ไขความลับ ‘แพนด้าสีน้ำตาล’ มีสีขนแปลก เพราะ ‘ยีนกลายพันธุ์’

ไขความลับ ‘แพนด้าสีน้ำตาล’ มีสีขนแปลก เพราะ ‘ยีนกลายพันธุ์’

ไขความลับ “แพนด้าสีน้ำตาล” ทีมนักสัตววิทยาของจีนระบุต้นกำเนิดทางพันธุกรรม ทำให้ “หมีแพนด้า” กลายพันธุ์ มีขนสีน้ำตาล แตกต่างจากแพนด้าทั่วไป

KEY

POINTS

  • ทีมนักสัตววิทยาของจีนระบุ “แพนด้าสีน้ำตาล” (Brown Panda) หรือ “แพนด้าฉินหลิ่ง” มีขนสีน้ำตาลแตกต่างจากแพนด้าทั่วไป เนื่องจากมียีนกลายพันธุ์
  • เมลาโนโซมของแพนด้าสีน้ำตาลมีขนาดเล็กกว่าแพนด้าขาวดำโดยเฉลี่ย 55% และขนของพวกมันมีเมลาโนโซมน้อยกว่า 22% อีกทั้งแพนด้าสีน้ำตาลขาดคู่เบส DNA 25 คู่ จากยีน Bace2 ที่กลายพันธุ์
  • นักวิจัยคาดว่าแพนด้าน้ำตาลอาจจะแยกสายพันธุ์ออกจากแพนด้าในเสฉวนเมื่อประมาณ 300,000 ปีก่อน เพราะแพนด้าสีน้ำตาลมีกะโหลกที่เล็กกว่าแพนด้ายักษ์ทั่วไป

ไขความลับ “แพนด้าสีน้ำตาล” ทีมนักสัตววิทยาของจีนระบุต้นกำเนิดทางพันธุกรรม ทำให้ “หมีแพนด้า” กลายพันธุ์ มีขนสีน้ำตาล แตกต่างจากแพนด้าทั่วไป

ไขความลับ “แพนด้าสีน้ำตาล” (Brown Panda) หรือ “แพนด้าฉินหลิ่ง” ทีมนักสัตววิทยาของจีนระบุต้นกำเนิดทางพันธุกรรม ทำให้ “หมีแพนด้า” กลายพันธุ์ มีขนสีน้ำตาล แตกต่างจากแพนด้าทั่วไป

ในปี 1985 พบ “แพนด้าสีน้ำตาล” ตัวแรกของโลก มีสีขนแตกต่างจาก “หมีแพนด้า” ทั่วไปที่มีจนสีขาว และดำ ซึ่งสร้างความฮือฮาให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น โดยตั้งชื่อให้มันว่า “ดันดัน” นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำอธิบายว่าทำไมมันถึงมีขนแตกต่างจากตัวอื่นมาโดยตลอด

ทีมวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสัตววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้เผยแพร่การค้นพบที่จะไขคำตอบของปริศนาสีขนแพนด้าน้ำตาล ระบุว่าขนสีน้ำตาลนี้ เป็นการกลายพันธุ์ในยีนบีเอซีอี2 (Bace2) ซึ่งผลิตเอนไซม์ของโปรตีนตั้งต้น อาจเป็นต้นกำเนิดทางพันธุกรรมอันเป็นสาเหตุให้เกิดขนสีน้ำตาลและสีขาว

ภาพเปรียบเทียบขนหมีแพนด้าทั่วไปกับแพนด้าสีน้ำตาล

ภาพเปรียบเทียบขนหมีแพนด้าทั่วไปกับแพนด้าสีน้ำตาล

 

‘แพนด้าสีน้ำตาล’ เกิดจาก ‘ยีนกลายพันธุ์’

นักวิจัยได้วิเคราะห์รูปแบบขนและการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของดันดัน และ “ชีไจ่” แพนด้ายักษ์ขนสีน้ำตาลและสีขาว เพศผู้ เกิดเมื่อปี 2009 ซึ่งได้รับการเลี้ยงดูของมนุษย์ โดยนำมาเปรียบเทียบกับจีโนมกับแพนด้ายักษ์จำนวน 192 ตัว

พวกเขาพบว่าทั้งดันดันและชีไจ่ มีการกลายพันธุ์สองชุดในยีน Bace2 หนึ่งชุดจากพ่อแม่แต่ละตัว และนี่คือ “พื้นฐานทางพันธุกรรมที่เป็นไปได้มากที่สุด” สำหรับการแปรผันของสีน้ำตาลและสีขาวในแพนด้ายักษ์

หลังจากวิเคราะห์ขนของชีไจ่แล้ว นักวิทยาศาสตร์พบว่าเมลาโนโซมของแพนด้าสีน้ำตาลมีขนาดเล็กกว่าแพนด้าขาวดำโดยเฉลี่ย 55% และขนของพวกมันมีเมลาโนโซมน้อยกว่า 22%

แพนด้าสีน้ำตาล “ชีไจ่” แพนด้าสีน้ำตาลที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

การวิเคราะห์จีโนมของแพนด้าสีน้ำตาลทั้งสามครอบครัว ได้แก่ ชีไจ่และพ่อแม่, ชีไจ่และครอบครัว (เมีย/ลูก) และครอบครัวของดันดัน (คู่ครอง/ลูก) เผยเห็นว่าการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมีแนวโน้มจะส่งผลให้เม็ดสีลดลง โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าแพนด้าสีน้ำตาลขาดคู่เบส DNA 25 คู่ จากยีน Bace2 ที่กลายพันธุ์

พ่อแม่ของชีไจ่ รวมทั้งลูกของชีไจ่ มีสีขาวดำเป็นปรกติ มียีนกลายพันธุ์หนึ่งชุดและยีนที่ไม่กลายพันธุ์หนึ่งชุด จากรูปแบบการถ่ายทอดทางพันธุกรรมนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สรุปว่าแพนด้าจะมีสีน้ำตาล หากได้รับยีนกลายพันธุ์จากพ่อแม่ทั้งคู่

เพื่อยืนยันว่าการกลายพันธุ์อยู่เบื้องหลังการสูญเสียเม็ดสี ทีมงานได้ใช้เทคโนโลยี CRISPR-Cas9 ซึ่งเป็นการดัดแปลงพันธุกรรมด้วยยีนกลายพันธุ์ กับหนูสีดำ เพื่อให้ยีน Bace2 กลายพันธุ์ และผสมพันธุ์จนได้ลูกออกมามีขนสีน้ำตาลอ่อน 

หนูที่มีขนสีน้ำตาลมาตรวจเมลาโนโซม พบว่าหนูมีเมลาโนโซมน้อยลง เช่นเดียวกับขนของซีไจ่ 

หนูสีน้ำตาล (ซ้าย) หนูทั่วไปที่มีขนสีดำ (ขวา) หนูขนสีน้ำตาลที่มียีนด้อย

‘แพนด้าสีน้ำตาล’ พบได้ที่ เทือกเขาฉินหลิ่งเท่านั้น

แพนด้ายักษ์ส่วนใหญ่นั้นอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวน โดยจะมีเพียงสีขาวดำอย่างที่เห็นกันทั่วไป และเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่แพนด้าสีน้ำตาลทั้งหมดที่พบมาตั้งแต่ปี 1985 จนถึงปัจจุบัน ล้วนอาศัยอยู่บนเทือกเขาฉินหลิ่ง ในมณฑลส่านซีทั้งสิ้น

จากการทดสอบแพนด้าจากทั้งเสฉวนและส่านซี พบว่ามีแต่แพนด้าในเทือกเขาฉินหลิ่งเท่านั้นที่มียีนกลายพันธุ์ ยิ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิดที่ว่าแพนด้าสีน้ำตาลจะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เท่านั้น

หู อี้ป๋อ นักพันธุศาสตร์จากสถาบันสัตววิทยา หนึ่งในทีมวิจัย บอกกับ Nature ว่า แพนด้าในฉินหลิ่งอาจจะแยกออกจากแพนด้าในเสฉวนเมื่อประมาณ 300,000 ปีก่อน เพราะแพนด้าสีน้ำตาลมีกะโหลกที่เล็กกว่าแพนด้ายักษ์ทั่วไป

ผู้เขียนงานวิจัยนี้ระบุว่า การศึกษาในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ตอบคำถามได้ว่าทำไมแพนด้าบางตัว เช่น ดันดันและชีไจ่ถึงมีขนสีน้ำตาล แต่ยังจะเป็นแนวทางในการเพาะพันธุ์แพนด้าสีน้ำตาลที่หายากได้อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของ Bace2 มีความเชื่อมโยงกับโรคอัลไซเมอร์ในมนุษย์ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่การกลายพันธุ์จะมีผลกระทบอื่นอีก แต่สำหรับหมีแพนด้าสีน้ำตาล นักวิจัยยังไม่พบว่ามีผลกระทบอะไร พวกมันสามารถสืบพันธุ์ได้ปรกติ ซึ่งทีมวิจัยจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม

 

ที่มา: El PaisSouth China Morning PostXinhua

แพนด้าสีน้ำตาล