'ภาวะเครียดจากความร้อน' ทำสิงคโปร์สูญเสียทางเศรษฐกิจ 1,640 ล้านดอลล์ ภายในปี 2578

'ภาวะเครียดจากความร้อน' ทำสิงคโปร์สูญเสียทางเศรษฐกิจ 1,640 ล้านดอลล์ ภายในปี 2578

ผลการศึกษาใหม่ พบว่า "ภาวะเครียดจากความร้อน" กระทบความสามารถในการผลิตของแรงงาน ทำให้สิงคโปร์สูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1,640 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2578

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) พบว่า “ภาวะเครียดจากความร้อน” (heat stress) อาจทำให้ สิงคโปร์ สูญเสียทางเศรษฐกิจ จากช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิดในปี 2561 เกือบ 2 เท่า สู่ระดับประมาณ 1,640 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2578

ย้อนกลับไปในปี 2561 ภาวะเครียดจากความร้อน กระทบความสามารถในการผลิตในภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้ง 4 ภาคของสิงคโปร์ ลดลง 11.3% ซึ่งได้แก่ ภาคบริการ การก่อสร้าง การผลิต และภาคการเกษตร และจะส่งผลกระทบย่ำแย่ลงไปอีก

รายงาน Project Heat Safe ของเอ็นยูเอส ระบุว่า ความสามารถในการผลิตจะลดลงไปอีกจนถึงระดับ 14% ในปี 2578 ซึ่งเมื่อคำนวณเงินเฟ้อแล้วพบว่าทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1,640 ล้านดอลลาร์ และการสูญเสียจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อแรงงานเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย อาทิ แรงงานที่ทำงานตากแดด หรือคนที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความร้อนประเภทอื่นๆ เช่น เครื่องจักร

รายงานระบุ “คาดว่าในทุกวันที่มี อากาศร้อน ความสามารถในการผลิตของแรงงานจะลดลงในช่วงเวลาทำงาน” ซึ่งหมายความว่า แรงงานจะสูญรายได้เฉลี่ย 21 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน (ราว 570 บาท/คน) 

นอกจากอากาศร้อนส่งผลกระทบต่อความสามารถทางสติปัญญา และร่างกายแล้ว ผลวิจัยจากเอ็นยูเอสยังพบว่า

อากาศร้อนรุนแรงส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญพันธุ์ของสิงคโปร์ด้วย ซึ่งตอนนี้อัตราดังกล่าวตกต่ำเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ Project Heat Safe เป็นการวิจัยขนาดใหญ่โครงการแรกของสิงคโปร์ และเป็นโครงการแรกในภูมิภาค ที่จัดทำเพื่อประเมินผลกระทบของระดับความร้อนที่เพิ่มขึ้น ต่อความสามารถในการผลิต ระดับสุขภาพส่วนบุคคล ไปจนถึงระดับเศรษฐกิจมหภาค

“นาตาเลีย บอร์ซิโน” จาก Singapore-ETH Centre ผู้ร่วมจัดทำรายงาน Project Heat Safe เผยว่า รายงานใช้ข้อมูลในปี 2561 เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษา เนื่องจากเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 และถือเป็น “ปีที่เป็นปกติ” ปีสุดท้ายที่ทีมวิจัยมีข้อมูล

ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอากาศร้อนเร็วกว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลกเป็น 2 เท่า และ ดัชนีรังสียูวี เพิ่งแตะระดับรุนแรงเป็นครั้งที่ 2 ภายในระยะเวลาเพียง 4 วัน ซึ่งเป็นระดับรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ที่สูงที่สุดของสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม การอัปเดตข้อมูลล่าสุดในวันพุธ (3 มี.ค.67) สะท้อนให้เห็นว่า รังสีอยู่ในระดับปานกลางแล้ว

ซีเอ็นบีซี ระบุว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่เผชิญกับความร้อนรุนแรง

เมื่อเดือนก.พ.67 นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนว่า อุณหภูมิโลกเกินเกณฑ์ภาวะโลกร้อนตลอดทั้งปี 2566 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเตือนเมื่อเดือนก.ค. ปีก่อนว่า โลกได้ข้ามผ่านภาวะโลกร้อนไปสู่ยุคแห่ง “โลกเดือด” แล้ว

 

 

 

อ้างอิง: CNBC

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์