โลกร้อนหวั่นกระทบ "กลุ่มเปราะบาง และการเพิ่มขึ้นของประชากร"

โลกร้อนหวั่นกระทบ "กลุ่มเปราะบาง และการเพิ่มขึ้นของประชากร"

ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ระบุว่าได้เปิดตัวโครงการ “Climate Change Adaptation พม. พร้อมรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ“ ที่กระทบกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มแรก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และมวลมนุษยชาติอย่างรุนแรง เห็นได้จากปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น โลกร้อน น้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง มลพิษทางอากาศ ซึ่งมีความถี่ และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิต และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ประเทศไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆ ของโลก ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ

ตามรายงาน ธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะผลักให้คนอีก 130 ล้านคน กลายเป็นคนยากจนในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แต่เดิมรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย เนื่องจาก 75 %  ของคนยากจนในพื้นที่ชนบทต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต 

จากข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) มีจำนวนคนยากจนมากถึง 4.4 ล้านคน ซึ่งความยากจนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในสถานะเปราะบาง แม้ว่าการปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นประเด็นที่สำคัญในระดับต้นๆ ของยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่ในการดำเนินการในระดับปฏิบัติยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความรู้ความเข้าใจประสบการณ์ในการบ่งชี้ความเปราะบาง และการสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมในการวางแผนปรับตัวรับมือภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป  

 

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)  กล่าวว่า สถานการณ์เรื่องภัยธรรมชาติต่างๆ ใกล้ตัวมากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์คุณภาพอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้นในแต่ละปี อย่างเช่นปีนี้คาดการณ์ว่ายอด Heat Index จะสูงขึ้นประมาณ 45-47 องศา ยังไม่รวมถึงสถานการณ์น้ำแล้ง และน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น กระทรวง พม. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และคนพิการ รวมถึงพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปนั้น ในการรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าพี่น้องกลุ่มที่เปราะบางที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษนั้น มักจะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกเวลาเกิดสถานการณ์ภัยธรรมชาติต่างๆ ขึ้น รวมถึงแนวทางในการที่จะมาร่วมกันป้องกันไม่ให้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมันรุนแรงไปมากกว่านี้

รวมถึงการที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวง พม. นั้น ได้เข้าใจถึงการปรับเปลี่ยน การปรับตัวบริบทงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พักอาศัย การซ่อมแซมบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน และการดำรงชีพในวิถีชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนที่จะต้องปรับเปลี่ยน และจะต้องได้รับผลกระทบอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น เวลาพูดถึงการปรับตัว พูดถึงการปรับตัวของมนุษย์ และกลุ่มคนที่กระทรวง พม. ต้องดูแลคือ กลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มแรก ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 

ปัจจุบันคนรุ่น Gen Y , Gen Z รวมถึง Gen Alpha เมื่อมองไปในอนาคต ยังเห็นแต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้น น้ำจะท่วมประเทศไทยไหม Polar Ice จะละลายถึงขนาดไหน คุณภาพอากาศจะดีขึ้นหรือไม่ สถานการณ์เอลนีโญ ลานีญา จะทวีความรุนแรงขึ้นไหม ต่างๆ เหล่านี้ เป็นตัวที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีครอบครัว และไม่อยากที่จะมีลูกในอนาคต เพราะว่าเมื่อมีลูกมาแล้ว จะทำให้เขากำลังจะเผชิญกับภัยอันตรายหรือว่าสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ จึงเป็นเหตุทำให้ไม่อยากมีลูก

ซึ่งเชื่อมั่นว่าถ้าสามารถคืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ ปัญหาเรื่อง Climate Change จะสามารถลดความรุนแรงลงได้ เมื่อเห็นความหวังที่จะดีขึ้น อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่คิดอยากจะมีครอบครัว และอยากจะมีลูก เพราะว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการเจริญพันธุ์ แต่เรามีปัญหาในเรื่องที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีครอบครัว และไม่อยากมีลูก

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์