ไขข้อข้องใจเบรก”นายก”แบนนำเข้าข้าวโพดแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 

ไขข้อข้องใจเบรก”นายก”แบนนำเข้าข้าวโพดแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 

“นภินทร” เปิดเหตุผล เบรก"นายกฯ " ห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนก้ปัญหาฝุ่น PM2.5  ชี้ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของดับบลิวทีโอด้านการค้าระหว่างประเทศ และข้อตกลง ATIGA ที่ต้องปฏิบัติเท่าเทียม ปม” ห้ามเผา ไทยก็ต้องห้ามเผา ” แจงเหตุต้องรอพ.ร.บ.สะอาด มีผลบังคับใช้ก่อน

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่จ.พะเยา เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เบรกข้อเสนอของ"นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ที่มีข้อสั่งการ ในการประชุมครม.ให้กระทรวงพาณิชย์  ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 เพื่อกำหนดให้ห้ามข้าวโพดจากต่างประเทศที่พิสูจน์ได้ว่ามีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเผาเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในประเทศโดยเด็ดขาด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 

แต่ถูก"นายนภินทร ศรีสรรพางค์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท้วงติงว่า การออกประกาศเช่นนี้จะขัดกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอ(WTO) เพราะถ้าประเทศไทยปฎิบัติกับประเทศคู่ค้าอย่างไร ก็ต้องปฎิบัติกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในประเทศเช่นเดียวกัน จึงไม่สามารถ ดำเนินการได้ในทันทีจนกว่าพระราชบัญญัติอากาศสะอาด

นายนภินทร กล่าวว่า ดับบลิวทีโอกำหนดหลักเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศสำหรับประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการค้าใดๆกับประเทศใดชาติหนึ่งก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับคนในชาติของตนเอง ซึ่งในกรณีของเรายังไม่มีการสั่งห้ามเผาซางข้าวโพดหรือสินค้าเกษตรที่ทำให้เกิดมลพิษ เพียงแต่เป็นการขอความร่วมมือจากเกษตรกรไทยเท่านั้น เช่น การเผาอ้อย เราก็สนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM2.5   ข้าวโพดก็ขอความร่วมมือไม่ให้เผา หรือกำหนดระยะเวลาเผา เป็นต้น

ดังนั้นการห้ามนำเข้าข้าวโพดในประเทศอื่นที่มีการเผาถือว่าเป็นการทำผิดหลักของดับบลิวทีโอและความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) ที่เป็นแบบแผนและแนวปฏิบัติทางการค้าร่วมกัน

ไขข้อข้องใจเบรก”นายก”แบนนำเข้าข้าวโพดแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 

 

“เมื่อนายกฯมีข้อสั่งการห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผาส่งผลให้เกิดมลพิษฝุ่น PM2.5 ลอยเข้ามาในประเทศก็ผิดหลักข้อตกลงการค้าโลก จนกว่าไทยจะมีกฏหมายห้ามเผาในพื้นที่เกษตรกรรม จึงจะห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านได้ที่มีการเผาแล้วทำให้เกิดควันพิษ”

นายนภินทร กล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่จะสามารถห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อบ้านได้ คือ การให้พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้  ซึ่งขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านวาระแรกของสภาผู้แทนราษฏรในกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมมาธิการฯในวาระ 2 จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณาวาระ 3 เห็นชอบคาดว่าปลายปีน่าจะมีผลบังคับใช้

สาระสำคัญของกฏหมายนี้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างมลพิษ โดยกำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ หากใครฝ่าผืนก็จะมีบทลงโทษ

ทั้งนี้เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้วก็จะเป็นการ"ห้าม"เกษตรหรือบุคคลใดเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น การเผาซางข้าวโพด ดังนั้นเมื่อเราจะห้ามนำเข้าสินค้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นๆที่มีกระบวนการเผาจนทำให้เกิดมลพิษนำเข้ามาในประเทศได้ ก็จะสามารถดำเนินการได้ เพราะเราได้ทำปฏิบัติอย่างเท่าเทียม  ซึ่งจะไม่ขัดกับหลักการของดับบลิวทีโอและ ATIGA  แต่หากเราห้ามไม่ให้นำสินค้าเข้าเท่ากับเป็นการกีดกันทางการค้าประเทศนั้นก็สามารถฟ้องร้องต่อดับบลิวทีโอได้

อย่างไรก็ตามแม้พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... บังคับใช้  เราก็ต้องดูบริบทอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย  เช่น กรณีห้ามเผาข้าวโพด เกษตรกรก็จะต้องใช้วิถีการไถ่กลบซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตของเกษตรสูงขึ้น  แม้ในหลักการต้องการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เพื่อรักษาสุขภาพของประชาชนแต่ก็ไม่ควรไปสร้างภาระเพิ่มให้เกษตรกร นอกจากนี้หากห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้นทุนอาหารสัตว์ในประเทศจะสูงขึ้นหรือไม่ เพราะเราผลิตข้าวโพดไม่เพียงพอต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งสินค้าเกษตรทั้งไก่ หมู ที่ต้องปรับราคาขึ้นจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราเสียเปรียบการแข่งขันทั้งการส่งออกและผู้บริโภคต้องเดือดร้อนจากราคาที่ปรับขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ ต้องพิจารณารอบด้าน ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ต้องให้เกิดความสมดุล ทั้ง 3 ฝ่าย แม้จะต้องการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 “นายนภิทร กล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์ของดับบลิวทีโอเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ  เป็น  "ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า "  (General  Agreement  on  Tariff  and  Trade : GATT)  ที่ถือได้ว่าเป็นแม่บทของกฏเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ  และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  1  มกราคม 2491

โดยหลักการสำคัญของ GATT  มีหลักการดำเนินงานเพื่อผดุงรักษาให้บรรดาประเทศภาคีสมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลง  เช่น การส่งเสริมสนับสนุนให้มีการปฎิบัติต่อชาติอื่นๆอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน  (Most-Favoured  Nation  Treatment  :  MFN) ประเทศต่างๆจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติในการเรียกเก็บภาษีศุลกากรหรือค่าธรรมเนียมหรือใช้มาตราการใดๆกับสินค้าขาเข้า  ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ การผดุงรักษาไว้ซึ่งความเท่าเทียมกัน  (National  Treatment)  ระหว่างสินค้านำเข้าจากประเทศภาคีสมาชิกกับสินค้าภายในประเทศของตน