‘โลกร้อน’ ไม่หยุด อุณหภูมิเฉลี่ยรอบปีสูงขึ้น 1.5°C ภัยพิบัติมาต่อเนื่อง

‘โลกร้อน’ ไม่หยุด อุณหภูมิเฉลี่ยรอบปีสูงขึ้น 1.5°C ภัยพิบัติมาต่อเนื่อง

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์! “ภาวะโลกร้อน” ทำอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แตะลิมิตอุณหภูมิสูงขึ้นตามข้อตกลงปารีส ตามข้อมูลล่าสุดของอียู นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็น “คำเตือนสำคัญสำหรับมวลมนุษยชาติ”

องค์กรติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป หรือ C3S เผยข้อมูลสุดตะลึง เมื่อพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 จนถึงมกราคม 2024 อยู่ที่ 15.02 องศาเซลเซียส สูงสุดเท่าที่เคยมีมา โดยสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม (1850-1900) ถึง 1.52 องศาเซลเซียส

ระดับอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส ถือเป็นเกณฑ์สำคัญในข้อตกลงปารีสปี 2015 ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ หรือ COP ครั้งที่ 21 เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

“อุณหภูมิเพียง 1.5 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องเผชิญกับน้ำท่วมทั้งใหญ่ ความแห้งแล้ง คลื่นความร้อนและไฟป่าทั่วโลก” ศ.บ๊อบ วัตสัน อดีตประธานหน่วยงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ กล่าวกับสถานีวิทยุ BBC Radio 4

เป็นเวลา 9 เดือนแล้วที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเดือนมกราคม 2024 ถือเป็นเดือนที่ 8 ที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดติดต่อกันเป็นประวัติการณ์ โดยเซอร์ ไบรอัน ฮอสกินส์ ประธานสถาบันแกรนแธม สถาบันวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน กล่าวว่าข้อมูลนี้ถือเป็น “คำเตือน” ให้พวกเราต้องเร่งแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน

  • เดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

ริชาร์ด เบตส์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยผลกระทบสภาพภูมิอากาศที่ศูนย์แฮดลีย์ ของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักร กล่าวว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจนทำลายสถิติในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงว่า ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างมาก

อุณหภูมิอากาศบนพื้นผิวเฉลี่ยของเดือนมกราคม 2024 อยู่ที่ 13.14 องศาเซลเซียส สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมากกว่าเดือนมกราคม 2020 ที่เคยร้อนที่สุดอยู่ 0.12 องศาเซลเซียส และยังอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยเดือนมกราคมช่วงปี 1850-1900 ซึ่งเป็นยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.66 องศาเซลเซียส อีกด้วย

ในเดือนมกราคม 2024 แต่ละพื้นที่ในโลกเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันออกไป โดยแคนาดาตะวันออก แอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง รวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของทวีปยุโรปมีอุณหภูมิในเดือนมกราคมสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก

ขณะที่ในกลุ่มพื้นที่นอร์ดิก แคนาดาตะวันตก อเมริกากลาง และไซบีเรียตะวันออกส่วนใหญ่ กลับมาอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก และในบางพื้นที่ของสวีเดนและฟินแลนด์อุณหภูมิลดลงต่ำกว่า -40 องศาเซลเซียสในเดือนมกราคม 2024

นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป ฝั่งตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาใต้ แอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียตอนเหนือและตะวันออก มีความชื้นมากกว่าค่าเฉลี่ย แต่ทางตอนใต้ของสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ บางส่วนของสเปน สแกนดิเนเวียส่วนใหญ่ และคาบสมุทรบอลข่านตะวันออกกลับแห้งแล้งกว่าปรกต

ด้วยสภาพอากาศที่แห้งแล้งกว่าปกติในภูมิภาคจะงอยแอฟริกา คาบสมุทรอาหรับ เอเชียกลางตอนใต้ ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ ส่งผลให้เกิดไฟป่าในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ชิลีที่เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2024

อีกทั้ง อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลทั่วโลกก็แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 20.97 องศาเซลเซียสในเดือนมกราคม 2024 ถือเป็นอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 2 ที่เคยบันทึกไว้ในรอบเดือน โดยมีเพียงเดือนสิงหาคม 2566 เท่านั้นที่สูงกว่าด้วยอุณหภูมิ 20.98 องศาเซลเซียส

แต่เมื่อ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ได้ทำลายสถิติอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงสุดไปแล้วเรียบร้อย ด้วยอุณหภูมิแตะระดับ 21.12 องศาเซลเซียส

 

  • เอลนีโญทำอุณหภูมิพุ่งสูง

ปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกร้อนขึ้น และทำให้ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรุนแรงขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และทำให้อุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงกว่าปรกติที่ประมาณ 0.2 องศาเซลเซียสเท่านั้น

อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยทั่วโลกเริ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเกือบทุกวันในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่ม และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2024 อย่างไรก็ตามภาวะเอลนีโญคาดว่าจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจทำให้อุณหภูมิโลกคงที่ชั่วคราว จากนั้นจะลดลงเล็กน้อย โดยอาจกลับมาต่ำกว่าเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส

แต่ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโลกร้อนในระยะยาว และเรายังคงต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างที่เราพบเจอกันมาตลอดปี 2023 ทั้งคลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง ไฟป่า และน้ำท่วมต่อไป

แม้ว่าอุณหภูมิที่ทำลายสถิติในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจะสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ไม่ได้หมายความว่าข้อตกลงปารีสล้มเหลวแล้ว นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าโลกจะไปอยู่ในจุดที่ “กู่ไม่กลับ” เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปีขึ้นไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง 

ถ้าหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกครึ่งองศา กลายเป็น  2 องศาเซลเซียส จะสร้าง “หายนะ” ทางสิ่งแวดล้อมได้ทันที แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกตะวันตกจะพังทลายลงอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดภัยพิบัติระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นตลอดหลายศตวรรษหลังจากนั้น

ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ยังยืนว่าเรายังสามารถยังพอแก้ไขได้ทัน ซาแมนธา เบอร์เกรส รองผู้อำนวยการ C3S เรียกร้องให้แต่ละประเทศดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน เพราะวิธีเดียวที่จะหยุดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นได้

 

ที่มา: AljazeeraBBCFinancial Times