์ทั้งอุณหภูมิพื้นผิวโลก และอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทร

ตามข้อมูลของโคเปอร์นิคัส ระบุว่า เดือนมี.ค. นี้ อุณหภูมิโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 14.14 องศาเซลเซียส ซึ่งมากกว่าสถิติเก่าที่บันทึกไว้ในปี 2559 ประมาณ 10% และอุณหภูมิสูงกว่าช่วงปลายทศวรรษ 1800 อยู่ 1.68 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นยุคที่ใช้เทียบเป็นฐานอุณหภูมิ เนื่องจากเป็นยุคก่อนเกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2566 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทำลายสถิติใหม่ทุกเดือน และคลื่นความร้อนบนพื้นผิวทะเลทั่วพื้นที่อันกว้างใหญ่ของมหาสมุทรทั่วโลกก็เพิ่มสูงขึ้น

นักวิทยาศาสตร์หลายคนบอกว่า อุณหภูมิสูงทำลายสถิติในช่วงนี้ไม่ได้เป็นน่าแปลกใจนัก เนื่องจากโลกเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่สร้างความอบอุ่นให้กับใจกลางเอเชียแปซิฟิก และเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศทั่วโลก

เจนนิเฟอร์ ฟรานซิส นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยสภาพอากาศวูดเวลล์ ระบุว่า คลื่นความร้อนบนพื้นผิวทะเลที่ไม่เป็นปกตินี้ทำให้อุณหภูมิโลกสูงจนทำลายสถิติ

อย่างไรก็ตาม ฟรานซิส เผยว่า เมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญแผ่วลง อุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในแต่ละเดือนอาจลดลงตาม

นักวิทยาศาสตร์ต่างมองว่า อุณหภูมิร้อนเป็นประวัติการณ์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเพราะฝีมือมนุษย์ จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนที่มาจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

“แนวโน้มอุณหภูมิโลกจะไม่เปลี่ยนแปลง จนกว่าความความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไม่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าเราต้องยุติการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล หยุดตัดไม้ทำลายป่า และผลิตอาหารอย่างยั่งยืนมากขึ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้” ฟรานซิสเตือน

นักวิทยาศาสตร์คนนี้คาดการณ์ด้วยว่า อุณหภูมิโลกจะทำลายสถิติมากขึ้นอีก

ซาแมนธา เบอร์เจส รองผู้อำนวยการโคเปอร์นิคัส เผยว่า อุณหภูมิที่ทำลายสถิติในเดือนมี.ค. ไม่ได้ผิดปกติหรือแตกต่างไปจากสถิติในบางเดือนของปีที่แล้วมากนัก

“เรามีเดือนที่โลกอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ และสูงมากกว่าปกติ” เบอร์เจส กล่าว ซึ่งเดือนที่ รองผอ.โคเปอร์นิคัสหมายถึงคือ เดือนก.พ.2567 และเดือนก.ย.2566

ตามข้อมูลของโคเปอร์นิคัส ระบุว่า ตอนนี้ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น 1.58 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิตามความตกลงปารีส

ขณะที่อุณหภูมิพื้นผิวทะเลในเดือนมี.ค.นี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 21.07 องศาเซลเซียส นับเป็นระดับอุณหภูมิรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมากกว่าสถิติในเดือนก.พ. เล็กน้อย ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 21.06 องศาเซลเซียส

“เราต้องการให้โลกดำเนินการด้วยความทะเยอทะยานมากกว่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถบรรลุเน็ต ซีโร่เท่าที่ทำได้” เบอร์เจส เตือน

ภายใต้ ความตกลงปารีส 2558 ระบุให้โลกควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของโคเปอร์นิคัสจัดทำเป็นรายเดือน และใช้ระบบวัดอุณหภูมิที่แตกต่างไปจากการวัดอุณหภูมิของความตกลงปารีสเล็กน้อย

ทั้งนี้ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบทั้งพืชผลการเกษตร และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นอย่างมาก 

ประเทศฟิลิปปินส์มีการสั่งปิดโรงเรียนกว่า 5,000 แห่ง เนื่องจากมีสภาพอากาศร้อนจัด โดยมีดัชนีค่าความร้อน (อุณหภูมิบวกความชื้น) สูงสุดถึง 44 องศาเซลเซียสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ในบางพื้นที่ เช่น จ.มินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ได้ประกาศปิดโรงเรียนชั่วคราว และให้เรียนออนไลน์ยาวไปจนถึงวันที่ 15 เม.ย.67 แล้ว และการปรับแผนไปเป็นการเรียนออนไลน์ครั้งนี้มีผลต่อนักเรียนมากถึงกว่า 3.6 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเนื่องจากนักเรียนบางคนยังไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนออนไลน์

ล่าสุด ประเทศเพื่อนบ้านไทยอย่างกัมพูชาประสบกับคลื่นความร้อน โดยกระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยากัมพูชา ได้ออกประกาศเตือนสภาพภูมิอากาศร้อนจัดระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.67 โดยประเทศอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 39 องศาเซลเซียส ด้านการไฟฟ้ากัมพูชาขอให้ประชาชนใช้ไฟอย่างประหยัดในช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้นทุกขณะ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์