วิกฤติ โลกร้อน โลกรวน’ ภัยคุกคาม ‘สุขภาพ’

วิกฤติ โลกร้อน โลกรวน’ ภัยคุกคาม ‘สุขภาพ’

วิกฤติ โลกร้อน โลกรวน ไม่ได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังคุกคามระบบสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนจัด คุณภาพอากาศ การเข้าถึงน้ำที่สะอาด กระทบแหล่งอาหาร ไฟป่า น้ำท่วม แห้งแล้ง และพายุ

หลายปีที่ผ่านมา มีการพูดถึง “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่ตามมา ไม่เพียงแค่ภัยธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อโรคภัยไข้เจ็บ

 

ตัวอย่างที่ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ประสบปัญหาจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แหล่งน้ำถูกน้ำเค็มรุกคืบ ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ แหล่งน้ำปนเปื้อนมลพิษ จนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

 

โดยเฉพาะผู้หญิง ที่มีปัญหาผมร่วง จากการใช้น้ำไม่สะอาดในการอาบน้ำ สระผม นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อผิวหนัง ซึ่งการใช้น้ำที่ไม่สะอาด ทำให้เกิดอาการผิวแห้ง ติดเชื้อ และสร้างบาดแผลตามร่างกาย

 

ข้อมูลจากรายงาน "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผลต่อสุขภาพ และการเตรียมการด้านสาธารณสุข" โดย กรมอนามัย อธิบายถึง 5 ประเด็นที่คุกคามด้านสาธารณสุข ดังนี้ 

 

1. อากาศร้อนจัด (Extreme Heat)

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงระดับอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้น โดยระดับอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้น ระยะเวลาที่อากาศร้อนจะยาวนานขึ้น และอุณหภูมิในช่วงกลางคืนจะอุ่นขึ้น ในพื้นที่ ที่ประชาชนยังไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศร้อนจำเป็นต้องมีการเตรียมชุมชน ปรับบ้านเรือน และอาคารให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ รวมทั้งในกลุ่มอาชีพบางอาชีพอาจต้องมีการปรับตัว

 

สภาพอากาศร้อนจัดจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคจากความร้อน และอาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้ง กลุ่มคนไร้บ้านคนที่มีปัญหาสุขภาพ (โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง) และผู้สูงอายุ เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

2.โรคติดต่อ (Communicable Disease)

สภาพภูมิอากาศ ได้แก่ อุณหภูมิเฉลี่ย การเปลี่ยนแปลงการตกของฝน เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลทำให้สภาพอากาศอบอุ่นขึ้น เชื้อมีความทนทาน มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มของการเกิด และการกระจายตัว และอุบัติการณ์ของโรคติดต่อจากแมลง และน้ำเป็นสื่อเพิ่มขึ้น (WHO, 2003) 

 

โรคติดต่อจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ตามแหล่งของการติดเชื้อ

1.โรคที่ติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน: การแพร่เชื้อจะเกิดจากยุง เห็บ หมัด และพาหะอื่นๆ ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มโอกาส และจำนวนของผู้ป่วยมากขึ้น หากอุณหภูมิอุ่นขึ้นหรือหากมีสภาพน้ำนิ่งที่เกิดจากน้ำท่วมที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งปัจจุบันไข้เลือดออกถือว่าเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย

2. โรคที่ติดต่อจากสิ่งแวดล้อมไปสู่คน: ซึ่งโรคที่สำคัญที่เกิดขึ้นมักจะมีน้ำเป็นพาหะ โดยมักจะมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย หากอุณหภูมิสูงขึ้น และรูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไป เชื้อชีวภาพต่างๆ มีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ได้

3. โรคที่ติดต่อจากคนไปสู่คน: จะเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชุมชนเมืองที่อยู่กันอย่างแออัด

 

3. น้ำ (Water)

  • น้ำท่วม จะส่งผลกระทบ ต่อการสูญเสีย ทั้งคน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งจะรวมถึงการบาดเจ็บ การเสียชีวิตจากการจมน้ำ เกิดการปนเปื้อนที่ส่งผลต่อการเกิดโรคระบาดจากน้ำเป็นสื่อ และโครงสร้าง ระบบต่างๆ เสียหาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบทำให้เกิดการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และปุ๋ย และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนได้
  • ความแห้งแล้ง และการขาดแคลนน้ำ น้ำลดลงหรือน้ำที่นิ่งนั้น จะเกิดการเพิ่มจำนวนของแมลงที่อาจจะนำโรคต่างๆ มาสู่คนได้ และที่สำคัญ หากเกิดความแห้งแล้งเป็นระยะเวลานานจะทำให้ปริมาณน้ำที่กักเก็บลดลง ส่งผลต่อพืชผลทางการเกษตร และมีแนวโน้มเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
  • อาหารและโภชนาการ (Food and Nutrition) สภาพอากาศที่รุนแรงและร้อนขึ้น จะเป็นสาเหตุให้ผลผลิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลต่อสุขภาพ และการเตรียมการด้านสาธารณสุข สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ด้านปศุสัตว์ลดลง โดยทำให้สัตว์เกิดความเครียดส่งผลให้ผลผลิตลดลง และ อัตราการเจริญเติบโตช้าลง การกระจายตัว และจำนวนของปลาในทะเลจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่ออุณหภูมิน้ำในทะเลสูงขึ้น (Vermeulenet al., 2010) ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลให้ราคาของอาหารสูงขึ้น ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มประชาชนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ

 

4.คุณภาพอากาศ (Air Quality)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มความชุกของโรคภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหัวใจ และหลอดเลือดที่เป็นผลมาจาก คุณภาพอากาศที่แย่ลง

 

5.สภาพอากาศแบบรุนแรง (Extreme Weather)

สภาพอากาศแบบรุนแรง ได้แก่ ไฟป่า น้ำท่วม แห้งแล้ง พายุ คลื่นความร้อน อาจจะมีความถี่ และความรุนแรงเพิ่มขึ้น ผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นกับงานสาธารณสุขคือ การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ และผลกระทบต่อสุขภาพจิต โดยที่ระดับของผลกระทบทางด้านจิตใจนั้น จะขึ้นกับความรุนแรง ระยะเวลา และความถี่ของการเกิดเหตุการณ์ กลุ่มประชาชนที่มีความเปราะบางต่อสภาพอากาศแบบรุนแรงคือ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ที่อยู่โดดเดี่ยว และกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ

 

3 โรคที่มากับ “ภาวะโลกร้อน”

ภาวะโลกร้อน เกิดจากการที่โลกมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ “ก๊าซเรือนกระจก” เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่ผิดปกติขึ้น รวมทั้งก๊าซชนิดอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติดักจับความร้อนออกไปยังบรรยากาศของโลก ก๊าซเหล่านี้จะรวมตัวกันจนกลายเป็นผ้าห่มหนาๆ ดักจับความร้อนของดวงอาทิตย์ และทำให้โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น

 

ข้อมูลจาก ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายในเว็บไซต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยระบุว่า ยิ่งก๊าซเหล่านี้ เพิ่มมากขึ้น ความร้อนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ หรือมีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากการใช้น้ำมัน การปล่อยสารพิษ สารเคมี การตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น

 

นอกจากสภาวะอากาศที่นับวันจะแย่ลงเรื่อยๆ แล้ว ทราบหรือไม่ว่าเมื่อเกิดสภาวะโลกร้อน สุขภาพร่างกายของเราก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งโรคยอดฮิตติดอันดับคือ อหิวาตกโรค โรคไข้เลือดออก และอาหารเป็นพิษ

 

1. อหิวาตกโรค

เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio cholerae) เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน เชื้อจะเข้าไปอยู่บริเวณลำไส้ และจะสร้างพิษออกมา ทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็กทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นน้ำ สีซาวข้าว ร่างกายเสียน้ำ และเกลือแร่อย่างรวดเร็ว รุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุ

  • เกิดจากการที่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารกระป๋องที่เสียแล้ว และมีการปนเปื้อนของเชื้อ

 

ระยะฟักตัว

1. ผู้ที่ได้รับเชื้อ จะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงถึง 5 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1-2 วัน

2. กรณีไม่รุนแรง อาการจะหายภายใน 1 วัน หรืออย่างช้า 5 วัน มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำวันละหลายครั้ง แต่จำนวนอุจจาระไม่เกินวันละ 1 ลิตร ในผู้ใหญ่อาจมีปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน

3. กรณีอาการรุนแรง อาการระยะแรก มีท้องเดิน มีเนื้ออุจจาระมาก ต่อมามีลักษณะเป็นน้ำซาวข้าว เพราะว่ามีมูกมาก กลิ่นเหม็นคาว ถ่ายอุจจาระได้โดยไม่มีอาการปวดท้อง บางครั้งไหลพุ่งออกมาโดยไม่รู้สึกตัว อาเจียนโดยไม่รู้สึกคลื่นไส้ อุจจาระ ออกมากถึง 1 ลิตรต่อชั่วโมง และจะหยุดเองใน 1 - 6 วัน

 

หากได้น้ำ และเกลือแร่ชดเชยอย่างเพียงพอ แต่ถ้าได้น้ำ และเกลือแร่ทดแทนไม่ทันกับที่เสียไป จะมีอาการขาดน้ำอย่างมาก ลุกนั่งไม่ไหว ปัสสาวะน้อย หรือไม่มีเลย อาจมีอาการเป็นลม หน้ามืด จนถึงช็อก ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย

  • งดอาหารรสจัด เผ็ดร้อน หรือของหมักดอง
  • ดื่มน้ำชาแก่แทนน้ำ บางรายต้องงดอาหาร ชั่วคราวเพื่อลดการระคายเคืองในลำไส้
  • ดื่มน้ำเกลือผงสลับกับน้ำต้มสุก ถ้าเป็นเด็กเล็ก ควรปรึกษาแพทย์ ในกรณีที่ท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบนำส่งแพทย์ด่วน

 

การป้องกัน

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหาร ควรล้างสะอาดทุกครั้งก่อนใช้
  • ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร และหลังเข้าส้วม
  • ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะ และสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรี่ยราด ต้องถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และกำจัด สิ่งปฏิกูลโดยการเผาหรือฝังดิน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค
  • ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค

 

 2. โรคไข้เลือดออก

เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลาย Aedes aegypti ตัวเมีย บินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกโดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูงจากเชื้อไวรัสแดงกี โรคนี้ระบาดในฤดูฝน ยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวัน ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อระบายน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้เลือดออก

อาการแรกเริ่ม จะรู้สึกว่ามีไข้สูงเฉียบพลัน ถึง 38 - 40 องศาเซลเซียส อยู่ 2 - 7 วัน บางรายจะมีจุดเลือดสีแดงๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา และมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และหลังหรือปวดหัวพร้อมๆ กันกับไข้สูง อาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นสีดำ บางราย อาจมีอาการช็อก ซึม ตัวเย็นจนถึงอาการหนักมากไม่รู้สึกตัว หมดสติและถึงกับเสียชีวิตได้

 

การดูแลรักษา

  • เมื่อเริ่มเป็นไข้เลือดออก มีอาการไข้สูง ต้องใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้
  • หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล
  • ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน เพราะแอสไพรินจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
  • ถ้ามีอาการเพลียให้ ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่บ่อยๆ
  • หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน


วิธีป้องกัน

  • ระวังอย่าให้ยุงกัดในตอนกลางวัน ซึ่งป้องกันได้ด้วยการนอนในมุ้ง 
  • ช่วยกันกำจัดลูกน้ำ และลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง
  • ในภาชนะเก็บน้ำที่ปิดฝาไม่ได้ ควรใส่ทรายกำจัดลูกน้ำทุก 1 - 2 เดือน สำหรับตุ่มน้ำที่ไม่ค่อยได้เปิดบ่อยๆ ควรปิดด้วยตาข่ายผ้าหรือไนลอน 2 ชั้น
  • เก็บทำลายภาชนะที่มีน้ำขังหรือไม่ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น ฝัง เผา หรือดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์

 

“โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ต้องจับตามองมากที่สุด เพราะนอกจากยังไม่มียาหรือวัคซีนในการรักษาแล้ว ปัจจุบันยังพบว่ายุงลายซึ่งเป็นพาหะสำคัญของโรค ที่เคยออกหากินเฉพาะแต่ในเวลากลางวันได้เปลี่ยนมาออกหากินในเวลาพลบค่ำจนถึง 5 ทุ่ม ทำให้ยากต่อการป้องกัน หรือ วินิจฉัยโรค”

 

3. โรคอาหารเป็นพิษ

มีสาเหตุสำคัญจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในอาหาร โดยเฉพาะในสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น นั่นหมายถึงจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเร็วตามไปด้วย และยิ่งถ้าหากเชื้อแบคทีเรียอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ก็จะสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และผลิตสารพิษ ได้อย่างรวดเร็วจนมีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดอาการป่วย เช่น ถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ บางรายอาจมีอาการลำไส้อักเสบ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวตามมาด้วย

 

อาหารที่มีความเสี่ยงสูง 

  • อาหารทะเลปรุงสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารทะเลซึ่งกินโดยไม่ผ่านการปรุงให้สุก (โดยเฉพาะที่บีบมะนาวใส่ โดยที่เข้าใจว่าอาหารเหล่านี้สุกเพราะสีของเนื้อ เหล่านี้จะเปลี่ยนไปเหมือนเนื้อที่สุกแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด) 
  • อาหารประเภทปรุงเสร็จแล้ว ไม่มีการผ่านความร้อนก่อนบริโภค เช่น อาหารยำ ส้มตำ สลัด น้ำราดหน้าชนิดต่างๆ 
  • อาหารเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ซาลาเปาไส้ต่างๆ ถ้าจะเก็บไว้รับประทานในมื้อต่อๆ ไป ควรเก็บในตู้เย็น เมื่อจะนำมารับประทานต้องอุ่นให้ร้อนจัดอีกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อ จุลินทรีย์ที่ยังเจริญเติบโต และแพร่พันธุ์

 

แต่ถ้ามีอาการท้องเสียมากๆ ร่างกายจะเกิดอาการขาดน้ำ และเกลือแร่ บางรายอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากมีการติดเชื้อ และเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตก็ทำให้เกิด โลหิตเป็นพิษได้ แต่ถ้าพิษนั้นเกิดจากสารเคมีหรือพืชพิษบางชนิด จะมีผลต่อระบบประสาท เช่น ชัก หมดสติ และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

เมื่อเป็นแล้วควรทำอย่างไร

รักษาแบบอาการท้องเดินทั่วๆ ไป เช่น  ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่  อาการท้องเดินมักหายได้เองภายใน 1- 2 วัน  ถ้าท้องเสียหรืออาเจียนมาก  ปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการทางระบบประสาท (เช่น ชัก หมดสติ) หรือสงสัยว่าจะเกิดจากยาฆ่าแมลงหรือสารพิษอื่นๆ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

 

ข้อสำคัญ

อย่ากินยาแก้ท้องเดินเอง เพราะอาการท้องเดินส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ขอให้เข้าใจว่าการขับถ่ายเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายที่จะต้องขับของเสียออกจากร่างกายอยู่แล้วครับ


5 วิธีง่ายๆ รับมืออาหารเป็นพิษ

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุง และกินอาหาร 
  • ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง 
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหาร หรือขนมค้างคืนที่ผสมกะทิ 
  • ล้างผัก และผลไม้ด้วยน้ำไหล (ควรแช่ด่างทับทิมทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง)  
  • ไม่ควรทิ้งเนื้อสดๆ ไว้นอกตู้เย็น เพราะอุณหภูมิที่ร้อน จะเร่งให้แบคทีเรีย เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

 

 

อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล , กรมอนามัย

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์